xs
xsm
sm
md
lg

“เวิลด์แบงก์” ชม กม.หลักประกันทางธุรกิจเอื้อเอสเอ็มอีสู่แหล่งเงินทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแจงเร่งสร้างความเข้าใจกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่คาดจะมีผลบังคับใช้ ก.ค. 59 เชิญกูรูนั่งที่ปรึกษาพร้อมจัดงานใหญ่ชี้แจงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต้นธันวาคมนี้ ระบุ “เวิลด์แบงก์” ย้ำชัดช่วยปลดล็อก SMEs ไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า หลังจากร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ..... ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 240 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (คาดว่ามีผลบังคับใช้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2559)

ทั้งนี้ กรมฯ เตรียมพร้อมเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เบื้องต้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามผลการเตรียมความพร้อมรองรับภารกิจตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างองค์กร ได้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีหน้าที่รับจดทะเบียน แก้ไขรายการ และยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวมทั้งเป็นคลังข้อมูลรวบรวมการจดทะเบียนหลักประกันฯ และผู้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้บังคับหลักประกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบดูได้

2) ด้านยกร่างกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ ออกกฎ/ประกาศ/คำสั่งกระทรวง และประกาศกรมฯ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามกฎหมาย

3) ด้านเทคโนโลยี ได้ศึกษารูปแบบการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะแบบ Real Time ที่สถาบันการเงินสามารถแจ้งข้อมูลเข้าระบบได้ทันที และได้นำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย

4) ด้านการสร้างผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งเปรียบเหมือนวิชาชีพใหม่ กรมฯ จำเป็นต้องสร้างความรู้ ความเชี่ยวชาญแก่ผู้บังคับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม

5) ด้านการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผู้ให้หลักประกัน (ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs) ผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) ตลอดจนบุคคลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน บทบัญญัติของกฎหมาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่ต่างๆ

โดยในวันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2558 กรมฯ เตรียมจัดงานสัมมนา “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ : ทางเลือกใหม่ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน” ซึ่งได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมงานฯ กว่า 1,000 คน ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นอกจากนี้ กรมฯ ได้ร่วมมือกับธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ (World Bank) ในการวางระบบด้านทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันทางธุรกิจจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Financial Corporation : IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารโลกนั่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษคือ นางฟรานซิส อีเลน แม็กเอียเชิน ตำแหน่ง Global Specialist, Secured Transactions and Collateral Registries ทั้งนี้ IFC จะให้คำปรึกษาแนะนำตามแนวปฏิบัติสากล 3 ด้านหลัก ได้แก่

1) การออกแบบกระบวนงานการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ 2) การพัฒนาระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (IT) และ 3) การจัดเก็บ รายงาน และการวิเคราะห์ข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจเพื่อประโยชน์เชิงนโยบายในอนาคต โดยผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันทางธุรกิจของ IFC ได้เริ่มดำเนินงานร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา

โดยได้มีการแบ่งกรอบการดำเนินงานออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนงานด้านเทคโนโลยี (IT) ด้านผู้บังคับหลักประกันด้านประชาสัมพันธ์ และด้านการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาจนกว่ากฎหมายฯ มีผลบังคับใช้ ตลอดจนช่วยทำการวิเคราะห์/ประเมินผลหลังการบังคับใช้กฎหมายเพื่อนำข้อสรุปที่ได้มาทำการปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ชื่นชม “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ” ของประเทศไทยว่า สามารถเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสร้างความโปร่งใสในภาคการเงินด้วยระบบทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ของกฎหมายฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและบริบทการประกอบธุรกิจของไทย

“กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ” นับเป็นมิติใหม่ของแวดวงธุรกิจและภาคการเงินของไทยที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น ได้แก่ 1) กิจการ 2) สิทธิเรียกร้อง 3) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ผลิตสินค้า 4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง และ 5) ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ของไทยกว่า 2 ล้านราย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ SMEs และเศรษฐกิจของประเทศ” นางสาวผ่องพรรณกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจในปีแรก (เมื่อมีผลบังคับใช้) ประมาณ 2.8 แสนราย หรือร้อยละ 10 ของจำนวน SMEs ไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ กฎหมายฯ ยังกำหนดให้มีระบบการบังคับหลักประกันที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม อันจะเป็นการลดภาระทางศาลและการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ตลอดจนลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบของผู้ประกอบธุรกิจSMEs ทำให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการจัดลำดับความยากง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ (Ease of Doing Business) ตามตัวชี้วัดของธนาคารโลกด้านการให้สินเชื่ออีกด้วย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น