xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อส่งออกอัญมณีไทยโตต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับประจำปีนี้ คาดโตได้ร้อยละ 4 มูลค่า7,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ชี้จับตาการแข่งขันดุเดือดในตลาดสำคัญ ข้อจำกัดการค้า และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป แนะผู้ประกอบการปรับตัวลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยบทความเรื่อง “ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี’58: คาดเติบโตร้อยละ 4.0 ... จับตาความเคลื่อนไหวด้านกลยุทธ์ ที่สร้างจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจ” โดยระบุว่า สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2558 ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตในแดนบวกติดต่อกันเป็นปีที่ 6

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ในปี 2558 น่าจะอยู่ที่ระดับ 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 4.0 (YoY) โดยความท้าทายของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปีนี้ต้องจับตา 1) มิติของการแข่งขันระหว่างไทยกับคู่แข่งในตลาดคู่ค้าสำคัญ เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อผู้บริโภค 2) ข้อจำกัดทางการค้าของคู่ค้าที่เอื้อต่อการทำตลาดของคู่แข่ง 3) ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างและซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อธุรกิจ เช่น ค่าเงินบาท สกุลเงินของคู่แข่ง โดยเฉพาะหลังจากทางการจีนปรับลดค่าเงินหยวน ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทย รวมทั้งทิศทางราคาทองคำและเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่ในปีนี้ไปจนถึงระยะข้างหน้า

การทำธุรกิจส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเริ่มก้าวสู่จุดเปลี่ยน โดยความเคลื่อนไหวในธุรกิจที่เริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ 1) การพัฒนารูปแบบการผลิตให้ก้าวไปสู่ระดับ ODM และ OBM มากขึ้น 2) การขยายฐานการผลิต ตลาด และสาขาจำหน่ายในต่างประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการปรับตัวในรูปแบบดังกล่าว ผู้ประกอบการสามารถหันมาพัฒนาแนวทางการประกอบธุรกิจในเชิงรุกได้ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs โดยแนวทางที่อาจจะสามารถนำมาปรับใช้ ได้แก่ การพัฒนาสายการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น อาทิ การลงทุนในการติดตั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงการขยายช่องทางการตลาดใหม่ๆ เช่น E-Commerce ที่สอดรับไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งนับเป็นช่องทางการค้าที่มีศักยภาพที่ดี เพราะสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์และขายสินค้าโดยตรงแก่ผู้บริโภคได้

ดังนั้น ด้วยสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญต่อการวางแผนการทำตลาดในระยะต่อไป โดยนอกเหนือจากการปรับกลยุทธ์การตลาดให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยควรมีการวางแนวทางการทำธุรกิจที่ชัดเจน (ทั้งกลุ่มเป้าหมายและเทรนด์การบริโภค) เพื่อนำมาวางแผนต่อยอดพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละตลาด ซึ่งก็น่าจะทำให้การดำเนินธุรกิจสามารถเดินไปข้างหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น