xs
xsm
sm
md
lg

5 กฎเหล็กการเงิน สำหรับเถ้าแก่มือใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคนี้ทำให้มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็มีธุรกิจไม่น้อยเลย ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่องและสุดท้ายก็ต้องล้มเลิกความฝัน ยุติลงกลางคัน ซึ่งสาเหตุหลักๆ นอกจากจะเป็นเรื่องของสินค้าหรือบริการที่ไม่สร้างความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งที่มีอยู่มากมายในตลาด รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแล้ว สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เจ้าของธุรกิจมือใหม่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการหรือการวางแผนการเงินที่ดีพอ ทำให้มีปัญหาเงินสดไม่พอใช้ดำเนินธุรกิจหรือไม่สามารถบริหารต้นทุนได้ จึงทำให้ขาดทุนจนต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

K-Expert จึงมีคำแนะนำในการบริหารเงินสำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจ 5 กฎเหล็กมาฝาก จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกัน

1.มีเป้าหมายการเงินที่เน้นสภาพคล่อง

เนื่องจากธุรกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นซึ่งเป็นช่วงที่ต้องบริหารค่าใช้จ่ายและรายได้เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ค่าสินค้าหรือวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าแรงงาน รวมถึงการเก็บเงินจากลูกค้าให้มีประสิทธิภาพ เพราะเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจในช่วงนี้อาจจะยังมีไม่เยอะ ดังนั้น ควรเริ่มต้นด้วยการบริหารสภาพคล่องเป็นหลัก โดยในช่วงเริ่มต้นอย่างน้อยๆ เจ้าของธุรกิจก็ควรมีเงินหมุนเวียนในกิจการให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายคงที่ อย่างพวกค่าเช่าหรือค่าแรงพนักงาน เป็นต้น

2. จัดทำงบกำไรขาดทุนและกระแสเงินสด

เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจของเรามีกำไรและคุ้มค่ากับการลงทุนจริง การทำงบกำไรขาดทุนจะช่วยให้เราเข้าใจสถานะของธุรกิจที่แท้จริง เจ้าของธุรกิจหลายคนอาจหลงดีใจ คิดว่าตัวเองมีกำไรจากการทำธุรกิจ แต่ที่ไหนได้ ลืมเอาค่าใช้จ่ายบางอย่างมารวม เช่น ค่าขนส่ง ค่าเดินทาง รวมถึงค่าแรงของตัวเอง ดังนั้น อย่าลืมนำค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้มารวมเป็นต้นทุนด้วย นอกจากนี้ ควรมีการทำงบกระแสเงินสดเพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจของเรามีเงินสดเพียงพอ จะได้ไม่สะดุดจากการขาดเงินหมุนเวียนนั่นเอง

3. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง

เพราะธุรกิจเริ่มใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือ ทำยังไงให้ธุรกิจอยู่รอดได้และมีกำไรเพียงพอ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจควรจะนำเงินไปใช้กับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ซื้อสินค้า จ่ายค่าจ้างพนักงานขาย หรือจ่ายเป็นค่าโปรโมชันกระตุ้นยอดขาย ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ยังไม่จำเป็นก็ให้งดเว้นไปก่อน เช่น ค่าตกแต่งออฟฟิศให้สวยงาม ค่าอาหารว่าง หรือค่าอบรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง

4. เตรียมแผนสำรองในการหาแหล่งเงินทุน

เพื่อความอุ่นใจ แนะนำให้เตรียมแผนสำรองในการหาแหล่งเงินทุนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) กับธนาคาร การหารายชื่อคนที่เราสามารถจะกู้ยืมเงินได้ หรือรวบรวมรายการทรัพย์สินที่คาดว่าจะขายได้ ราคา รวมถึงแหล่งที่จะขายทรัพย์สินเหล่านั้นเอาไว้ล่วงหน้า เพราะในกรณีจำเป็นเราอาจต้องนำทรัพย์สินที่มีไปขายเพื่อเอาเงินมาใช้ในธุรกิจก็เป็นได้

5. ตรวจสอบสถานะการเงินของธุรกิจอยู่เสมอ

เจ้าของธุรกิจควรตรวจสอบสถานะการเงินของธุรกิจอยู่เสมอ เพื่อให้สถานะการเงินของธุรกิจเป็นไปตามแผนที่เราตั้งไว้ และหากมีอะไรผิดแปลกไปจากแผนจะได้หาวิธีแก้ปัญหาได้ทันท่วงที โดยอาจจะกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบเอาไว้เป็นรายเดือนหรือรายไตรมาสเป็นอย่างน้อย

เชื่อว่า 5 กฎเหล็กในการบริหารเงินที่บอกไปจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจมือใหม่สามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม แผนการเงินสำหรับธุรกิจในแต่ละช่วงอาจมีความแตกต่างกัน เพราะในแต่ละช่วงธุรกิจก็จะมีเป้าหมายและสถานะการเงินที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนการเงินของเราตามสถานะของธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจของเรามีกำไรและอยู่รอดได้ในระยะยาวนั่นเอง

บทความโดย : ศาสตรา มังกรอัศวกุล และ สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย  โดยโครงการ K-Expert
ศาสตรา มังกรอัศวกุล  ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น