xs
xsm
sm
md
lg

CCC Objects ฟื้นชีพกระดาษใยสับปะรด สู่งานดีไซน์ที่เจ้าของต้องการให้เลียนแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อเกิดการตั้งคำถาม จึงจำเป็นต้องหาคำตอบ และนั่นกลายเป็นที่มาของแบรนด์ “CCC Objects” ผลิตภัณฑ์เปี่ยมไอเดีย พร้อมช่วยลดขยะให้โลกใบนี้ ด้วยการนำกระดาษใยสับปะรดมาต่อยอดเป็นสินค้าดีไซน์ที่ไม่ทิ้งฟังก์ชันการใช้งาน พร้อมทลายความคุ้นชินการใช้งานสิ่งของในชีวิตประจำวัน

สามพี่น้องนักคิดตระกูล “จันทร์คำ” ได้แก่ โอภาส, ภัทรพล และอรรถพล ซึ่งแต่ละคนก็มีอาชีพของตนเอง แต่สิ่งที่สามพี่น้องชื่นชอบเหมือนกันคือ งานศิลปะ จึงได้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “CCC Objects” ขึ้น เพื่อรังสรรค์ผลิตภัณฑ์แฝงไอเดีย ที่เกิดจากการนำของเหลือใช้ที่หลายคนมองว่าเป็นขยะนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ แถมยังช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านในท้องถิ่นอีกด้วย

CCC Objects อยู่ภายใต้การบริหารธุรกิจของน้องชายคนเล็ก 'อรรคพล จันทร์คำ' ผู้ริเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งของใกล้ตัว อย่าง “ที่รองแก้ว” ว่ามีไว้เพื่ออะไร เพราะไม่ว่าจะนำมาใช้หรือไม่มีใช้งานผลลัพธ์ก็ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อนำน้ำเย็นมาใช้กับที่รองแก้วก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย น้ำที่ละลายออกมาก็หยดเปื้อนเสื้อผ้าอยู่ดี

ดังนั้นพวกเขาจึงลองมาขบคิดว่าปัจจุบันสิ่งของหลายอย่างที่ผู้คนคิดค้นขึ้นมานั้นบางครั้งไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานอย่างแท้จริง แต่คนยังคงใช้กันต่อไปด้วยความเคยชิน โดยเฉพาะที่รองแก้ว เป็นสิ่งของชิ้นแรกที่พวกเขาคิดจะปฏิวัติ!

เริ่มจากเฟ้นหาวัสดุที่เหมาะสม ภายใต้คอนเซ็ปต์ต้องไม่ใช่วัสดุที่ทำขึ้นใหม่ แต่เลือกใช้ของเหลือใช้ หรือที่ทุกคนเรียกว่า “ขยะ” นั่นเอง รวมถึงมองเทรนด์ในอนาคตว่าเรื่องกรีน (Green) และอีโค (Eco) มาแน่ จึงเจาะจงไปที่ภาคการเกษตรที่พวกเขาพบว่าหลายประเทศร่ำรวยจากการทำเกษตร แต่สำหรับเมืองไทยกลับตรงกันข้าม ดังนั้นจึงคิดหาแนวทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรตามกำลังที่พวกเขาจะทำได้

การทำงานวิจัยและศึกษาข้อมูลทางการเกษตรเป็นสิ่งแรกที่พวกเขาทำ กระทั่งพบว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสับปะรดได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยส่งออกประมาณ 4 ล้านตัน/ปี ขณะที่เปลือกและใบถูกทิ้งอย่างไร้ค่า ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐฯ ก็ให้การสนับสนุนการทำกระดาษจากใยสับปะรด แต่กลับไม่หาตลาดให้ ทำให้ชาวบ้านต้องพับโครงการที่จะหารายได้เพิ่มไป ดังนั้นพวกเขาจึงคิดพลิกฟื้นกระดาษใยสับปะรดขึ้นมาอีกครั้งเพื่อนำมาทำที่รองแก้ว

“ผมใช้เวลาคิดเยอะ แต่ใช้เวลาทำน้อยมาก เพราะผมเชื่อว่าหากทุกอย่างได้ผ่านกระบวนการคิดที่รอบคอบ ถี่ถ้วนแล้ว จะใช้เวลาลงมือทำไม่นาน ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นง่ายกว่าการทำไปแก้ไขไป ดังนั้นเมื่อผมคิดที่จะนำกระดาษใยสับปะรดมาต่อยอดก็เริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ เลือกใช้สันกระดาษที่ผู้คนไม่เคยมองว่าสวยนำมาม้วนเพื่อทำเป็นที่รองแก้ว ซึ่งจะช่วยซับน้ำได้ ไม่ต้องกลัวขึ้นรา เพียงหมั่นนำออกไปตากแดดหลังใช้งานก็จะช่วยยืดอายุได้ยาวนานขึ้น จากคุณสมบัติของกระดาษใยสับปะรดไม่เปื่อยยุ่ยง่าย ซับน้ำได้ดี ดังนั้นจึงเหมาะนำมาทำที่รองแก้วได้เป็นอย่างดี”

เมื่อมุ่งมั่นที่จะทำที่รองแก้วจากกระดาษใยสับปะรด จึงต้องเดินทางไปถึงแหล่งผลิต ปลุกความคิดของชาวบ้านขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องการตลาดว่าหากผลิตออกมาแล้วมีผู้รับซื้อแน่นอน ซึ่งนายอรรถพลได้ลงพื้นที่และไปร่วมทำกระดาษกับชาวบ้านด้วยตัวเอง จนปัจจุบันชาวบ้านผลิตกระดาษให้ราว 3,000-4,000 แผ่น/เดือน ส่วนขั้นตอนการม้วนเพื่อขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์จะเป็นหน้าที่ของคนพิการ คนตกงาน และกลุ่มแม่บ้านที่ต้องการมีรายได้เสริม ไม่มีการจ้างคนงานประจำ ขอเพียงผู้สนใจทำต้องมีความตั้งใจ มีสมาธิ และเน้นความละเอียดในทุกๆ ชิ้นงาน ก็ร่วมงานกับ CCC Objects ได้แล้ว

คอลเลกชันแรกของ CCC Objects ที่ทำออกมามีชื่อว่า PUNN (พัน) เน้นไปที่ที่รองแก้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9, 18 และ 27 เซนติเมตร ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อไปเป็นของฝาก ของชำร่วย แต่ยังไม่นิยมซื้อไปใช้เอง ทำให้เขาต้องแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมาลงตัวที่คอลเลกชัน PUNN HOM (พันหอม) คือการพกพากลิ่นหอมไปทุกที่ โดยให้กระดาษใยสับปะรดเป็นสื่อกลาง โดยเขามองว่าผู้คนมักจะยอมจ่ายแพงให้กับสินค้าที่สื่อถึงบุคลิกภาพที่ดูดี สิ่งที่คนอื่นเห็นภายนอก รวมถึงกลิ่นที่ยอมจ่ายให้กับน้ำหอมราคาแพง ฉะนั้นกลิ่นจึงมีอิทธิพลต่อผู้คนมาก

ดังนั้นเขาจึงทำพันหอมออกมาในลักษณะของการแขวน ไม่ว่าจะเป็นการแขวนกระเป๋า ในตู้เสื้อผ้า รถยนต์ ห้องประชุม ห้องนอน และห้องน้ำ ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด ผู้คนยอมจ่ายแม้ราคาจะสูงกว่าที่รองแก้วก็ตาม โดยราคาพันหอมอยู่ที่ 350 บาท/ชิ้น ส่วนที่รองแก้วอยู่ที่ 160 บาท/ชิ้น และล่าสุดพัฒนาเป็นแม่เหล็กติดตู้เย็น (ราคา 200 บาท/ชิ้น) ไม่เปลืองพื้นที่ แทนการใช้ถ่านดูดกลิ่น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีไม่แพ้กัน

การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นวัตถุดิบหลักคือ กระดาษใยสับปะรด ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ได้เจาะกลุ่มเทียมหอมแล้ว โดยชูแนวคิด “เทียนไร้ควัน” (Smoke Free Candle) เป็นการนำไม้ไผ่มาเหลา แล้วม้วนกระดาษใยสับปะรดลงไป เติมกลิ่น ที่เพียงนำไปตั้งก็ให้กลิ่นหอม ไม่ต้องจุดเทียนให้เกิดอันตราย เพราะสุดท้ายแล้ว การที่ผู้คนจุดเทียนหอมก็ต้องการกลิ่นเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งเทียนของ CCC Objects ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

อนาคตเขาเตรียมออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเน้นวัสดุเหลือใช้ที่ผู้คนมองไม่เห็นค่า อย่าง หนังปลานิล เปลือกข้าว มาทำเป็นวัสดุสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในช่วงการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม

แต่อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ CCC Objects นายอรรถพลบอกว่า ต้องการให้ผู้คน “เลียนแบบ” เพราะไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจ แต่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายให้เกิดนักคิด และต้องการสื่อสารให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการคิดเพื่อรังสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ บนโลกใบนี้จากสิ่งของที่ถูกมองข้าม

เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีสำหรับ “การคิด” ที่ไม่สิ้นสุด เพราะสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี และหากผู้ประกอบการนำมาปรับใช้ได้ คำว่า “ธุรกิจที่ยั่งยืน” คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

***สนใจติดต่อ 09-9195-6616 หรือที่ www.cccobjects.com***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น