xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโผ 3 กลุ่มสินค้าโอทอปสุดฮิตในท้องตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


OKMD เผยผลวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ในตลาด พบ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ดาวรุ่ง มีความต้องการในท้องตลาดสูงสุด ได้แก่ 1. อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม 2.ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก และ 3.กลุ่มผ้า เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ แจงปัจจุบันยอดขาย OTOPรวมปีละประมาณ 80,000 ล้านบาท

นายอารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(สบร.) หรือ OKMD เปิดเผยว่า จากการที่ สบร. ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในและต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์ในการชี้ช่องทางพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อลดปัญหาอัตราการส่งออกของประเทศที่กำลังติดลบอย่างต่อเนื่องให้ดีขึ้น โดยเน้นศึกษาข้อมูลทั้งเชิงวิชาการจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และเชิงพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมทั้งข้อมูลการตลาดต่างประเทศ กว่า 180 ประเทศ พบ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายสูงสุด ใน 4 ประเทศ ดังนี้

- กลุ่มอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม พบว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นสินค้าที่มียอดขายในประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกามากที่สุด โดยมียอดขายสูงถึง 169,791 ล้านเหรียญยูโร ในเยอรมนี และ 748,712 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ข้อมูลพยากรณ์การเติบโตของยอดขายในช่วงปี 2556-2561 จาก Euromonitor พบว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 0.77 ในเยอรมนี และ ร้อยละ 2.18 ในสหรัฐอเมริกา โดยประเภทผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการมาที่สุดในสองประเทศนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทขนมคบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวอินทรีย์แปรรูป ผักอบกรอบแต่งกลิ่นเฉพาะ และผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสแบบไทย เช่น ซอสพริก ซอยปรุงรส และน้ำจิ้มไก่ และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุขภาพ เช่น น้ำผลไม้เข้มข้น ชาสมุนไพร ชาผลไม้ เครื่องดื่มชงสำเร็จรูป

สำหรับแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคนั้น ผู้ประกอบการต้องประยุกต์เอาความคิดสร้างสรรค์เข้ามาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การคิดค้นกลิ่นและรสชาติใหม่ๆ การสร้างจุดขายโดยการใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ใช้ผักออร์แกนิคเป็นส่วนประกอบ และการปรับปรุงรสชาติอาหารโดยลดความหวาน มัน เค็ม และไขมันลง ตามเทรนด์ความต้องการของตลาดโลก ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ในแง่ของบรรจุภัณฑ์นอกจากต้องปรับปรุงให้มีความทันสมัยสวยงามสะดุดตาแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องปรับลดขนาดและปริมาณให้สอดรับกับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่มีขนาดครอบครัวเล็กลง พร้อมทั้งมีเรื่องเล่าบอกที่มาของผลิตภัณฑ์และข้อมูลคุณค่าโภชนาการ ที่สำคัญต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP, HACCP, FDA, IFOAM เป็นต้น

- กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก พบว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นสินค้าที่มียอดขายในประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด โดยมียอดขายสูงถึง 9,066 ล้านเยน ขณะที่ข้อมูลพยากรณ์การเติบโตของยอดขายในช่วงปี 2556-2561 จาก Euromonitor พบว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 0.68 โดยเหตุผลหลักที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบผลิตภัณฑ์ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ที่ผลิตจากประเทศไทย เนื่องจากมีคุณภาพดีและดีไซน์สวยงาม ดังนั้นในแง่ของการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภคมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ให้มีทั้งความสวยงาม ความคงทน และฟังชั่นการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย โดยเน้นเอาวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการลดใช้พลังงานมากขึ้น

- กลุ่มผ้า เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ พบว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มมียอดขายในประเทศสิงคโปร์มากที่สุด โดยมียอดขายสูงถึง 8,577 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ขณะที่ข้อมูลพยากรณ์การเติบโตของยอดขายในช่วงปี 2556-2561 จาก Euromonitor พบว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 2.28 ทั้งนี้สำหรับกระบวนการสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ผู้ประกอบการต้องเริ่มจากการพัฒนาการออกแบบให้มีความโดดเด่นและทันสมัย โดยประยุกต์เอาวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตเข้าไปสร้างจุดเด่น แต่ยังคงความประณีตเรียบร้อย เน้นผลิตสินค้าเป็นล็อตเล็กๆ แต่มีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ นอกจากนี้ในแง่ของวัสดุก็ต้องมีความคงทนแข็งแรงใช้งานได้นาน ที่สำคัญต้องมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองเพราะเป็นที่ชื่นชอบของคนสิงคโปร์

ปัจจุบันสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศไทย โดยในแต่ละปีมียอดจำหน่ายรวมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ สูงถึงปีละประมาณ 80,000 ล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ได้เห็นถึงช่องทางในการพัฒนายกระดับสินค้า ให้มีคุณภาพและความโดดเด่นสวยงาม ลบภาพลักษณ์ที่มักถูกมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภครายใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานซึ่งมีกำลังซื้อสูง เข้ามากระตุ้นยอดจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศให้เติบโตมากขึ้น

ดังนั้นยุทธศาสตร์การพัฒนาต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพและความแปลกใหม่สวยงามจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการผลักดันธุรกิจ OTOP ไทย ให้สามารถเข้าไปตีตลาดทั้งในและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้จากสถานการณ์การส่งออกของประเทศที่ประสบปัญหาติดลบถึง 6% ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) หากผู้ประกอบการ OTOP สามารถพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการของตลาดเป้าหมาย จะสามารถช่วยให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นได้ นายอารยะ กล่าวสรุป

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา อุปนายกกลุ่มผักและผลไม้สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ดังนั้นการนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์จึงถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมาก ในการกู้วิกฤติสถานการณ์ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มผักและผลไม้นั้น ผู้ประกอบการต้องอาศัยช่องทางส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความชื่อชอบสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยอย่างมาก เพื่อสร้างแบรนด์และชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายตลาดออกไปในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงมาก เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายในภาพรวม

ขณะที่ นายศิริชัย เลิศศิริมิตร นายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน กล่าวว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลกจนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย ในแง่หนึ่งต้องยอมรับว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์กลุ่มส่งออกย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามเพื่อกู้วิกฤติสถานการณ์ให้ดีขึ้น คิดว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับกลยุทธ์ โดยพยายามผลักดันยอดการส่งออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควบคู่ไปกับการนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ขณะเดียวกันตัวผู้ประกอบการเองก็ต้องพยายามลดต้นทุนลงในการผลิตลง พร้อมกับนำการออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์ที่สวยงามและโดดเด่นเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

ส่วน นายพรเทพ แซ่ลี้ เจ้าของผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าขาวม้าแบรนด์บุษบา กล่าวว่า การนำความคิดสร้างสรรค์เข้ามาพัฒนาสินค้าให้โดดเด่นสวยงามเพื่อดึงดูดผู้บริโภครายใหม่ๆ ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญมากในการเพิ่มยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในส่วนผลิตภัณฑ์ของตนนั้น ในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายให้ได้ 100% โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการเปิดแบรนด์สินค้าสำหรับผู้ชายเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขายภายในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อเพิ่มยอดส่งออก ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงออกไปในหลายๆ ประเภทผลิตภัณฑ์ ซึ่งน่าจะช่วยให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาน้อยลง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


นายอารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(สบร.) หรือ OKMD


กำลังโหลดความคิดเห็น