xs
xsm
sm
md
lg

แต่งโฉม “ดีบุก” ให้งามล้ำ เอกลักษณ์ไทยขายดีทุกเทศกาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตอนเด็กๆ สำหรับคนวัย 35 ปีขึ้นไป ในชั้นเรียนคงเคยท่องจำกันว่า ประเทศไทยมีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ ทรัพยากรธรรมชาติ “แร่ดีบุก” แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนไทยเกิดการเรียนรู้ว่า ถ้าจะส่งออกเฉพาะวัตถุดิบธรรมชาติ วันหนึ่งจะต้องถึงทางตัน เพราะทรัพยากรธรรมชาตินับวันมีแต่หมดไป ทางออกที่ยั่งยืนมากกว่า คือ นำวัตถุดิบมาแปรรูปสร้างมูลค่า ขายได้ราคาสูงขึ้น ในขณะที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง

ดังนั้น เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว “คิว อรุโณรส” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกพิวเตอร์ จำกัด ถือเป็นผู้บุกเบิกนำแร่ “ดีบุก” มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ ทั้งในครัวเรือนและชีวิตประจำวัน และที่สำคัญได้ใส่เอกลักษณ์ความเป็นไทยลงไปในผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบความต้องการของลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเมืองไทย จนทำให้สินค้าได้รับความนิยมอย่างสูง และยืนยันเป็นผู้นำวงการมาจนถึงปัจจุบัน

คิวเล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในเมืองไทยแทบไม่มีใครรู้จักงานเครื่องใช้จากแร่ดีบุกเลย โดยการผลิตจะมีแค่บริษัทจากประเทศฝรั่งเศสรายหนึ่งเข้ามาตั้งโรงงานในเมืองไทย เพื่อใช้วัตถุดิบในไทยผลิตแล้วส่งกลับไปขายยังประเทศตัวเอง ขณะที่ส่วนตัวเมื่อได้รู้ถึงคุณสมบัติของเครื่องใช้จากดีบุก ที่ไม่เกิดสนิม เนื้อสวยงาม น้ำหนักเบา และยังช่วยถนอมอาหารได้ด้วย ทำให้เกิดความสนใจ พร้อมเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงบุกเบิกธุรกิจเครื่องใช้จากดีบุกขึ้น

“ตอนที่ผมคิดจะทำธุรกิจนี้ ในเมืองไทยแทบจะไม่มีขายเลย แต่ด้วยคุณสมบัติที่น่าสนใจ ในต่างประเทศใช้กันมานับร้อยปีแล้ว โดยเฉพาะชาวยุโรปทำเป็นแก้วดื่มเบียร์ ซึ่งจะช่วยเก็บความเย็นได้ดียิ่ง ทำให้ผมสนใจที่จะทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้บ้าง เพราะส่วนหนึ่งตอนนั้นแร่ดีบุกราคาค่อนข้างต่ำ ผมเลยเริ่มจากเข้าไปศึกษา ประกอบกับหาคนที่มีความรู้มาถ่ายทอดให้” เจ้าของธุรกิจระบุ และเล่าต่อว่า

กำหนดจุดยืนสินค้าตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่า ต้องการให้เป็นสินค้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย เพื่อจะส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงขายนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามายังเมืองไทย เนื่องจากมองทิศทางการท่องเที่ยวไทยนับวันจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะนับจากวันแรกที่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ธุรกิจแจ้งเกิดและเติบโตขึ้นมาได้ตามการท่องเที่ยวเมืองไทยอย่างแท้จริง

“เบื้องต้นผมให้ทีมเซลส์ไปเสนอขายสินค้าที่ร้าน “นารายณ์ภัณฑ์” บอกว่าเดี๋ยวนี้เมืองไทยเราทำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้จากดีบุกได้เองแล้วนะ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีมาก เรียกได้ว่าเราแจ้งเกิดจากร้านนารายณ์ภัณฑ์เลย หลังจากนั้นก็ได้รับออเดอร์ต่างชาติต่อเนื่อง และยิ่งการท่องเที่ยวไทยบูมมากขึ้นเท่าไร สินค้าของเราก็ได้รับประโยชน์ขายดีขึ้นตามไปด้วย”

เขาระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้สินค้าได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวต่างชาติ คือการออกแบบลวดลายที่คงเอกลักษณ์ไทยอย่างลึกซึ้ง โดยเป็นฝีมือของทีมช่าง 10 หมู่ ซึ่งผู้ออกแบบล้วนจบการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลป์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ควบคู่กับประโยชน์ใช้สอย และด้วยคุณสมบัติของแร่ดีบุกที่ช่วยถนอมอาหารได้ด้วย ทำให้ได้รับความนิยม เช่น การออกแบบให้เป็นโหลสำหรับเก็บใบชา เพราะดีบุกมีคุณสมบัติดูดซับความชื้น จึงเก็บใบชาได้ดีมาก

ในด้านการผลิตนั้น เป็นลักษณะกึ่งงานแฮนด์เมด โดยจะแกะสลักตัวต้นแบบด้วยมือ แต่กระบวนการหล่อและทำลวดลายจะใช้เครื่องจักร และสุดท้ายกลับมาตกแต่งด้วยมืออีกครั้ง สินค้าที่ทำมีรวมกันนับพันรายการ เช่น แก้ว จาน ชาม เชิงเทียน พวงกุญแจ เครื่องใช้บนโต๊ะทำงาน ฯลฯ โดยจะมีออกแบบใหม่ทุกๆ 2 ชิ้นต่อเดือน ราคาขายมีตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหลักแสนบาท โดยราคาสินค้าแม้จะชนิดเดียวกัน แต่อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามราคาขึ้นลงของวัตถุดิบแร่ดีบุก ซึ่งปัจจุบันอยู่ราว 600 บาทต่อกิโลกรัม โดยแหล่งวัตถุดิบแร่ดีบุกจะสั่งซื้อจากทางภาคใต้ของไทย ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณมากเหลือเฟือ

คิวระบุด้วยว่า ตั้งแต่ทำธุรกิจนี้มาถือว่าเติบโตด้วยดีเสมอมา จะมีช่วงหนึ่งพบอุปสรรค หลังจากที่นักลงทุนรายอื่นๆ เห็นว่าตลาดนี้การเติบโตสูง ทำให้มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจำนวนมาก รวมกว่า 20 โรงงาน เกิดการลอกเลียนแบบสินค้า แล้วขายตัดราคา

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยค่าวัตถุดิบแร่ดีบุกช่วงหนึ่งดีดตัวขึ้นสูง จากตอนทำธุรกิจเริ่มแรกแค่ 120 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นสูงไปถึง 1,000 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้รายที่เน้นขายถูกไม่สามารถอยู่รอดได้ ในขณะที่สินค้าของบริษัทเน้นจับตลาดบนอยู่แล้ว และมีฐานลูกค้าประจำค่อนข้างแน่นอน แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นก็ยังสามารถประคองให้ผ่านวิกฤตมาได้

ด้านช่องทางขายนั้น เขาเผยว่า ในปัจจุบันสัดส่วนตลาดในประเทศกว่า 70% จะส่งผ่านทางร้าน Duty Free ทั้งที่ซอยรางน้ำ และในสนามบิน เฉพาะช่องทางนี้อย่างเดียว ยอดขายแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติปีละกว่า 30 ล้านบาท นอกจากนั้นจะรับทำตามออเดอร์เป็นสินค้าพรีเมียมให้แก่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ มอบในเทศกาลสำคัญ และส่งออกต่างประเทศ

“สินค้าของเราต้องยอมรับว่าสำหรับคนไทยแล้วถือว่าเป็นของแพง จึงไม่นิยมใช้มากนัก ถ้าจะซื้อก็เป็นของฝาก แล้วเอาไปเก็บ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว รู้คุณสมบัติเครื่องใช้ดีบุกอยู่แล้ว และสำหรับคนที่มาเที่ยวพร้อมที่จะจ่ายอยู่แล้ว เมื่อรวมเข้ากับการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ไทย ทำให้สินค้าได้การตอบรับด้วยดี”

เขายอมรับว่า จากความนิยมท่องเที่ยวเมืองไทยของชาวจีน มีส่วนสำคัญมากทำให้ธุรกิจได้รับอานิสงส์ขายดีสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ไม่ต้องขึ้นลงตามฤดูกาลท่องเที่ยวเหมือนในอดีต

“เมื่อก่อนการท่องเที่ยวไทยจะมีหน้าไฮซีซัน กับหน้าโลว์ซีซัน แต่ทุกวันนี้เศรษฐกิจของจีนเติบโตสูงมาก ทำให้มีชาวจีนมาเที่ยวเมืองไทยเยอะขึ้นเรื่อยๆ ปีละหลายล้านคน และมากันแทบตลอดทั้งปี ที่สำคัญคือ ประเทศจีนไม่มีแร่ดีบุก เลยหาสินค้าลักษณะนี้ที่บ้านเกิดไม่ได้ เมื่อมาเที่ยวเมืองไทยเขาจึงนิยมซื้อกลับไปใช้อย่างมาก” เจ้าของธุรกิจระบุ

ด้านการแข่งขัน สำหรับในประเทศเวลานี้มีโรงงานผู้ผลิตหลักแค่ 2-3 แห่งเท่านั้น เทียบกับปริมาณความต้องการของตลาดแล้วการแข่งขันจึงยังไม่สูงนัก ทว่า คู่แข่งที่แท้จริงคือ โรงงานผู้ผลิตของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบ ความรู้ และเทคโนโลยีเช่นกัน ดังนั้น แนวทางในการต่อสู้ด้านส่งออกนั้น ทางบริษัทให้ความสำคัญเรื่องของฝีมือ และพยายามสร้างสรรค์สินค้าที่มีเอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมไทยเสมอ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


“คิว อรุโณรส” กรรมการผู้จัดการ  บริษัท บางกอกพิวเตอร์ จำกัด













กำลังโหลดความคิดเห็น