xs
xsm
sm
md
lg

กูรูชี้อุตสาหกรรมอาหารไทยเน้นเมนูสุขภาพบุกตลาดส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กูรูอุตสาหกรรมอาหารชี้ประเทศไทยควรเสริมกลยุทธ์-ปรับโฉมอาหารไทยก่อนโกอินเตอร์ ชี้เทรนด์อาหารสำเร็จรูปมาแรง รวมถึงเมนูเพื่อสุขภาพ แนะสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD จัดงานสัมมนา หัวข้อ “เข้าใจตลาดพัฒนาจากตัวตน (Know Global Build Local)” เพื่อถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ในรูปแบบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการตลาดเพื่อการส่งออก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกอาหารไทยในตลาดโลก และแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ว่า ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยไปยังคู่ค้าในต่างประเทศ ขณะนี้สหภาพยุโรปยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ร้อยละ 41 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 11 ส่วนตลาดที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มความต้องการอาหารไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือตลาดอาเซียน +3

โดยกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คืออาหารพร้อมรับประทาน ฉีกซองเอาเข้าไมโครเวฟแล้วกินได้เลย ไม่ต้องยุ่งยากเสียเวลาในการปรุง นอกจากนี้ เทรนด์บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพก็ยังคงมาแรง โดยเฉพาะอาหารปลอดสารพิษที่ผลิตด้วยกระบวนการไร้สารเคมี และหากเป็นผักผลไม้ออร์แกนิกก็จะยิ่งขายได้ราคาดีกว่าปกติหลายเท่าตัว

นายวิศิษฐ์กล่าวต่อว่า การวางกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับวิถีชีวิต และความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายนั้นยังถือเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการขนาดย่อม โดยเฉพาะกลุ่ม OTOP และ SMEs ดังนั้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การวางกลยุทธ์ก่อนผลิตสินค้าออกมาวางจำหน่าย โดยวิเคราะห์ปัจจัยภายในคือการประเมินศักยภาพทางธุรกิจ การวางแผนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับการแข่งขัน และปัจจัยภายนอกคือศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ศึกษาตลาด และช่องทางการขาย รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้า ซึ่งทั้งสองปัจจัยข้างต้นถือเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ

นอกจากนั้น สินค้าจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อย., GMP, HACCP, BRC และมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปลอดสารพิษ
Mr.Jordan Smith, Director of Supply Chain, Pure Sales Inc.
ด้าน Mr.Jordan Smith, Director of Supply Chain, Pure Sales Inc. ตัวแทนผู้ซื้อของ United Natural Foods Inc. ผู้นำเข้าและกระจายสินค้าประเภท Natural & Organic ชั้นนำของโลก กล่าวว่า ขณะนี้คนทั่วโลกหันมานิยมบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น หลายคนจึงมองหาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ปลอดสารพิษ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งจริงจังถึงขั้นมีกฎหมายเฉพาะในการกำกับมาตรฐานอาหารออร์แกนิก รองรับความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ต้องการย้อนกลับไปสู่การผลิตแบบดั้งเดิม โดยเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยว ต้องปลอดสารเคมี 100% ถ้าเป็นผักผลไม้ที่ดูสวยงามเป็นพิเศษมักจะถูกตั้งคำถามว่ามีการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี หรือมีการดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่ ขณะที่ขั้นตอนการแปรรูปและบรรจุต้องไม่ผ่านการปรับแต่งโดยเฉพาะรสชาติและสีสัน

ดังนั้น เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้แก่สินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารไทย ผู้ประกอบการชาวไทยจึงควรผลิตสินค้าเหล่านี้เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวซึ่งนับวันจะยิ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดยนำเอาไอเดียในข้างต้นไปประยุกต์และพัฒนาต่อยอดอาหารไทยที่ผู้บริโภคในยุโรปและสหรัฐอเมริกานิยม เช่น ซอสปรุงรสสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเครื่องปรุงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่คนต่างชาติ เพราะช่วยให้สามารถทำอาหารไทยได้ง่ายมาก ไม่ต้องเป็นเชฟมืออาชีพก็ทำอาหารไทยได้อร่อยแบบต้นตำรับ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กลุ่มเส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวสายพันธุ์ไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมแดง และผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน มังคุด ต่างก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มความต้องการบริโภคสูงขึ้นเช่นกัน

Mr.Jordan เผยต่อว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้สินค้าไทยขายในตลาดโลกได้มากขึ้น คือการพัฒนามาตรฐานและระบบการผลิตให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ควบคู่ไปกับการสร้างจุดสนใจและความแตกต่างในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นสูตรหรือส่วนผสมใหม่ๆ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามสะดวกต่อการใช้งาน การเขียนบรรยายที่มาและสรรพคุณของวัตถุดิบและส่วนผสมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพืชผักสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวต่างชาติไม่รู้จัก รวมไปถึงอายุของสินค้าจะต้องอยู่ได้นานพอสมควร โดยอายุที่เหมาะสมสำหรับการส่งขายในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้น อย่างน้อยจะต้องอยู่ได้ถึง 6 เดือน เพราะการขนส่งทางเรือใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ที่เหลืออีก 4 เดือนต้องเผื่อไว้สำหรับวางขาย

เขาระบุด้วยว่า ในอนาคตกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับจะมีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว แต่หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนากระบวนการผลิตจนผ่านเกณฑ์รับรองมาตรฐานปลอดสารพิษ รับรองได้ว่ายอดขายจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น