xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เตรียมจัดตั้ง 1 คลัสเตอร์ 1 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

   นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
“ส.อ.ท.” เตรียมประสานงานกระทรวงศึกษาธิการ คัดเลือกมหาวิทยาลัยจังหวัดละ 1 แห่ง ตั้งกลุ่มคลัสเตอร์ โดยให้ทางสภาอุตสาหกรรมคัดเลือก อุตสาหกรรมเด่นของแต่ละจังหวัด ด้านคลัสเตอร์ของ ส.อ.ท.12 คลัสเตอร์ คัดเลือกมหาวิทยาลัยคลัสเตอร์ละ 1 แห่ง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) โครงการ 1 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด 1 มหาวิทยาลัย และ 1 คลัสเตอร์ 1 มหาวิทยาลัย โดยจะให้สภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศกว่า 74 จังหวัด คัดเลือกจุดเด่นอุตสาหกรรมของจังหวัด และเลือกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หรือพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่ำ 1 แห่ง ศึกษาทำข้อมูลวิชาการ หรืองานวิจัยร่วมกัน เชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการเข้าถึงงานวิจัยด้านวิชาการค่อนข้างจะยากเพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับยอดขายเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ ในส่วนของคลัสเตอร์ซึ่ง ส.อ.ท.มีทั้งหมด 12 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย คลัสเตอร์อาหาร, ยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง, แฟชั่นและไลฟ์สไตล์, ยางและไม้ยางพารา, อุตสาหกรรมการเกษตร, พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, สุขภาพและความงาม,วิศวกรรมเครื่องจักรกลและงามโลหะ และการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือ ให้แต่ละคลัสเตอร์เลือกมหาวิทยาลัยอย่างต่ำ 1 แห่ง มาทำงานวิจัยร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (โปรดักทิวิตี)

“ส.อ.ท. และกระทรวงศึกษาฯ จะเซ็นเอ็มโอยูในหลักการใหญ่ก่อน แล้วจะให้แต่ละสภาอุตสาหกรรม หรือแต่ละคลัสเตอร์ไปดำเนินการย่อยแต่ละจังหวัด คลัสเตอร์อีกที ซึ่งไม่จำเป็นต้องเลือกมหาวิทยาลัยแค่ 1 แห่ง อาจมากกว่า 1 แห่ง ซึ่งอาจซ้ำกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของมหาวิทยาลัยด้วย แต่ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดก็อยากให้เลือกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ก่อน ซึ่งจะได้ประสานงานกันอย่างใกล้มากกว่า เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีโปรเจกต์งานวิจัยอยู่แล้ว หากประสานงานกับผู้ประกอบการโดยตรงก็จะทำโปรเจกต์ตรงจุดมาใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ”

ส่วนงบประมาณในการดำเนินโครงการ เบื้องต้นหลังจากแต่ละจังหวัด หรือแต่ละคลัสเตอร์ ร่วมเซ็นเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยแล้ว เลือกโครงการในการทำวิชาการร่วมกันแล้ว หากต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ จะให้ยื่นเรื่องของบประมาณมา จากนั้น ส.อ.ท.จะพิจารณาว่าควรขอประงบประมาณจากดหน่วยงานใด ที่มีงบประมาณในการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ แต่หากงบประมาณเกินอาจรวบรวมขอรัฐบาลก็ได้ ซึ่งจะพิจารณาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น