xs
xsm
sm
md
lg

แรงบันดาลใจ หรือ ตั้งใจเลียนแบบ? "ชิงช้า(ตก)สวรรค์ ไมค์ทองคำ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกครั้งที่มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการลอกเลียนแบบอย่างไร้อย่างอายของรายการในประเทศไทย "ชิงช้าสวรรค์ ไมค์ทองคำ" จนถูกตั้งข้อครหาว่าเหตุใดจึงดีไซน์การโชว์ ออกแบบคอสตูม หรือแม้กระทั่งท่าเต้น ให้ละม้ายคล้ายคลึงกับโชว์ของนักร้องสาวชื่อดัง "Katy Perry" ได้ขนาดนี้ ชวนให้สงสัยว่าภาพที่เห็นเป็นเพราะ ได้รับแรงบันดาลใจหรือตั้งใจดูถูกคนดูด้วยการลอกเลียนแบบกันแน่?

 
ขโมยไอเดีย=ฆ่าตัวตายทางอ้อม

ประเด็นการก๊อบปี้เลียนแบบชาวต่างชาติตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักบนโลกออนไลน์ขึ้นอีกครั้ง เมื่อสมาชิกหมายเลข 1899456 ตั้งกระทู้บนเว็บไซต์พันทิป “ทำไมคนจัดหน้าด้านขนาดนี้? กับรายการ ชิงช้าสวรรค์ ไมค์ทองคำ” โดยเป็นการตั้งข้อสังเกตการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง "ชิงช้าสวรรค์ ไมค์ทองคำ" ที่ออกอากาศทางช่อง 1 เวิร์คพอยท์ ที่มีการดีไซน์โชว์ การออกแบบคอสตูม และท่าเต้น คล้ายกับโชว์ของนักร้องสาวมหัศจรรย์ "Katy Perry" จากเพลง "Roar" ในรายการ The X Factor ที่ออกอากาศเมื่อปี 2013 ชนิดถอดแบบกันมาเลยก็ว่าได้ ความว่า

"คืออะไรตอบที คิดว่าคนไทยโง่ขนาดนั้นเลยเหรอ ถึงได้กล้าทำอะไรเเย่ๆ เเบบนี้? ฟังเเละดูรายการนี้มานานเพราะพ่อกับเเม่ชอบฟังเพลงลูกทุ่งมาก เราเลยดูตามเเละรายการนี้ก็ทำโชว์ดีด้วย เเต่ไม่เข้าใจว่าคนที่ทำโชว์ กำลังคิดอะไรอยู่? คืออย่ามาใช้คำว่า ‘แรงบันดาลใจ’ เเต่มันคือ ‘การลอกเลียนเเบบเเบบหน้าด้านๆ’ งั้นถ้ามันง่ายเเบบนี้ต่อจากนี้เห็นโชว์ของต่างประเทศอันไหนดูดีก็ก๊อบฯ เเบบนี้มาหมดเลยใช่ไหม?"




โดยการโชว์ดังกล่าวเป็นเพลง "คิดถึงบ้านเกิด" ของผู้เข้าแข่งขัน "พัน จักรพันธ์" ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา เป็นการเปิดตัวด้วยการดีไซน์เวทีให้เป็นขั้นบันไดทรงกลม พร้อมแสงสี ก่อนแดนซ์เซอร์จะเดินออกมาในชุดสูททักซิโดสีดำ พร้อมกระเป๋าเจมส์บอนด์ ก่อนโซโลด้วยท่วงท่าที่มีความคล้ายกับโชว์ของสาว "Katy Perry"

ภายหลังจากเจ้าของกระทู้ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์พันทิปเข้ามาแสดงความเห็นในเชิงเปรียบเทียบกันเป็นจำนวนมากว่า โชว์ทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน รวมถึงยกตัวอย่างกรณีความเหมือนของคอนเสิร์ตไทยและศิลปินต่างประเทศอีกมากมาย พร้อมตั้งคำถามว่าผู้จัดกระทำเช่นนี้ เพราะได้รับแรงบันดาลใจหรือจงใจลอกเลียนแบบกันแน่?




เหตุการณ์การลอกไอเดียเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ทว่า ยังมีเหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง คือเพลงไทยอีกหลายเพลงที่ทำนองละม้ายคล้ายคลึงกับชาวต่างชาติ เป็นการนำดนตรีของคนอื่น มาดัดแปลง อาจจะทั้งเพลง หรืออาจแค่บางท่อน นำมาเปลี่ยนเนื้อร้อง และกลายเป็นประเด็นให้ได้ถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็มีประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเกิดขึ้นเช่นกันในซิงเกิลใหม่ล่าสุดของป็อปร็อกอย่างบอดี้สแลม ที่มีการนำเอาไปเทียบเคียงว่าคล้ายกับบทเพลงของ THIRTY SECONDS TO MARS ซึ่งแน่นอนว่าการเลียนแบบนี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และก็เชื่อว่าคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เพลงไทยจะต้องเผชิญกับคำครหาลักษณะนี้

หรือแม้แต่ เรื่องราวของวง Musketeers ที่เกิดเป็นกระแสดรามาอย่างหนัก หลังถูกจับผิดว่า เพลงนี้ไปคล้ายคลึงกับเพลง Out of My Mind ซิงเกิลทำนอง Pop ฟังสบาย ซึ่งเป็นซิงเกิลพิเศษจากอัลบัม Breakthrough ของศิลปินสาว Colbie Caillat ที่ออกมาในปี 2009 ซึ่งวางก่อนเกือบ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม การเลียนแบบผลงานของผู้อื่นถือว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะกล่าวว่ามันคือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่แรงบันดาลใจนั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้เกิดไอเดียต่อยอด ไม่ใช่การลอกเลียนแบบแบบอย่างไร้ยางอาย ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย

 
 
ชื่นชมขนาดไหน ก็หมดศรัทธาได้!

จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น “กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช” หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ให้ความเห็นกับทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ในเชิงที่ว่ารายการชิงช้าสวรรค์ ไมค์ทองคำ เป็นรายการที่ถือว่าใหญ่พอสมควร ควรจะมีมาตรฐานในการควบคุมเรื่องคุณภาพให้สูงขึ้นมากกว่านี้

“จากที่เห็นในสื่อ ที่เกิดกระแสต่อต้านว่าลอกเลียนอย่างน่าเกลียดในครั้งนี้ เพราะโชว์ที่แสดงมีลักษณะเหมือนเคธี เพอร์รี ศิลปินต่างประเทศแบบมากเกินไป รายการชิงช้าสวรรค์ ไมค์ทองคำ เป็นรายการในสื่อช่องใหญ่ที่เรตติ้งก็ไม่น้อยแล้ว ควรจะมีมาตรฐานควบคุมเรื่องคุณภาพให้สูงขึ้น

ด้วยความที่ในยุคสมัยเปลี่ยน การติดตามข่าวสารก็รวดเร็วมากขึ้น ไม่แปลกที่ผู้ชมอาจจะจับผิดในรูปแบบการโชว์ของรายการได้ และการกระทำเช่นนี้อาจทำให้ผู้ชมเสียความรู้สึก และเสียศรัทธาในรายการก็เป็นได้
แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจุดประสงค์หลักที่รายการทำเช่นนี้เป็นเพราะเหตุใด อาจจะมาจากแรงบันดาลใจหรือเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ๆ ผลตอบรับที่ได้กลับมาคงไม่ใช่เรตติ้งที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน

“แน่นอนว่ารายการจะดับลง เพราะผู้ชมยุคนี้ก็ติดตามข่าวสารมากขึ้นผ่านทางสื่อเครือข่ายสังคมต่างๆ และเสียศรัทธาในแบรนด์ของรายการไป ซึ่งแน่นอนก็จะมีผลต่อผู้สนับสนุนรายการและเจ้าของสินค้าต่างๆ ที่จะมาลงโฆษณาอีกด้วย”




ทว่า ก็มีผู้คนอีกไม่น้อยเช่นกันที่คิดว่าการกระทำเหล่านี้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานไม่ใช่การลอกเลียนแบบแต่อย่างใด หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด เขาตอบกลับเพียงว่าถ้าเป็นการให้เครดิตก็อาจจะใช่

“ถ้าไม่ให้เครดิต ก็เรียกได้เต็มปากว่าลอกเลียนแบบครับ และยิ่งมีลักษณะสำเนาถูกต้องขนาดนี้ด้วยแล้ว ยากที่จะให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจอย่างเดียว”

เพราะการสร้างแรงบันดาลใจกับการลอกเลียนแบบแตกต่างกันกันอย่างมาก แรงบันดาลใจคือการนำมาต่อยอดแล้วทำให้ดีขึ้น แต่หากไม่บอกว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร นั่นหมายความว่าเข้าข่ายเลียนแบบ

“หากได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรก็ตาม ในฐานะศิลปิน หรือ นักสร้างสรรค์ ก็ควรที่จะต่อยอดแล้วทำให้ได้ดีขึ้น อาจจะให้เครดิตเคารพผู้ที่คิดมาก่อนด้วย แต่ถ้าทำได้เท่าเดิมหรือแย่กว่า รวมถึงไม่บอกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร อันนั้นก็จะเข้าข่ายลอกเลียนแบบ”


จำไว้...อย่าดูถูกคนดู!

ด้วยความที่ปัจจุบันเป็นยุคของสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น การที่รายการทำเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการดูถูกคนดูอย่างสิ้นเชิง

“ค่อนข้างเป็นการดูถูกคนดู ว่าผู้ฟังเพลงลูกทุ่งจะไม่รู้จักเคธี เพอร์รี แต่รู้ไหมยุคนี้เป็นยุคสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ หากใครเริ่มพบเหตุ แล้วทำการเผยแพร่ข่าวสารแล้ว สุดท้ายทุกคนก็รู้หมดอยู่ดี

ผู้ชมยุคใหม่ไม่ต้องการให้ใครมาหลอก หากเขาเผลอชื่นชมไป แล้วรู้ทีหลังว่า ที่ชื่นชมไปนั้นเป็นของลอกเขามา เขาก็จะยิ่งโกรธและเป็นปฏิปักษ์กับรายการเสียด้วยซ้ำ




การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการฆ่ารายการทางอ้อม เพราะการตกเป็นข่าวในแง่ไม่ดี มีแต่เสียกับเสียทำให้จากคนที่ชื่นชมในตัวรายการหรือแม้แต่กระทั่งผู้สนับสนุนเองก็มีแต่ถอยหนี

“น่าจะเป็นการทำลายแบรนด์รายการโดยตรง หลายคนอาจจะจำได้ ตอนที่ชาวเน็ตจวกรายการ ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ 2013 ว่าก่อเรื่องซ้ำซาก กรณีแก้ผ้าวาดรูป หรือกรณีเอาคนที่ต้องสงสัยว่าป่วยมาออกรายการ หลังจากนั้นรายการดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่ได้รับการยอมรับอีกเลย การเป็นข่าวในแง่ไม่ดี จะทำให้ผู้สนับสนุนรายการถอยหนีอย่างแน่นอน”

หากผลสรุปออกมาว่ารายการลอกเลียนแบบจริง จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างแน่นอน และถึงแม้ไม่จดทะเบียนลิขสิทธิ์เอาไว้ แต่หากมีการคัดลอก เลียนแบบ ผู้ที่คิดขึ้นคนแรกก็สามารถเรียกร้องได้เช่นกัน

“ในกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายการลอกเลียน 'งานนาฏกรรม' ซึ่งหมายถึงงานเกี่ยวกับ การเต้น การทำท่า หรือการแสดง ซึ่งถึงแม้ไม่จดทะเบียนลิขสิทธิเอาไว้ แต่หากมีการคัดลอก เลียนแบบ ผู้ที่คิดขึ้นคนแรกสามารถเรียกร้องสิทธิ์ และแจ้งเจ้าหน้าที่เรื่องถูกละเมิดได้”

หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด กล่าวทิ้งท้ายว่าการประกอบวิชาชีพนั้นต้องมีจรรยาบรรณ เพราะใครๆ ก็อยากให้ผู้อื่นเคารพในสิทธิในตัวของผู้สร้างสรรค์งานเหมือนกันทุกคน

“แน่นอนว่าผิดจรรยาบรรณ ถ้าไม่ได้ประกาศว่าเป็นการเต้นเลียนแบบใคร ยังไง ให้ชัดเจน นอกจากจรรยาบรรณแล้ว ในแง่ของกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ยังมีการคุ้มครองไว้ด้วย เพราะงานสร้างสรรค์ใดๆ ผู้สร้างงานก็คงอยากให้ผู้อื่นเคารพในสิทธิของผู้สร้างสรรค์นั้นกันทุกคน”
 
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น