xs
xsm
sm
md
lg

“Café Aboong” ไอศกรีมปลาอ้าปาก ฮิตจากเกาหลีถึงไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โอกาสทางธุรกิจของกินมีอยู่รอบตัว ยิ่งเป็นธุรกิจประเภทขนมที่ถูกจริตคนไทยซึ่งชอบลองของใหม่ แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในการกินด้วยแล้ว

หากมีโปรดักต์ดีๆ ในมือ บวกกับการวิเคราะห์ตลาดและกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน รับรองว่าสามารถแจ้งเกิด ดังแบบข้ามคืนได้เลยทีเดียว

เหมือนกับที่ Café Aboong แฟรนไชส์ขนมปลากับไอศกรีมจากเกาหลีทำสำเร็จมาแล้ว วันแรกที่เปิดขายหน้าห้างดิจิตอล เกตเวย์ สยาม ก็เกิดปรากฏการณ์เข้าแถวซื้อขนมขึ้นอีกครั้ง และต่อเนื่องไปเป็นเดือน กว่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
“ก้องกฤช ก้องทิตยากุล” (ขวา) และ“ฐิติรัตน์ ก๊กผล”
ผู้นำเข้าแฟรนไชส์ Café Aboong คือคู่รักที่ทำธุรกิจร่วมกัน ระหว่าง “ก้องกฤช ก้องทิตยากุล” (ขวา) กับ “ฐิติรัตน์ ก๊กผล”

ก้องกฤชประกอบอาชีพเป็นนักแข่งรถ ในขณะที่ฐิติรัตน์นั้นมีธุรกิจทางบ้านเป็นร้านอาหารทะเล มีอยู่ 3 สาขาทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงร้านขนมไทยประเภทเต้าฮวยมะพร้าวอ่อน ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี

ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าขนมเป็นธุรกิจที่ขายได้ง่ายเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่น ยิ่งถ้าเป็นขนมหน้าตาใหม่ๆ ที่ไม่เคยวางขายในไทยมาก่อนก็จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจ ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการกันมากขึ้นและช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จักเร็วขึ้น

ก้องกฤชเล่าถึงไอเดียในการนำเข้าแฟรนไชส์ขนมจากเกาหลีว่า

“เราคุยกันมาสักพักหนึ่งแล้วว่าอยากจะหาธุรกิจอะไรทำร่วมกัน แฟนผมเขาโตมากับธุรกิจอาหารซึ่งเป็นของครอบครัว เขาก็อยากจะแยกตัวออกมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง

ช่วงประมาณกลางปีที่แล้ว (2557) เราเห็นว่ากระแสเกาหลีมันยังอยู่ คนไทยอะไรๆ ก็เกาหลีทั้งนั้น เราก็เลยบินไปเกาหลีบ่อยมาก ไปเดินสำรวจตลาดดูว่าของกิน หรือขนมอะไรในบ้านเขาที่กำลังฮิตกันบ้าง จะได้เอากลับมาขายที่เมืองไทย ที่จริงเราไปเกาหลีกันหลายรอบ แต่ก็ไม่ได้เจออะไรที่สนใจเป็นพิเศษ

จนกระทั่งมาเจอแบรนด์ Café Aboong ที่ขายอยู่หน้ามหาวิทยาลัย เราก็เห็นเด็กวัยรุ่น นักศึกษา ต่อแถวซื้อขนมตัวนี้กันเยอะก็ลองซื้อมากินดูบ้าง

จุดแรกที่เห็นเลยคือ ตัวขนมมันน่ารักดี ตัวแป้งเป็นรูปปลาอ้าปาก และมีไอศกรีมโยเกิร์ตอยู่ข้างใน ก็นึกถึงเด็กไทยที่ชอบถ่ายรูปขนมขึ้นมาทันที พอลองกินดูรสชาติมันก็อร่อยต่างจากขนมที่ขายในไทย ไอศกรีมโยเกิร์ตแบบนี้ที่ไทยก็ยังไม่มี แม้แต่ตัวแป้งก็แตกต่าง ดูแล้วมันน่าสนใจ ก็คุยกันเลยว่าลองติดต่อแฟรนไชส์ตัวนี้มาขายที่ไทยดีกว่า”

ฐิติรัตน์ขยายความเพิ่มเติมถึงเอกลักษณ์และความพิเศษของขนมจากเกาหลีตัวนี้ว่า

“ความหมายของคำว่า Aboong ในภาษาเกาหลี ก็คือ ขนมปลากับไอศกรีม ก็ตรงกับตัวขนมเลย ตัวขนมปลาที่เป็นวาฟเฟิลจะมีไส้ข้างในให้เลือก 2 แบบ คือ คัสตาร์ดกับถั่วแดง สำหรับตัวแป้งจริงๆ แล้วไม่ต้องนำเข้าก็ได้ แต่เราก็เลือกที่จะนำเข้าจากเกาหลี เพราะมันจะมีความพิเศษกว่าแป้งวาฟเฟิลทั่วๆ ไป พอทำออกมาปุ๊บจะต้องแข็งตัวเป็นรูปปลาทันที แต่ถ้าเป็นแป้งวาฟเฟิลปกติมันจะนุ่ม ไม่แข็งตัว อันนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของแป้ง

โดยวัตถุดิบทุกอย่างเรานำเข้ามาจากเกาหลีทั้งหมด ทั้งผงแป้ง ผงไอศกรีม เครื่องทำไอศกรีม อย่างตัวไอศกรีมก็จะเป็นโยเกิร์ตแท้ 100% ไม่มีไขมันเลย ที่ไทยมีไอศกรีมโยเกิร์ตมานานแล้ว แต่ตัวนี้รสชาติแตกต่างแน่นอนจะไม่หวานคอ กินแล้วรู้สึกเหมือนกินโยเกิร์ตจริงๆ เป็นไอศกรีมโยเกิร์ตเกรดพรีเมียม ไขมัน 0% แล้วอากาศเมืองไทยก็ร้อน คนกินแล้วก็น่าจะอยากกินอีก และตัวไอศกรีมถ้ากินคู่กันกับขนมปลามันจะเข้ากันมากๆ ที่สำคัญในเมืองไทยยังไม่มีขาย ก็เลยตัดสินใจนำแฟรนไชส์ตัวนี้เข้ามา”

ความยากอย่างแรกที่ทั้งคู่ต้องเจอคือ การติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์จากนักธุรกิจชาวเกาหลี ซึ่งฐิติรัตน์เล่าว่า มีความยากตั้งแต่ในเรื่องการสื่อสาร รวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการซื้อแฟรนไชส์

“ต้องบอกก่อนว่าแฟรนไชส์ตัวนี้มีความใหม่มาก เพราะเพิ่งเปิดขายในเกาหลีได้ประมาณแค่ปีเดียวเท่านั้น มีอยู่ประมาณ 5 สาขา เน้นขายตามแหล่งวัยรุ่นที่มีพวกนักเรียน นักศึกษาเป็นหลัก เจ้าของแบรนด์เขาเป็นนักธุรกิจที่ทำขนมหลายอย่างเหมือนกัน อย่างพวกชานมไข่มุก แต่ Café Aboong เป็นตัวล่าสุดที่เขาทำ และประสบความสำเร็จมาก

เขาเองก็ไม่เคยขายแฟรนไชส์ให้คนต่างประเทศเหมือนกัน เขาก็ใหม่ เราก็ใหม่ ทุกอย่างมันเลยดูยากไปหมด ตัวเราทั้งคู่ก็ไม่เคยมีใครเคยทำธุรกิจเกี่ยวกับส่งออก ก็คิดแค่ว่าซื้อมาแล้วคงได้เลย แต่กลายเป็นว่าวุ่นวายมาก ตั้งแต่การขอ อย. (ขอการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) การทำเรื่องศุลกากร
ลำพังสื่อสารกันก็ไม่ได้อยู่แล้ว ต้องใช้ล่าม พูดกันผ่านล่ามตลอด ซึ่งบางครั้งล่ามก็ไม่ได้แปลอย่างที่เราอยากจะพูดทุกคำ การที่ไม่สามารถสื่อสารกันได้โดยตรง ทำให้การเจรจาธุรกิจยากขึ้นมาก บางครั้งเราพูดอะไรไปเขาก็บอกว่าไม่เข้าใจ

อย่างเรื่องการขอ อย.ไทย เกาหลีเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงยุ่งยาก ต้องใช้เอกสารอะไรเยอะแยะขนาดนั้น ที่จริงแล้วขั้นตอนในการขอ อย.นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาบอกว่าต้องใช้เวลา 1 ปีด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นเรามีเวลาแค่ไม่ถึง 4 เดือนที่จะต้องเปิดร้านในไทยตามกำหนดในสัญญา ไม่อย่างนั้นก็จะเสียค่าปรับเยอะมาก

บางคนอาจจะถามว่าขนมต้องมี อย.ด้วยหรือ คือวิธีการนำเข้ามันก็มีหลายแบบ แต่เราอยากทำทุกอย่างให้มันถูกต้องที่สุด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด บินไปกลับระหว่างเกาหลีกับไทยเป็นว่าเล่น เพราะเราทั้งคู่ทำกันเองหมดทุกอย่าง ต้องวิ่งเต้นเรื่องขอ อย. ต้องทำร้าน ต้องหัดทำขนม หาพื้นที่เอง

อย่างเรื่องพื้นที่ก็ขอเลื่อนทางห้างดิจิตอล เกตเวย์ มาแล้ว 2 รอบ เพราะมันเสร็จไม่ทันจริงๆ แต่ทางห้างเขาก็เข้าใจ ยังคุยกันรู้เรื่อง ใช้เวลาวิ่งเต้นทุกเรื่องประมาณ 3 เดือน สุดท้ายก็สามารถเปิดร้านได้ทันสัญญา”

ทั้งคู่ใช้เม็ดเงินในการซื้อแฟรนไชส์ครั้งนี้ เบ็ดเสร็จแล้วอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท รวมตัวร้าน และอุปกรณ์ทุกอย่างที่สามารถเปิดขายได้เลยทันที ไม่มีค่าต่อแฟรนไชส์เป็นรายปี แต่จะต้องแบ่งยอดขายให้ทางแบรนด์เดือนละ 3%

ก้องกฤชขยายความต่อในเรื่องนี้ว่า “เรายอมลงทุนกับเรื่องนี้มาก อย่างวัตถุดิบทุกอย่างเราก็นำเข้าจากเกาหลีหมด ตรงนี้ทำให้เราต้องเสียภาษีวัตถุดิบนำเข้าถึง 30% ซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่เราก็ยอมที่จะจ่าย เพราะอยากให้รสชาติทุกอย่างมันเหมือนกับตัวออริจินอลที่เกาหลี

เพราะลูกค้าของเรากลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มค่อนข้างใหญ่ เขาเคยเดินทางไปเกาหลีอยู่แล้ว และถ้าใครไปเที่ยวเกาหลีก็ต้องแวะไปกิน Café Aboong แน่นอนว่าลูกค้ากลุ่มนี้ต้องตามมากินที่ไทยด้วย เราก็ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าทำไมแป้ง หรือรสชาติของไอศกรีมมันไม่เหมือนกับกินที่เกาหลี จึงเลือกที่จะนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด

อย่างอุปกรณ์ทุกอย่างในไทยก็มีขาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทำไอศกรีม เครื่องทำฟองดู แต่เราก็เลือกที่จะนำเข้า เฉพาะเครื่องทำไอศกรีมก็ 1 ล้านบาทแล้ว แต่มันจะดีตรงที่สามารถทำไอศกรีมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องมีการพักเครื่อง และมีความทนทานใช้งานได้ในระยะยาว ก็เลือกที่จะลงทุนครั้งเดียวไปเลยดีกว่า

ตรงนี้ทำให้เราต้องตั้งราคาขายสูงกว่าที่เกาหลี คือที่เกาหลีถ้าคิดเป็นเงินไทยจะมีราคา 129 บาท แต่เราขายราคา 159 บาท เพราะมันมีทั้งต้นทุนในเรื่องของวัตถุดิบที่นำเข้าทั้งหมด และยังมีเรื่องภาษีวัตถุดิบอีกด้วย จึงไม่สามารถตั้งราคาขายได้เท่ากับที่เกาหลี”

Café Aboong สาขาแรกในไทย และยังเป็นสาขาแรกในต่างประเทศ ได้เปิดขายวันแรกไปเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2557 บริเวณลานหน้าห้างดิจิตอล เกตเวย์ สยาม ศูนย์รวมของแหล่งวัยรุ่นทั้งนักเรียน นักศึกษา คนในวัยทำงาน รวมถึงกลุ่มครอบครัวที่พาลูกมาเรียนพิเศษ เป็นทำเลที่มีศักยภาพ ที่ทั้งคู่ยอมเสียค่าเช่ามากถึงเดือนละ 250,000 บาท

ด้วยความที่วุ่นวายกับเรื่องการนำเข้า และจัดเตรียมร้าน ช่องทางโปรโมตเพียงอย่างเดียวที่สามารถทำได้ในช่วงก่อนเปิดร้านคือ ช่องทางบน Social Media ทั้ง Instagram และ Facebook ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างดี มีคนเข้ามาคอมเมนต์ใต้ภาพถามกันเยอะมาก ว่าจะเปิดขายที่ไหน เมื่อไร เคยกินที่เกาหลีแล้วติดใจ อยากให้มาเปิดที่ไทยเร็วๆ

เพียงวันแรกที่เปิดร้านก็ได้รับผลตอบรับอย่างถล่มทลาย ซึ่งฐิติรัตน์เองก็คาดไม่ถึง “เรามองไว้แต่แรกแล้วว่าเรื่องเวลาในการเปิดร้านมีส่วนสำคัญมาก ถึงได้วิ่งเต้นทุกอย่างให้ร้านได้เปิดก่อนปีใหม่เพราะช่วงนั้นมีทั้งวันหยุด วันคริสต์มาส คนจะต้องใช้จ่าย มันเป็นช่วงเทศกาลที่คนจะซื้อของขวัญให้กัน หรือพาคนมาเที่ยว ก่อนปีใหม่มันเป็นช่วงเวลานาทีทอง ถ้าเกิดเราไปเปิดร้านหลังปีใหม่ ทุกคนก็ไม่อยากใช้ตังค์แล้ว

วันแรกที่เปิดร้านเป็นอะไรที่ฉุกละหุก และวุ่นวายมาก แป้งเพิ่งมาส่งตอนตี 3 ก็ต้องมานวดแป้งกัน 2 สองคน ทำกันเองทุกอย่าง มีเด็กในร้านช่วยแค่คนเดียว พอถึงเวลาเปิดขาย คนหนึ่งทำแป้ง คนหนึ่งทำไอศกรีม ร้านยังไม่เปิดก็มีลูกค้ามาต่อแถวรอแล้ว ก็ยืนทำกันไม่ได้พักกินข้าวเลย วันแรกเลยต้องปิดร้านเร็ว เพราะทำแป้งไม่ทันจริงๆ คนก็มาต่อแถวรอกินกันเยอะมาก เราก็ต้องขอโทษลูกค้า ขอปิดร้านก่อนเวลา เพราะทำแป้งกันไม่ทันจริงๆ ซึ่งลูกค้าก็น่ารัก เขาก็เข้าใจว่าร้านเพิ่งเปิดวันแรก ก็บอกไม่เป็นไรเดี๋ยวพรุ่งนี้มาต่อแถวใหม่ 
จากที่เราคิดกันว่าน่าจะขายได้วันละ 300 ชิ้น ซึ่งน่าจะคืนทุนได้ใน 6 เดือน ไปๆ มาๆ กลายเป็นขายได้วันละประมาณ 1,000 ชิ้น ใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือนก็สามารถคืนทุนได้แล้ว

แต่ในช่วง 2-3 เดือนแรกเหนื่อยมากจริงๆ เพราะทำกันเองทุกอย่าง มีเด็กที่ร้านคอยช่วยแค่คนเดียว เราไม่ได้จ้างฝ่ายตลาด ฝ่ายบัญชี เหมือนบริษัทใหญ่ๆ ทำกันเองทุกอย่าง 3 คนอยู่ประมาณ 3 เดือนถึงค่อยลงตัว และเริ่มหาเด็กมาขายประจำที่ร้านแทน พอระบบมันลงตัวก็ปล่อยให้เด็กขายกันเองได้แล้ว

ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ดีนะ การที่เจ้าของลงมาทำเอง เพราะเราจะได้เจอ ได้พูดคุยกับลูกค้าอยู่ตลอด เรามีโอกาสได้ถามลูกค้าเกือบทุกคนว่ากินแล้วเป็นยังไง ชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้าง 2 เดือนแรกเราถามลูกค้าประโยคเดิมๆ ทุกวัน ถ้าเป็นพนักงานเขาคงทำได้ไม่เต็มที่แบบนี้อยู่แล้ว

หลักๆ เลยที่ลูกค้าต้องการคือ ขอให้กดไอศกรีมให้สวยๆ เพราะเขาจะเอาไว้ถ่ายรูปอัปขึ้น Instagram บางคนมาคนเดียวขอให้เราถ่ายรูปให้ก็มี ตรงนี้เป็นอีกช่องทางที่ช่วยโปรโมตแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักเร็วยิ่งขึ้น บางคนเขาไม่รู้จักมาก่อน แต่เห็นรูปของเพื่อนที่ลง Instagram หรือ Facebook เขาก็ตามมากินเลย แล้วเด็กวัยรุ่นเขาเพื่อนเยอะ ก็จะชักชวนกันมา บางคนก็เอาไปลงรีวิวให้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ อย่างพันทิป คนก็ยิ่งรู้จักเราเร็วขึ้น

เชื่อไหมว่าตอน 2 เดือนแรกมันยุ่งมาก เราก็มัวแต่ทำขนม ขายขนม ไม่ได้เช็กข่าวอะไรเลย ก็ได้ลูกค้าประจำคอยส่งข่าว เขามาบอกว่าพี่รู้ไหมตอนนี้ร้านพี่ดังมากเลยนะ มีคนเอาไปรีวิวลงตั้งหลายเว็บ เราถึงได้ลองไปเช็กดู ก็ต้องขอบคุณกลุ่มลูกค้าประจำด้วย”

ตอนแรกทั้งคู่ก็แอบหวั่นเล็กๆ ว่าราคา 159 บาทต่อชิ้นจะสูงเกินไปสำหรับกลุ่มเด็กวัยรุ่นหรือไม่ แต่กลายเป็นว่าเรื่องราคาไม่เคยเป็นปัญหา เพราะขนาดของขนมที่ชิ้นค่อนข้างใหญ่ ประกอบไปด้วยวาฟเฟิลปลาสอดไส้ไอศกรีมโยเกิร์ต และผลไม้เคลือบช็อกโกแลตฟองดู ทำให้เด็กวัยรุ่นนิยมซื้อกินกับเพื่อน 2 คน ราคาก็จะไม่แพงจนเกินไป ในขณะที่กลุ่มครอบครัว หรือกลุ่มวัยทำงาน เรื่องราคาไม่มีผลอยู่แล้ว

ถึงจะเปิดขายได้ไม่นาน แต่ความแรงของกระแสไอศกรีมปลาอ้าปากส่งผลให้เกิดคู่แข่งที่เลียนแบบแบรนด์ของทั้งคู่ขึ้นแล้ว ซึ่งทั้งคู่ก็ไม่ได้กังวลในประเด็นนี้ เพราะไปลองชิมมาแล้ว พบว่าถึงหน้าตาภายนอกจะคล้ายคลึงกันมาก เรียกว่าเลียนแบบมาทุกอย่าง แต่รสชาติห่างไกลกันจนไม่น่าห่วง ทั้งคุณภาพของแป้ง ไอศกรีม ลูกค้าที่กินก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นของเลียนแบบ

นอกจากในประเทศไทยแล้ว Café Aboong ยังได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านมากมายในเอเชีย จนตอนนี้เจ้าของแฟรนไชส์ในเกาหลีได้ขยายสาขาไปแล้วที่ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย โดยจะขายเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ให้แก่ผู้ประกอบการแค่รายเดียวเท่านั้นในแต่ละประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาด้านการแข่งขัน

เป้าหมายของ Café Aboong ในไทยจากนี้ไป คือ การขยายสาขาที่ 2 เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งในเร็วๆ นี้น่าจะได้เห็น

Café Aboong เปิดให้บริการทุกวัน หน้าห้างดิจิตอล เกย์เวย์ สยาม วันจันทร์-ศุกร์ เปิดขายเวลา 12.00-21.30 น. ส่วนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะขยายเวลาเป็น 11.00-22.00 น.

ไอศกรีมปลาอ้าปาก แบรนด์ฮิตจากเกาหลี เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของผู้ประกอบการไทย ที่คิดเร็ว ทำเร็ว จนประสบความสำเร็จภายในเวลาที่รวดเร็วเช่นกัน

ใครสนใจจับคู่ธุรกิจหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคู่รักนักธุรกิจทั้ง ก้องกฤช และฐิติรัตน์ ติดต่อผ่าน 08-1751-6666 หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/Cafeaboongth

@@@ ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs PLUS @@@

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น