ในการประกอบการธุรกิจ หัวใจสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะชี้ขาดระหว่าง “ประสบความสำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” คือ การวางแผน “การเงิน” อย่างถูกต้องและรอบด้าน โดยมากแล้วผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีมักมีปัญหาเรื่องดังกล่าวมากกว่ารายใหญ่ เพราะขาดความรู้และไร้ที่ปรึกษามืออาชีพ
ทีมงาน K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงินได้ให้ข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนทางการเงินตลอดจนการปลดหนี้สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้นำไปประยุกต์ใช้ให้สุขภาพทางการเงินแข็งแรง
ชำแหละที่มาแห่งปัญหาการเงิน SMEs
ศาสตรา มังกรอัศวกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยสำคัญๆ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น ประกอบด้วย
1.มักไม่แยกการบริหารการเงินระหว่าง “เงินส่วนตัว” กับ “เงินในการทำธุรกิจ”: โดยนำเงินทั้งสองมาผสมกัน ใช้ข้ามไปมา จนกลายเป็นว่า สุขภาพทางการเงินของด้านธุรกิจ ดูไม่ดี ทั้งๆ ที่มีรายได้เข้ามาจำนวนมาก แต่รายจ่ายกลับมากยิ่งกว่า รวมถึง เงินที่จ่ายไปหลายด้านเป็นการจ่ายผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปซื้อทรัพย์สินส่วนตัว ไม่ได้นำไปสร้างรายได้ ทำให้สถาบันการเงินพิจารณารายจ่ายส่วนนี้ว่า ไม่สมเหตุสมผล ทำให้เอสเอ็มอียากต่อการเข้าถึงแหล่งทุน ดังนั้น ข้อแนะนำแรก เอสเอ็มอีควรแยกบัญชีระหว่างเงินส่วนตัว กับเงินทำธุรกิจ
2. หน้ามืดหันพึ่งเงินกู้นอกระบบ: สืบเนื่องจากปัญหาข้างต้น หากเกิดภาวะขายสินค้าได้น้อยลง เกิดภาวะขาดสภาพคล่องจำกัด จำเป็นต้องกู้เงิน ทำให้สัดส่วน “หนี้สิน” ต่อ “สินทรัพย์” อยู่ในอัตราสูง และเมื่อกู้ไปกู้มาจนวงเงินเต็ม เกิดอาการกู้ต่อในระบบไม่ได้แล้ว หลายรายเกิดอาการหน้ามืด หันไปใช้เงินกู้นอกระบบ หรือบริการสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น บัตรกดเงินสดต่างๆ อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 20-28% ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในที่สุดธุรกิจไม่สามารถจะรับภาวะต่อไปได้
3.ขาดการบริหารค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม: โดยเอสเอ็มอีมักไม่ค่อยทำ “งบประมาณ” หรือเทียบกับบุคคลธรรมดา คือ การทำ “บันทึกรับจ่าย” ซึ่งน้อยรายมากที่จะทำอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ในทางการประกอบธุรกิจแล้ว หากไม่ทำงบประมาณแล้ว จะไม่รู้ “ยอดขายว่าได้เท่าไร” และ “ค่าใช้จ่ายต่างๆ หมดไปกับอะไรบ้าง” มันทำให้สุดท้ายเงินไม่เหลือเพียงพอที่จะไปจ่ายหนี้ขั้นต่ำพร้อมดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ไปกู้มา กลายเป็นประวัติการเงินเสีย
“จุดนี้ ข้อแนะนำแรก เอสเอ็มอีควรจะทำ “งบประมาณ” เสียก่อน ประการต่อมา เมื่อเราทำงบประมาณแล้ว จะทำให้เห็นว่า มีค่าใช้จ่ายใดๆ บ้าง ช่วยให้สามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และไม่ก่อให้เกิดรายได้ทิ้งไปได้ เช่น ค่าตกแต่งเพื่อความสวยงาม ค่าใช้จ่ายเกินจำเป็นที่ต้องเฝ้าควบคุมพิเศษ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน จะรู้ถึงข้อมูลสำหรับ “ค่าใช้จ่ายที่ควรจ่าย” ซึ่งต้องเป็น “ค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้” เช่น ค่าจ้างพนักงานฝ่ายขาย ปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิต ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่จำเป็น เป็นต้น”
4.ต้องรู้จักบริหารสภาพคล่อง : ศาสตรา ระบุว่า เอสเอ็มอีควรมีความเข้าในในหลักการบริหาร “ไฟแนนเชียล เรโช” (Financial ratio) บ้างตัว ซึ่งตัวสำคัญ คือ “ควิกเรโช” (Quick ratio) หรือ “สภาพคล่องหมุนเวียน” โดยเอสเอ็มอีต้องเฝ้าติดตามเสมอว่า สินทรัพย์ที่หมุนเวียนได้เร็ว คือ “เงินสด ลูกหนี้ และการค้าระยะสั้น” ถ้าเทียบกับ “หนี้สินหมุนเวียน” แล้วครอบคลุมหรือไม่ โดยอย่างน้อยควรจะ “1 เท่า” กล่าวคือ ถ้าเราต้องจ่ายหนี้สินหมุนเวียน 100 บาท ควรมีทรัพย์สินหมุนเวียน 100 บาทเช่นกันอยู่เสมอ แต่เมื่อใดก็ตามที่หนี้สินหมุนเวียนมากกว่าทรัพย์สินหมุนเวียน ธุรกิจจะเริ่มเกิดปัญหา ซึ่งวงจรของหลายธุรกิจ เมื่อมีปัญหาจะเริ่มไปกู้ ทำให้ “เรโช” ยิ่งดูแย่ สุดท้ายต้องปิดธุรกิจไป
5.บริหารลูกหนี้ยาวเกินไป : จากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ลูกหนี้หรือลูกค้าของเอสเอ็มอีมักจะขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ไปให้นานที่สุด ในขณะที่ตัวเอสเอ็มอียังต้องจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินตรงเวลาตลอด ดังนั้น ไม่ควรจะปล่อยระยะเวลาชำระหนี้ให้นานจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อด้านสภาพคล่อง
“เคยมีกรณีหนึ่ง ทำธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนมาก ซื้อวัตถุดิบเป็น “เงินสด” แต่ขายสินค้าเป็น “เงินเชื่อ” เวลามีออเดอร์เข้ามามากๆ เอสเอ็มอีรายนี้ก็ต้องการเงินสดจำนวนมาก จนยอมไปกู้เงินบัตรเงินสดในอัตราดอกเบี้ย 20% ไปซื้อวัตถุดิบ แล้วขายสินค้าต่อให้ลูกค้าโดยให้เงินเชื่อ โดยให้ระยะเวลาชำระเงินยาวเกินไป ยิ่งออเดอร์ดี ก็ยิ่งไปกู้เยอะ ทั้งๆ ที่กิจการดี แต่สุดท้าย ตัวเองกลับล้มละลาย เพราะหมุนเงินไม่ทัน”
และ 6.ขาดแผนสำรองกรณีฉุกเฉิน: หากเอสเอ็มอี เกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นควรมีแผนสำรองเตรียมพร้อมไว้ ตัวอย่างเช่น สำรวจทรัพย์สินใดๆ โดยตีราคารอไว้ล่วงหน้า รวมถึง หาสถานที่ขายรอไว้ด้วย เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง สามารถจะนำทรัพย์สินเหล่านั้น ไปขายมาเป็นเงินหมุนเวียนได้ทันที
“ทรัพย์สินบางอย่างมันไม่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ถ้าเราเกิดปัญหาขึ้นมา กว่าเราจะหาทรัพย์สินมาขาย หาที่มารับซื้อได้ บางทีมันไม่ทันต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะดอกเบี้ยมันยิ่งเพิ่มเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว แผนสำรองที่ง่ายที่สุด คือการกู้ แต่ถ้าเรากู้จนไม่สามารถกู้ได้แล้ว สู้เราหมุนทรัพย์สินมาเป็นเงินสดน่าจะดีกว่า” ศาสตรา กล่าว และเสริมว่า
“ผมเชื่อว่า ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น สำคัญมากสำหรับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายเล็กๆ ถ้าทำได้ ไม่มีทางที่สุขภาพการเงินจะแย่ แต่ทุกวันนี้ คือ ไม่รู้ว่าเงินที่ทำหรือมาแล้วไปไหน ลูกหนี้ก็ปล่อยยาว สภาพคล่องก็ต่ำ และพอไม่มีสภาพคล่องก็ไปกู้ ทำให้เป็นหนี้ยิ่งมากขึ้นไปอีก สุดท้ายก็ไปไม่รอด” เขา กล่าว
เป็นหนี้ได้แต่ต้องอยู่ในระดับสามารถควบคุม
ผู้บริหารโครงการ K-Expert เผยด้วยว่า สำหรับเอสเอ็มอี สามารถก่อหนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องผิด และการที่เอสเอ็มอีมีหนี้ระดับหนึ่ง ในทางสถาบันการเงินถือว่าเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ เพราะช่วยเสริมสภาพคล่อง และขยายธุรกิจได้ แต่สิ่งสำคัญในการก่อหนี้ คือ “บริหารจัดการหนี้ไม่ให้สูงเกินไป” โดยอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ การเป็นหนี้ในเชิงธุรกิจของเอสเอ็มอีนั้น ต้องเป็น “หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้” ซึ่งตรงกันข้ามกับหนี้ส่วนบุคคลธรรมดา เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯลฯ ซึ่งเป็น “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” ดังนั้น สำหรับเอสเอ็มอีที่จะก่อหนี้เชิงธุรกิจ ต้องเป็นหนี้ก่อให้เกิดรายได้ โดยสัดส่วนของบริษัทควรมีหนี้ประมาณ 50% ของทุน กล่าวคือ ลงทุน 1 ล้านบาท ควรมีหนี้ 1 ล้านบาท ตัวอย่าง ถ้าจะเปิดร้านข้าวมันไก่ ใช้ทุน 1 ล้านบาท มีรายได้ปีละ 5 แสนบาท แต่เอสเอ็มอีกู้เงินมาอีก 1 ล้านบาท เพื่อเปิด 2 ร้าน รายได้จะเพิ่มเป็นเท่าตัว และเป็นการกระจายความเสี่ยงอีกทางด้วย
ศาสตรา เสริมด้วยว่า เหตุที่บอกว่า การที่เอสเอ็มอีมีหนี้ในระดับหนึ่งเป็นเรื่องดีนั้น เพราะในทางการเงิน ถือว่า เป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะหากเอสเอ็มอี นำเงินส่วนตัวไปลงทุนธุรกิจทั้งหมด ถ้ามีปัญหาขึ้นมา เงินก็จะเสียไปทั้งหมดเช่นกัน นอกจากนั้น ในแง่การลงทุน ถ้าไปเจอบริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่มีหนี้เลย จะกลายเป็นข้อสงสัยของนักลงทุนภายนอก เพราะสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทแห่งนี้บริหารการเงินไม่เป็น
รวมถึง ในการขยายธุรกิจ ถ้าบริษัทใดๆ ก็ตามมีธนาคารปล่อยกู้ครึ่งหนึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่า แต่ในทางกลับกัน ถ้าใช้ทุนตัวเองทั้งหมด จะเกิดเป็นคำถามว่า เหตุใดสถาบันการเงินจึงไม่ยอมอนุมัติให้ และสุดท้าย ข้อดีของการกู้ รายจ่ายจากการกู้ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้
อย่างไรก็ตาม อัตราการก่อหนี้สัดส่วน 50%-50% ระหว่างเงินส่วนตัวกับเงินกู้สถาบันการเงินนั้น ไม่ได้เป็นสูตรตายตัวของทุกธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่ต้องการเงินหมุนเวียนเร็ว ประเภทซื้อมาขายได้ อาจจะมีอัตราเป็น 2 ต่อ 1 โดยเป็นกู้มากกว่าเงินทุนส่วนตัว 2 เท่า เป็นต้น
แนะวิธีปลดหนี้สำหรับ SMEs
เขาเผยด้วยว่า สำหรับการบริหารหนี้ของเอสเอ็มอี หากอยู่ในระดับไม่เกิน 50% หรือไม่เกิน 1 เท่าของทรัพย์สินหรือรายได้ยังไม่น่ากังวล แต่ในกรณีที่เกิน ตกหลุมพรางเข้าสู่วงจรไม่สามารถจัดการหนี้ได้สะดวกแล้ว ข้อแนะนำสำหรับเอสเอ็มอีต่อการปลดหนี้นั้น ได้แก่
ประการแรก ต้องกลับไปดูค่าใช้จ่ายก่อนว่า มีส่วนใดเกินจำเป็น และไม่ก่อให้เกิดรายได้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายที่ดูงบการเงินไม่เป็น ไม่รู้รายได้ต่อรายจ่ายไปอยู่ที่ใดบ้าง อีกทั้ง ต้องพิจารณาระหว่างต้นทุนประจำ หรือต้นทุนผลักแปร หากไม่สามารถลดต้นทุนประจำได้ ควรไปลดต้นทุนผลักแปร เช่น ค่าน้ำค่าไฟ บุคลากรที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ฯลฯ ดังนั้น สิ่งแรก คือ “ตัดรายได้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็น” ออกไปให้มากที่สุด
ประการที่สอง กลับมาดูว่า มีทรัพย์สิน ใดๆ บ้างที่ไม่จำเป็น หรือเป็นทรัพย์สินฟุ่มเฟือย ต้องนำไปขายให้หมด เพื่อจะนำเงินมาจ่ายหนี้
และประการที่สาม หาแหล่งเงินที่ต้นทุนต่ำกว่า หรือรีไฟแนนท์ (Re-Finance) เพื่อที่จะให้เงินกู้มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า รวมถึง การเข้าไปของเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งกรณีนี้ จะต้องพิจารณาวิธีการเป็นรายๆ ไป
ข้อเตือนใจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ
จากข้อมูลการประกอบธุรกิจของเอสเอ็มอี แม้จะเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก แต่ในความเป็นจริง หลังจากทำธุรกิจไปในปีแรกจะปิดตัวลงไปครึ่งหนึ่ง ปีที่สองปิดตัวลงไปอีกครึ่งหนึ่ง โดยเฉลี่ยหลังผ่าน 5 ปีจะเหลือรอดประมาณแค่ 20% เท่านั้น
ฉะนั้น ข้อที่ควรจดจำของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะหน้าใหม่ ได้แก่ ห้ามใช้แหล่งทุนจากบัตรกดเงินสดหรือเงินกู้นอกระบบมาดำเนินธุรกิจ โดยการเริ่มต้นธุรกิจ ควรมาจากทุนตัวเองหรือครอบครัวเสียก่อน และหลังจากมีความพร้อม ทำธุรกิจมาได้อย่างน้อย 1 ปี มีทิศทางจะเติบโตต่อไปได้ จึงคิดถึงการกู้เงินเพื่อขยายธุรกิจต่อไป
“ปัญหาของเอสเอ็มอี มักจะเริ่มต้นด้วยตัวคนเดียว และทำธุรกิจภายใต้ส่วนบุคคล ดังนั้นเวลาจะไปขอสินเชื่อภาคธุรกิจจากสถาบันการเงิน มักจะขอได้ยาก เพราะธนาคารจะบอกว่า ต้องทำธุรกิจมาแล้ว 1 ปี จึงจะขอสินเชื่อได้ ซึ่งสินเชื่อของธุรกิจ ดอกเบี้ยจะอยู่อัตรา 8-10% แต่เมื่อเข้าถึงสินเชื่อนี้ไม่ได้ หลายรายหันไปใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสดต่างๆ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 20-28% ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นเท่าตัว”
“ดังนั้น ในการทำธุรกิจ เพื่อปลอดภัยไว้ก่อน ห้ามที่จะใช้เงินจากบัตรเครดิต หรือทำธุรกิจโดยตัวเปล่าแล้วจะคาดหวังว่าจะไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้เลย แต่ควรสำรองเงินไว้ก่อนเป็นทุนหมุนเวียน และเลี้ยงตัวเองให้ได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี หลังจากนั้น จึงคิดถึงการขอสินเชื่อธุรกิจ เพราะเป็นทุนมาผสมกัน”
ฉะนั้น ในการเริ่มต้นธุรกิจของเอสเอ็มอี ควรจะเริ่มต้นด้วยทุนของตัวเอง หรือทุนของครอบครัวเสียก่อน อย่าคาดหวังว่าจะเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินกู้ เพราะในความเป็นจริง ทางธนาคารต้องป้องกันตัวเองด้วยเช่นกัน โดยพิจารณาทั้งประสบการณ์การทำธุรกิจ กำไรต่อรายจ่าย ฯลฯ นอกจากนั้น หากกรณีเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ควรเริ่มจากหาพันธมิตรมาเพิ่มทุนเสียก่อน ที่คิดถึงการไปกู้เงินมาแก้ปัญหา
ศาสตรา กล่าวด้วยว่า ข้อคิดที่จำเป็นของเอสเอ็มอี นอกจากที่กล่าวมาข้างหน้าแล้ว ไม่ว่าจะด้านบริหารการเงิน การวางแผนสำรองกรณีฉุกเฉิน เช่น มีเงินทุนสำรอง ทรัพย์สินสำรอง ไว้ขายเพื่อประคับประคอง ลดทอนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้
อีกสิ่งที่จำเป็น คือ ต้องมีความรู้ใน “พัฒนานวัตกรรม” เพราะมีสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ออกมาเสมอ เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ในช่วงเริ่มต้น สินค้าขายได้ดี แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ ตลาดจะถึงทางตัน เพราะไม่มีสินค้าใหม่ หรือไม่มีลูกค้าใหม่หรือตลาดใหม่มารับรอง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายยังเท่าเดิมหรือสูงขึ้น เป็นที่มาไม่สามารถรักษาระดับรายได้ให้ต่อเนื่องมากเท่าเดิม
ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับการปรับตัวในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้ประกอบการควรหาช่องทางตลาดใหม่ อย่างออนไลน์ ซึ่งต้นทุนต่ำ อีกทั้ง ไม่ทำธุรกิจแค่ตัวใดตัวหนึ่ง แต่ทำหลายๆ ธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อกระจายความเสี่ยง และปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก รวมถึง เรียนรู้และปรับตัวให้ทัน ต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
“ภาวะฝืด เราก็ชะลอเอาแค่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ผมว่าครึ่งปีหลัง ทยอยลงทุนได้ แต่ไม่ควรทุ่มสุดตัว เพราะจากที่เราฟังทิศทางเศรษฐกิจหลายสำนัก แม้จะบอกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นจะเจ็บตัว ฉะนั้นต้องทยอยลงทุน ลองทดสอบดูก่อน ถ้าตลาดมันขึ้นจริง และได้โอกาส ค่อยลงทุนมาก เช่น สมมุติมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง 1 ล้านบาท แทนที่ว่าจะลงทุนเปิดร้านในครึ่งปีหลังอีกร้านหนึ่ง เรายังไม่ต้อง แต่เพิ่มการผลิตในช่องทางอื่นที่ต้นทุนถูกกว่าก่อนได้ อาจจะเริ่มแค่แสนสองแสน เอาเงินแปลงมาเป็นโปรโมชั่นอย่างนี้ดีกว่าเอาเงินทั้งหมดไปจม”
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่คาดยังพอไปได้ คือ กลุ่มอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคที่คนยังคงต้องกินต้องใช้ แม้จะเศรษฐกิจไม่ดีก็ตาม กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง โลจิกติกส์ จากปัจจัยค่าน้ำมันลดลง และกลุ่มธุรกิจสุขภาพ ตามสภาพสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง
เปิด K-Expert Center ศูนย์ให้คำปรึกษาการเงินครบวงจร
ศาสตรา เผยด้วยว่า ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย โดยทีมงาน K-Expert ให้ความสำคัญต่อลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างยิ่ง โดยนำเสนอจุดเด่นเรื่องบริการความรู้ต่างๆ ให้แก่เอสเอ็มอี โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดศูนย์ K-SME Center อยู่ที่ชั้น 2 อาคารจามจุรี สแควร์ มีทั้งการฝึกอบรม และให้คำปรึกษาแก่เอสเอ็มอี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ทางทีมงาน K-Expert ได้พัฒนาศูนย์ดังกล่าว ทั้งสถานที่และขยายบริการให้มีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ด้วยการยกระดับจาก K-SME Center เป็น K-Expert Center เพิ่มเติมด้านการความรู้การเงินแก่บุคคลทั่วไปทุกระดับ แบ่งเป็นด้าน 1.ความรู้การออมและการลงทุน 2.ความรู้ด้านการกู้เงินและทำธุรกิจ และ 3.ความรู้ด้านการวางแผนประกัน-ภาษี
ทั้งนี้ ภายใน K-Expert Center แบ่งบริการเป็น 3 ส่วน คือ 1.กิจกรรมเวิร์คชอป อบรม สัมมนา ด้านการเงินโดยทีมงาน K-Expert และผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน ต่อคลาสรับไม่เกิน 60 คน หัวข้อ เช่น การลงทุนในหุ้น การลงทุนในกองทุน การวางแผนประกัน การประหยัดภาษี การเริ่มอาชีพเสริม เป็นต้น
2.มุมให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ แบบรายบุคคล เช่น การวางแผนการเงิน การปลดหนี้ ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะเก็บเป็นความลับ โดยจัดห้องให้คำปรึกษาไว้ 3 ห้อง สามารถจองผ่านเว็บไซต์ขอรับคำปรึกษาได้ รอบละ 1 ชั่วโมง และ 3.โซนเรียนรู้ด้วยตัวเอง สำหรับการหาข้อมูล และเสริมความรู้ ผ่านห้องสมุด และสื่อทันสมัยต่างๆ มีข้อมูลอัพเดทตลอดเวลา ที่สำคัญบริการทั้งหมด ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
เขาเผยด้วยว่า ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ปัจจุบัน มีฐานลูกค้าเอสเอ็มอี ประมาณ 750,000 ราย เป็นระดับไมโครประมาณ 520,000 ราย และมีสัดส่วนตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีของสถาบันการเงินทั้งระบบ ประมาณ 29.8% ถือเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนแนวทางการแข่งขันเพื่อจูงใจลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าใช้บริการของธนาคารกสิกาไทย ไม่ได้เน้นเรื่องดอกเบี้ยอัตราต่ำ แต่เน้นเรื่องการส่งเสริมความรู้และบริการอย่างใกล้ชิด ซึ่งโครงการ K-Expert รวมถึง K-Expert Center เป็นหนึ่งในบริการที่มอบให้เอสเอ็มอี
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *