จะสังเกตได้ว่าเทรนด์ของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในยุคนี้มักจะผันตัวเองมาสร้างธุรกิจเป็น Entrepreneur กันมากขึ้น ขณะที่หนึ่งในธุรกิจยอดนิยม ซึ่งเป็นธุรกิจในฝันของคนรุ่นใหม่หลายๆ คนก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจร้านอาหาร
“ถาวร เอี่ยมมงคลสกุล” หนุ่มวัย 30 และเพื่อนซี้สมัยเรียนวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีก 2 คน ก็เป็นคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความฝันอยากเปิดร้านอาหารของตัวเอง เมื่อประมาณต้นปี 2557 ที่ผ่านมาพวกเขาจึงตัดสินใจเดินตามฝันด้วยการทุบกระปุกนำเงินเก็บของแต่ละคนมาร่วมลงขันเปิดร้านอาหารเกาหลีที่ชื่อว่า “Kimchi Hour”
ฝันของถาวรที่อยากเปิดร้านอาหารเกาหลีเริ่มจุดประกายขึ้นตั้งแต่สมัยที่เขาไปเรียนต่อปริญญาโท MBA ที่สหรัฐอเมริกา แล้วมีโอกาสได้รับประทานอาหารเกาหลีที่โน่น ก็รู้สึกว่าอร่อยดี เป็นอาหารที่รสค่อนข้างจัด คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะชอบเหมือนกัน
ประกอบกับเมื่อดูเทรนด์แล้วเขามองว่าอาหารเกาหลีน่าจะเป็นอาหารกระแสหลักในเมืองไทยได้ เหมือนกับอาหารญี่ปุ่นที่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ก็เลยฟันธงว่าร้านอาหารเกาหลีนี่แหละคือธุรกิจในฝันของเขา
ถาวรมุ่งมั่นกับการปั้นฝันให้กลายเป็นจริง ด้วยการชักชวนหนึ่งในหุ้นส่วน ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านอาหารอยู่ที่สหรัฐอเมริกา บินไปเข้าคอร์สเรียนทำอาหารเกาหลีถึงประเทศเกาหลี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเป้าหมายการกลับมาเปิดร้านอาหารเกาหลีในเมืองไทยกันเลยทีเดียว
“ตอนนั้นผมมีความรู้สึกว่าอยากเปิดร้านอาหารเกาหลีมาก ก็ตั้งใจว่าจะกลับมาเปิดที่เมืองไทยนี่แหละ แต่เราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนเพื่อกลับมาเมืองไทยจะได้ไม่เสียเวลา ระหว่างที่เรียนอยู่สหรัฐอเมริกาผมกับเพื่อนอีกคนก็เลยตระเวนชิมอาหารเกาหลีที่โน่น รวมทั้งบินไปลองชิมอาหารเกาหลี และเข้าคอร์สทำอาหารเกาหลีที่ประเทศเกาหลี แล้วก็ลองลิสต์กันว่าเราจะทำร้านอาหารเกาหลีในคอนเซ็ปต์ไหนดี
พอเรียนจบผมก็กลับมาเมืองไทยในปี 2554 ตอนแรกก็พยายามจะเปิดร้านเลย แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างรู้สึกว่าจังหวะมันยังไม่ใช่ก็เลยต้องพับโปรเจกต์นี้ไว้ก่อน แล้วต่างคนก็แยกย้ายไปหางานประจำทำ ผมไปทำงานด้านบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารกสิกรไทย ทำอยู่ประมาณ 2 ปี จนกระทั่งรู้สึกว่าถึงจังหวะที่ดีแล้วก็ตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วมารวมตัวกับเพื่อนอีกครั้งเพื่อทำร้านอาหาร” ถาวร ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่ม ย้อนเล่าที่มาที่ไปของการเปิดร้าน Kimchi Hour
ที่จริงแล้วธุรกิจร้านอาหารเกาหลีในเมืองไทยเป็นอีกธุรกิจที่จะเห็นว่าในช่วง 4-5 ปีมานี้เริ่มแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ในตลาดมีหลากหลายแบรนด์ให้เลือก ทั้งสไตล์ต้นตำรับจากประเทศเกาหลี และสไตล์ที่ถูกปรับเปลี่ยนรสชาติให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น จึงกลายเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับหน้าใหม่ที่จะกระโดดเข้ามาแข่งในสนามนี้
ด้วยเหตุนี้ถาวรและเพื่อนๆ จึงเลือกที่จะทำร้านอาหารเกาหลีในคอนเซ็ปต์ Modern Korean Cuisine โดยใช้ความหลากหลายของเมนูมาสร้างเป็นจุดขาย โดยปัจจุบันมีกว่า 30 เมนูให้เลือก
“จากที่เราวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าร้านอาหารเกาหลีในเมืองไทยส่วนใหญ่จะขายความเป็นต้นตำรับและโบราณ เพราะมักมีหุ้นส่วนเป็นคนเกาหลี ซึ่งพอเราคุยกันแล้วเราไม่อยากเป็นแบบนั้น มันดูน่าเบื่อ ก็เลยวางคอนเซ็ปต์ร้านให้เป็น Modern Korean Cuisine อยากให้มีความทันสมัยมากขึ้น
ทว่า อาหารเกาหลีสไตล์ดั้งเดิม พวกซุปเต้าหู้ ข้าวยำ ก็ยังมี แล้วเราก็มีอาหารเกาหลีที่ออกแนวทันสมัย อย่างเช่น ไก่ทอดเกาหลี สปาเกตตีไวต์ครีมไข่กุ้งผัดกิมจิ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของทางร้าน เป็นต้น
คือถ้าผมเปรียบเทียบอาหารเกาหลี 2 แคทิกอรีใหญ่ๆ แคทิกอรีแรกคือ ร้านอาหารเกาหลีสไตล์ดั้งเดิมที่อยู่แถวโคเรียนทาวน์ จุดแข็งที่จะใช้ชนกับเขาคือ ของเรามีความทันสมัยมากกว่า เรามีอาหารฟิวชัน มีอาหารเกาหลีสมัยใหม่สไตล์โมเดิร์น เราไม่ได้เลือกเดินแบบนั้น เราใช้ความทันสมัยไปชนกับกลุ่มแคทิกอรีนี้
ส่วนกลุ่มแคทิกอรีที่มีความทันสมัย เป็นแบรนด์ดังๆ มาจากเมืองนอก เรามีความหลากหลายมากกว่าเขา มีเมนูให้ลูกค้าเลือกมากกว่า อย่างเขาเป็นแบรนด์ใหญ่ เขาขยับตัวเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยไม่ง่าย แต่เราเป็นร้านเล็กๆ มีความคล่องตัว ก็สามารถตอบโจทย์ได้ง่ายกว่า เราสามารถเพิ่มเมนูเข้ามาได้เลย ก็จะมีเมนูที่เป็นฟิวชันหลากหลายกว่า”
ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของร้านอาหารได้นั้นเป็นเรื่องของทำเลที่ตั้งร้าน ซึ่งทำเลที่ถาวรและเพื่อนๆ เลือกก็คือ ย่านอารีย์ โดยร้าน Kimchi Hour จะตั้งอยู่ระหว่างซอยอารีย์สัมพันธ์ 5 กับ 6 ตรงข้ามกรมประชาสัมพันธ์ มีลูกค้ากลุ่มคนทำงานเป็นลูกค้าหลัก
ส่วนราคาอาหาร ถ้าเป็นของรับประทานเล่น พวกเขาเซตราคาไว้ไม่ถึง 100 บาท แต่ถ้าเป็นอาหารจานหลักจะเริ่มต้นที่ 119 บาทขึ้นไป ฉะนั้นงบประมาณสำหรับการรับประทานอาหารที่ร้าน Kimchi Hour เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อมื้อ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการรับประทานอาหารเกาหลีในย่านโคเรียนทาวน์เฉลี่ยต่อหัวจะตกอยู่ที่ประมาณ 500 บาทขึ้นไป
“เราไม่ได้ตั้งราคาสูงมาก เพราะอยากให้ลูกค้าสามารถกลับมารับประทานได้บ่อยๆ เราไม่อยากเป็นร้านที่จะมากินอาหารสักครั้งแล้วต้องคิดเยอะ ไม่อยากเป็นแบบนั้น แต่ถามว่าราคาอาหารที่ร้านถูกไหม ก็ไม่ถูกนะ เพราะโดยส่วนตัวผมเชื่อว่าของถูกแล้วดีมันไม่มีอยู่จริง แต่ถามว่าคุ้มค่าไหม ผมมั่นใจว่าอาหารในร้านคุณภาพคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าจ่าย
สาเหตุที่ผมขายถูกไม่ได้ เพราะอาหารในร้านผมตั้งใจให้มีคุณภาพสูง เราใช้วัตถุดิบที่ดี พยายามให้มันเป็นต้นตำรับมากที่สุด เพราะฉะนั้นมันก็ต้องใช้ของเกาหลีแท้ๆ ก็เลยทำให้ต้นทุนเราสูง อย่างน้ำซุปเราก็เคี่ยวจากวัตถุดิบธรรมชาติจริงๆ ไม่ได้ใช้ผงซุปเนื้อสกัด แล้วเราก็ไม่ใส่ผงชูรสนะ ไม่ว่าจะเป็นเมนูไหนไม่ใส่เลย เพราะเราอยากให้ลูกค้าได้รับประทานของที่มีคุณภาพดีจริงๆ
ส่วนสาเหตุที่เลือกทำเลย่านอารีย์ เพราะผมรู้สึกว่าเป็นทำเลที่ดี ผมคิดว่ายุคสมัยใหม่ร้านอาหารมันไม่สามารถเปิดเป็นสแตนด์อะโลนได้ ก็คือผมไม่สามารถไปเช่าตึกแถวเปิดร้านอาหารอยู่ร้านเดียวโดยที่แถวนั้นไม่มีร้านอาหารเลย แล้วจู่ๆ คนขับรถผ่านมาแล้วแวะรับประทาน มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว
ยุคสมัยนี้มันต้องรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ เพราะลูกค้าเขาต้องการตัวเลือกมากขึ้น ผมจึงต้องมาอยู่ในย่านที่มีความหลากหลาย ในย่านที่มีร้านอาหารเยอะๆ แล้วที่สำคัญในย่านอารีย์ยังไม่มีร้านอาหารเกาหลีเลย ถ้าจะมีที่ใกล้สุดก็อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือต้องออกไปทางลาดพร้าว แล้วค่าเช่าที่นี่ก็ไม่ได้แพงมาก ก็เลยเลือกเปิดร้านในย่านนี้
แต่ก็อาจมีคนเห็นแย้งว่า การที่ย่านนี้มีร้านอาหารให้เลือกมากมาย แม้จะไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง ก็อาจเป็นคู่แข่งทางอ้อมได้นะ ในประเด็นนี้ผมคิดว่าไม่ว่าร้านเราจะไปอยู่ตรงไหน ถึงแม้ในบริเวณนั้นไม่ค่อยมีร้านอาหารเลย หรือมีตัวเลือกให้ลูกค้าน้อย แต่ถ้าของมันไม่ดีพอมันก็ไปไม่รอดอยู่ดี ฉะนั้น แม้ในย่านอารีย์จะมีร้านอาหารอยู่เยอะก็จริง แต่ถ้าเราทำตัวเองให้มันดีพอ ผมเชื่อว่าลูกค้าก็อยากมารับประทาน”
และเนื่องจาก Kimchi Hour เป็นร้านอาหารเกาหลีที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนหนุ่มรุ่นใหม่ ฉะนั้นแนวทางในการทำการตลาดของพวกเขาก็เหมือนกับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในยุคนี้ที่เมื่อลุกขึ้นมาทำธุรกิจก็เลือกใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย
“เราเป็นร้านใหม่ ไม่ได้มีทุนเยอะมาก ก็เลยโฟกัสไปที่ช่องทางโซเชียลมีเดีย เรามีเฟซบุ๊ก มีอินสตาแกรม และมีเว็บไซต์ แต่ช่วงแรกๆ เราทำแบบไม่ได้จริงจังมากนัก เราโฟกัสไปที่การโฆษณาผ่านเว็บไซต์อาหารมากกว่า เพราะคิดว่ากลุ่มลูกค้าของเราจะเข้าไปใช้บริการ แล้วมีการเชิญพวกนักชิมมาชิมอาหารที่ร้าน เราคิดว่าพวกนี้ก็น่าจะตอบโจทย์ได้
ก็ได้รับการตอบรับที่ดีในระดับหนึ่ง แต่มันไม่ได้หวือหวามากนัก จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็ทำให้รู้ว่าเฟซบุ๊กมันโฆษณาได้ด้วยนะ เราสามารถเลือกทาร์เกตกรุ๊ปที่อยากได้นะ อะไรอย่างนี้
หลังจากอบรมจบ แล้วได้นำความรู้ที่ได้มาต่อยอด หาหนังสือมาอ่านต่อ ก็ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ยอดขายก็เพิ่มขึ้นอีก 200% จากการที่เราโฟกัสไปใช้โซเซียลมีเดียอย่างจริงจัง เรียกว่าตอนนี้มันเป็นแนวทางหลักที่เราใช้อยู่
ถามว่าคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโฆษณาร้านมีเยอะไหม ผมว่ามีเยอะ เพียงแต่ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง เหมือนพวกผมตอนแรกๆ ที่ทำกันแบบผิวเผิน แต่เมื่อได้ศึกษามันอย่างจริงจัง มันเป็นช่องทางที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ง่าย และสะดวก บนต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจใหม่อย่างพวกผม”
ถึงวันนี้ถาวรและเพื่อนๆ ทุ่มเงินลงทุนสำหรับการทำร้าน Kimchi Hour ไปแล้วเกือบ 3 ล้านบาท โดยผ่านไป 6 เดือนแรกก็เริ่มมีรายได้ครอบคลุมรายจ่าย พร้อมๆ กับเริ่มมีกำไรกลับเข้ามาบ้างแล้ว
ในขณะที่เป้าหมายในการคืนทุนพวกเขามองไว้ว่าจะคืนทุนภายใน 4 ปี
“ถ้าเราสามารถรักษามาตรฐานไว้ได้อย่างนี้ ผมว่าภายใน 4 ปีมันน่าจะคืนทุนแน่ๆ ซึ่งถามว่ามันนานไปไหม ผมว่าไม่นานนะ ธุรกิจถ้ามีรีเทิร์น 25% ต่อปีก็น่าจะเป็นธุรกิจที่ดีนะ แต่ถามว่ามีโอกาสที่จะคืนทุนเร็วกว่านั้นไหม มันมี เพราะทุกวันนี้เรากำลังจะขยายร้านเพิ่มเพราะเราเห็นโอกาสมากขึ้น
พอพูดถึงการขยาย เราวิเคราะห์กันเยอะว่าจะขยายออกด้านข้างเพื่อจับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในแอเรียนี้ หรือจะขยายสาขาไปเปิดที่อื่นดี เราดูหลายที่มาก จะเข้าห้าง เข้าคอมมูนิตีมอลล์ หรือไปรูปแบบเดิม ไปหาตึกแถวทำเลดีๆ ในย่านอื่น สุดท้ายตกลงกันว่าจะขยายออกด้านข้างก่อน โดยตอนนี้เราได้เซ้งตึกด้านข้างไว้แล้ว กำลังอยู่ในช่วงของการตกแต่งร้าน
ทุกวันนี้ลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านเขาตั้งใจมารับประทานอาหารอย่างเดียว รับประทานเสร็จปุ๊บแล้วก็ไป ทีนี้เราก็เห็นว่าในย่านนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าที่เขาต้องการใช้เวลาอยู่ในร้านอาหาร ต้องการมานั่งสังสรรค์พูดคุยกัน ซึ่งเขาต้องการร้านที่บรรยากาศดีๆ เราก็อยากจับลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งคิดว่าส่วนที่ขยายเพิ่มน่าจะเปิดให้บริการได้ช่วงประมาณกลางปีนี้
นอกจากนี้ เราตั้งใจจะขยายครัวให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับธุรกิจอื่นที่เรามองไว้ คือ Lunch Box อาหารกล่อง ส่งตามออฟฟิศมื้อกลางวันที่มาด้วยวอลุ่ม ไม่ใช่เป็นดีลิเวอรีนะ ตอนนี้อยู่ระหว่างการวางแผนว่าเราจะจัดบ็อกซ์อย่างไร และเซอร์เวย์ตลาด ก็น่าจะมีช่องทางไปได้
รวมทั้งเราอาจจะทำกิมจิแพกถุงขายด้วย เพราะกิมจิของร้านค่อนข้างได้รับกระแสตอบรับที่ดี ลูกค้าชอบ มีคนขอซื้ออยู่เรื่อยๆ เราก็มองเห็นโอกาสตรงนั้นเหมือนกัน แต่ต้องลองดูความเป็นไปได้ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน ฉะนั้นการที่เราเลือกขยายร้านออกด้านข้างก่อนทำให้เราสามารถทำครัวใหญ่ขึ้นได้ แต่ถ้าเราไปอยู่ตามห้างหรือคอมมูนิตีมอลล์มันไม่สามารถทำได้”
จะเห็นว่าคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงกลุ่มนี้มีแผนที่จะต่อยอดธุรกิจไปอีกมากมาย แต่พวกเขาจะทำได้แค่ไหน และประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น คงต้องติดตามกันต่อไป
สุดท้าย ถาวรได้ฝากข้อคิดถึงคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่อยากผันตัวเองมาเป็นเถ้าแก่ว่า “โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าการเป็นผู้ประกอบการไม่ได้เหมาะกับทุกคน ถึงแม้กระแสโลกทุกวันนี้ทุกคนกำลังมองหาอิสรภาพทางการเงิน การเป็นเจ้านายของตัวเอง แต่ผมเชื่อมั่นว่าไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะฉะนั้นอย่ากระโจนมาตามกระแส ให้มองตัวเองดีๆ แต่ถ้าตัดสินใจแล้วคิดว่าอยากลองทำผมก็สนับสนุนให้ลอง แต่อย่ามาแค่ใจ ให้คิดเยอะๆ
คุณสมบัติที่ผมมองว่าสำคัญที่สุดของการเป็นผู้ประกอบการ คือ อย่าหยุดเรียนรู้ อันนี้สำคัญมาก ตอนแรกเราอาจจะไม่ได้เก่ง เราอาจจะไม่ได้รู้จริง แต่ถ้าเราไม่หยุดเรียนรู้ เราก็จะไปต่อได้เรื่อยๆ ผมเชื่ออย่างนั้น”
ใครสนใจอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือจับคู่ธุรกิจกับถาวรและเพื่อน ติดต่อได้ที่ www.kimchihour.com หรือโทร. 08-5936-3117
ข้อมูลโดยนิตยสาร SMEs PLUS
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *