xs
xsm
sm
md
lg

“ธงแสงโลหะภัณฑ์” ไขรหัสเสริมแกร่งธุรกิจ ปั้นองค์กรยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกิตติธรรม ตันติวรศรี กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธงแสงโลหะภัณฑ์
ส่องเบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจ “ผลิตและจำหน่ายสัญญาณไฟรถยนต์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ” เน้นเพิ่มศักยภาพ พัฒนาบุคลากร เสริมเขี้ยวเล็บธุรกิจยั่งยืน

นายกิตติธรรม ตันติวรศรี กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธงแสงโลหะภัณฑ์ เปิดเผยว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธงแสงโลหะภัณฑ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2519 ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เพื่อประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสัญญาณไฟรถยนต์ในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานที่ผ่านมา พนักงานไม่เข้าใจบทบาท หน้าที่ของตนเอง เมื่อเกิดปัญหาไม่มีใครยอมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น การทำงานจึงไม่มีความคล่องตัว เนื่องจากไม่รู้ว่าต้องประสานงานกับใคร นี่จึงเป็นที่มาของการเข้าร่วมกิจกรรมการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการ การตลาดและการบริการ (Consultancy Fund : CF) โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยขอรับบริการเรื่องการบริหารจัดการด้านบุคคลเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจกัน การประสานงานภายในโรงงาน และหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละแผนก

เขาขยายความต่อไปอีกว่า ภายหลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม CF แล้วสามารถช่วยลดความสูญเสียต่างๆ ในกระบวนการทำงานได้เป็นอย่างดี และพนักงานมีความเข้าใจในหน้าที่ และบทบาทของตัวเอง ซึ่งได้ช่วยเพิ่มความสุขในการทำงานมากขึ้น ซึ่งแนวทางการปรับปรุงพัฒนา เริ่มต้นจากค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามาจากอะไร และทำความเข้าใจในปัญหา จากนั้นหาแนวทางในการแก้ไข โดยจัดทำแผนผังความรับผิดชอบให้เห็นอย่างชัดเจน แบ่งแผนก/ฝ่าย หัวหน้า ทีมงาน และทำการประชุมทำความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละแผนก จากนั้นทำการกำหนดข้อตกลงถึงการให้คุณ-ให้โทษ เมื่อมีการกระทำความดีและความผิด โดยกำหนดเป็นมาตรฐานร่วมกัน พร้อมจัดทำแบบประเมินความสามารถของพนักงานเพื่อความเป็นธรรมในการประเมินความสามารถของพนักงานแต่ละคน และสามารถนำมาเป็นเครื่องมือวัดศักยภาพพนักงาน เพื่อจะได้พัฒนาความสามารถของพนักงานแต่ละคนได้ด้วย

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้รับภายหลังจากเข้าร่วมกิจกรรม CF นั้น กิจกรรม CF ช่วยให้การทำงานมีระบบมากขึ้น เห็นได้จากเมื่อมีปัญหาในระหว่างกระบวนการทำงาน พนักงานจะรู้หน้าที่ว่าจะต้องไปติดต่อกับใคร หรือต้องถามใคร และเรายังสามารถตรวจเช็กย้อนหลังเมื่อพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับสินค้าที่พร้อมจำหน่าย และทราบได้ว่าเกิดปัญหามาจากแผนกใด อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาในการปรับปรุง และกำหนดทิศทางในการทำงาน

“ปัญหามีได้ทุกที่ การที่เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองนั้นไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีความสามารถ แต่หากบางปัญหาก็เหมือนเส้นผมที่เรามองไม่เห็น จำเป็นต้องให้คนนอกเข้ามาช่วยชี้แนะให้การเข้าร่วมกิจกรรม CF จะช่วยให้เราได้ที่ปรึกษาเข้ามาแนะนำเราในสิ่งที่เราคาดไม่ถึง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างแล้วสุดท้ายเราเองก็ต้องนำมาปรับปรุงใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรของเรา” นายกิตติธรรมกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น