xs
xsm
sm
md
lg

กู่ไม่กลับ! ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่อเนื่อง 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 58 ปรับตัวลดลงอีกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และยังเป็นการลดต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี ผลจากภัยแล้ง สินค้าเกษตรราคาตก การส่งออกไม่ฟื้น ระบุยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แนะรัฐบาลควรเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า จากสถานการณ์ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง รวมถึงภาคการส่งออกไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นภาวะเงินฝืดในทางเทคนิค แต่สถานการณ์ความเป็นจริงไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากประชาชนยังมีกำลังซื้อ และราคาสินค้าบางประเภท ยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากความต้องการของประชาชน อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งหามาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการเร่งรัดจ่ายงบประมาณลงในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยกระตุ้นการใช้จ่าย

นายธนวรรธน์เผยต่อว่า ส่วนกรณีที่เรือประมงไม่ผ่านอาชญาบัตร และหยุดเดินเรือเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา คาดจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะการหยุดเดินเรือที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดเล็กและเรือขนาดกลาง ไม่ได้เป็นการหยุดเดินเรือทั้งหมด ส่วนราคาอาหารทะเลจะปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง ทว่า อาหารทะเลที่นำมาบริโภคภายในประเทศส่วนใหญ่มาจากการเลี้ยง และนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการบริโภคอาหารทะเลภายในประเทศมากนัก

ส่วนกรณีวิกฤตเศรษฐกิจของกรีซนั้นคาดส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยน้อยมาก เนื่องจากกรีซเป็นประเทศขนาดเล็ก และไม่ได้มีการค้าขายกับประเทศไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม ต้องรอการหารือของกลุ่มยูโรโซนในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ ว่าจะพิจารณาให้กรีซอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไปหรือไม่

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น