ทุกคนคงมีประสบการณ์ เวลาวางแก้วใส่น้ำเย็นลงบน “ที่รองแก้ว” ไม่นานบนที่รองแก้วจะนองไปด้วยน้ำที่หยดซึมออกมาจากรอบๆแก้วเต็มไปหมด ต้องคอยนำไปเททิ้งบ่ายๆ ก่อให้เกิดความไม่สะดวก
เรื่องเล็กๆ แบบนี้คนทั่วไปอาจมองข้าม แต่สำหรับในสายตาของเซียนออกแบบ หยิบประเด็นดังกล่าว มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ “ที่รองแก้วกระดาษใยสับปะรด” ด้วยการนำกระดาษใยสับปะรดที่เป็นเส้นยาวๆ ขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร มาม้วนกลมจนใช้เป็นที่รองแก้ว ก่อประโยชน์ซึมซับน้ำได้ดี ขณะเดียวกัน ยังสวยงาม กลายเป็นจุดนัดระหว่าง “การใช้งาน” และ “ความสวยงาม” อยู่รวมกันอย่างลงตัว
ผลงานดังกล่าว สร้างสรรค์โดย CCC OBJECTS ซึ่งเป็นทีมรับงานออกแบบผลิตภัณฑ์นานาชนิด ภายใต้การนำของ “ภัทรพล จันทร์คำ” กูรูด้านการออกแบบ และยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์ ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี
ไอเดียเบื้องต้นของที่รองแก้วกระดาษใยสับปะรด ที่ตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า “PUNN” มาเกิดการแก้ปัญหาการใช้งานส่วนตัว ตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
ภัทรพล เล่าให้ฟังว่า ด้วยหน้าที่เป็นนักออกแบบ ในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ต้องแสวงหาวัสดุนานาชนิดมาทดสอบใช้ประโยชน์ ซึ่งเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ได้ลองนำกระดาษใยสับปะรดมาใช้เป็นวัสดุหนึ่งในการทำเฟอร์นิเจอร์ ทำหน้าพบคุณสมบัติเด่นของกระดาษจากใยธรรมชาติของพืชชนิดนี้ว่า มีความเหนียวแน่นสูง และซึมซับน้ำได้ดี เลยลองนำเศษกระดาษใยสับปะรดที่เหลือทิ้ง มาตัดเป็นเส้นยาว แล้วม้วนเป็นที่รองแก้วเพื่อใช้ส่วนตัว
ที่รองแก้วกระดาษใยสับปะรด ที่เขาทำขึ้นใช้เอง ปรากฏว่า ทำงานได้ดีอย่างยิ่ง เพราะการม้วนลักษณะใช้ส่วนสันกระดาษรับน้ำหนัก จะมีความแข็งแรงเพิ่มสูงเป็นทวีคูณ และยังทำให้สามารถซึมซับน้ำที่หยดลงมาได้เร็วกว่า นอกจากนั้น ด้วยคุณสมบัติ ของกระดาษใยสับปะรดที่ระบบอากาศได้ดีด้วย ทำให้หลังจากซับน้ำแล้ว เพียงปล่อยวางไว้เฉยๆในอุณหภูมิปกติ ก็จะแห้งได้ในเวลาเร็ว จึงไม่เกิดปัญหาเกิดเชื้อราขึ้น
“จากที่ทำใช้งานส่วนตัว เลยเห็นว่า มันได้งานได้ดีจริงๆ ในขณะที่ มองไปที่สินค้าชนิดนี้ ในท้องตลาด กลับไม่มีสินค้าที่ตอบโจทย์เรื่องการใช้งานควบคู่กับความสวยงามได้ดีจริงๆ เลย อย่างที่รองแก้วทั่วไป ที่ดีไซน์ดีก็จะพบปัญหาน้ำนองเต็มไปหมด บางตัวซับน้ำพอได้ ก็ขาดความสวยงาม ทำให้ผมแน่ใจว่า ที่รองแก้วจากกระดาษใยสับปะรดมีโอกาสเชิงพาณิชย์ เพราะประสานกันได้ทั้งประโยชน์ใช้สอย และสวยงาม สามารถเป็นได้ทั้งของแต่งบ้าน และของขวัญของฝากด้วย” นักออกแบบหนุ่มเผย
ด้านการผลิต ยังเชื่อมเพื่อช่วยเหลือสังคม ด้วยการไปสอนอาชีพให้แก่กลุ่มแม่บ้าน และคนพิการ เพื่อดึงมาเป็นแรงงาน ก่อให้เกิดการสร้างงานและเพิ่มรายได้ ขณะที่วัตถุดิบกระดาษใยสับปะรด รับมาจากโรงงานผลิตที่ จ.เพชรบุรี แหล่งปลูกสับปะรดสำคัญของประเทศ
ผลงานที่รองแก้วฯ “PUNN” มีด้วยกัน 3 ขนาด ได้แก่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เซนติเมตร ราคา 135 บาท เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร ราคา 450 บาท และเส้นผ่าศูนย์กลาง 27 เซนติเมตร ราคา 750บาท ทั้งหมดทำขึ้นด้วยกระบวนหัตถกรรมแท้ๆ แต่ละชิ้นจะมีลวดลายและสีสันแตกต่างกันไป โดยเป็นสินค้าหนึ่งเดียวในโลก และยังเข้ากับกระแสสิ่งแวดล้อม เพราะใช้วัสดุธรรมชาติ 100% ซึ่งปัจจุบัน สินค้าตัวนี้มีคำสั่งส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เป็นต้น ส่วนในประเทศจะขายตามร้านสินค้าดีไซน์ต่างๆ เฉลี่ยผลิตประมาณ 1,000 ชิ้นต่อเดือน
แม้ดูภายนอก กระบวนการทำที่รองแก้วกระดาษใยสับปะรด จะไม่ซับซ้อนนัก แต่ถ้าคิดลอกเลียน กลับไม่ใช่เรื่องง่าย ภัทรพลให้เหตุผลว่า วัสดุกระดาษใยสับปะรดที่ได้คุณภาพหาได้ค่อนข้างยาก ประกอบกับขั้นตอนการม้วนที่ต้องอาศัยแรงงานที่ชำนาญ จึงจะม้วนได้แน่นสนิท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การมีความสามารถด้านผลิตออกแบบและพัฒนาสินค้าอยู่กับตัวเอง แม้ว่าในอนาคตอาจจะถูกลอกเลียน แต่ก็สามารถให้กำเนิดสินค้าใหม่ได้เสมอ ฉีกหนีคู่แข่งไปได้เรื่อยๆ
“ทุกครั้งที่ผมสอนลูกศิษย์ ผมจะบอกย้ำพวกเขาเสมอว่า อย่าไปกล้าว่า จะถูกเลียนแบบ เพราะการถูกเลียนแบบ ก็แสดงให้เห็นว่า สินค้าของเรามีความน่าสนใจจนคนอื่นต้องมาเดินตาม ซึ่งตราบใด ที่เรามีความสามารถอยู่กับตัวเอง ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ได้เสมอ ในขณะที่คนที่คิดแต่จะเลียนแบบ ก็ต้องตามเราตลอดไป” อาจารย์ ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบฯ กล่าว
โทร.08-3949-2295 , FB/IG/LINE:cccobjects
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *