xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยประเมินค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมเงินสะพัดกว่า 48,000 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ปกครองเกี่ยวกับผลกระทบในช่วงเปิดเทอมพบว่า ควรส่งเสริมให้การเรียนการสอนระดับ ปวช. ปวส. ได้รับความนิยม หรือมีมาตรฐานมากขึ้นเหมือนระดับปริญญาตรี เพราะเป็นสายวิชาชีพที่สำคัญมากขึ้น ผู้ปกครองให้ควาามสำคัญการฝึกวิชาชีพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายธนวรรธน์ ยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว ขณะที่ภาระหนี้ผู้ปกครองยังสูงจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนขยายตัวอัตราที่ลดลงเพียงร้อยละ 8.7 ในปี 2558 เป็นภาระหนี้ 198,154 บาท จากปี 2557 มีภาระหนี้ 182,156 บาทต่อครัวเรือน แสดงว่าผู้ปกครองระวังการใช้จ่ายมากขึ้นด้วยการซื้อเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน โดยยังใช้จ่ายเท่าเดิมไม่ยอมซื้อเพิ่ม ผู้ที่ตอบซื้อเท่าเดิมมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 เพราะไม่มั่นใจเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ จีน ญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในประเทศจำนวนมาก ทำให้การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังออกสู่ระบบมากขึ้น ทั้งการสร้างมอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้าจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด การลงทุนระบบมือถือ 4 จี ซึ่งจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะชัดเจนมากขึ้นไตรมาส 4 และเมื่อจีนลดอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจีดีพีขยายตัวร้อยละ 7 ส่งผลการส่งออกไปจีนมากขึ้น สหภาพยุโรป (อียู) เมื่ออังกฤษได้รัฐบาลเดิมมาบริหาร น่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และหากเคลียร์เรื่องประมงได้จะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวร้อยละ 0.4 จีดีพีทั้งปีขยายตัวร้อยละ 3.2
นายวัชร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ปกครองต้องหาอาชีพเสริม มีภาระหนี้สินถึงร้อยละ 69.9 ส่วนใหญ่นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมา คือ การซื้อรถยนต์ สำหรับการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปีนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 49.2 มองว่าค่าใช้จ่ายภาพรวมเฉลี่ยเท่าเดิม 7,254 บาท ส่วนราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มเป็นเสื้อผ้า ส่วนถุงเท้า กระเป๋า เครื่องเขียน หนังสือไม่เปลี่ยนแแปลงมาก โดยประเมินว่าค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเงินสะพัดประมาณ 48,040 ล้านบาท ขยายตัวต่อสุดเพียงร้อยละ 1.9 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ผู้ปกครองต้องเตรียมเงินจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ย เป็นค่าบำรุงกรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ ใช้เงินเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 7,792 บาท เพิ่มเป็น 8,643 บาทในปีนี้ แม้การกู้เงินนอกระบบจะลดลงจากปีก่อน แต่ผู้ปกครองยังกู้เงินนอกระบบในสัดส่วนสูงร้อยละ 18.7 กู้เงินในระบบร้อยละ 19.5 ผู้ปกครองเสนอแนะให้ปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดูแลบุคลากรให้มีคุณภาพเพียงพอ ส่งเสริมอุปกรณ์การเรียนให้ทั่วถึง ผู้ปกครองส่วนใหญ่มองว่าคุณภาพโรงเรียนทั่วประเทศยังมีมาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน จึงควรปรับปรุงด้านภาษา วินัย จริยธรรม วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพราะเวลาสอบวัดเทียบกับอาเซียนนักเรียนไทยยังได้อันดับท้าย ๆ ของกลุ่มอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น