ลำปาง - อุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมกับสถาบันพัฒนาสิ่งทอ นำร่องนำใบสับปะรดที่ไร้ค่าให้วิสาหกิจชุมชนทำเป็นเส้นใย ถักทอเป็น “เสื้อ หมวก กระเป๋า” สำเร็จ พร้อมเร่งหาทางพัฒนาการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อ
นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า หลังจากชาวไร่สับปะรดลำปางที่มีมากกว่า 1,104 ราย ประสบปัญหาผลผลิตที่ปลูกกันมากกว่า 2 หมื่นไร่ราคาตกต่ำทุกปี ทางอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง และสถาบันจึงได้คิดค้นและวิจัยหาแนวทางแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า เช่นเดียวกับการพัฒนาต่อยอดสิ่งเหลือใช้จากใยกล้วย ใยข่า ใยลูกตาล ที่มีผลสำเร็จในการสร้างความแปลกใหม่ให้แก่สินค้าและลดของเหลือทิ้งทางการเกษตรลงได้มาก
โดยนำใบสับปะรดที่เกษตรกรต้องทิ้งจำนวนมากมาทดลอง เนื่องจากใบสับปะรดมีเซลลูโลสที่สามารถให้เส้นใยได้ และให้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าปั้นมือ นำร่องในการใช้เส้นใยสับปะรดผสมใยฝ้าย และย้อมครามธรรมชาติ ต่อยอดการออกแบบและตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอทั้งเสื้อ หมวก ผ้าพันคอ กระเป๋า เป็นผลสำเร็จ
“ขณะนี้ทางกลุ่มสามารถใช้ใยสับปะรดทำเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะจังหวัดลำปางได้แล้ว และถือว่าเป็นจังหวัดแรกในการนำร่องการใช้เส้นใยสับปะรดมาทำผลิตสิ่งทอ”
ด้านนางจันทร์คำ แก้วมา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าปั่นมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเดา กล่าวว่า ปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิกกว่า 100 คน ผลิตผ้าทอมือส่งขายญี่ปุ่น และส่วนตัวชื่นชอบสิ่งที่เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อทางสถาบันฯ ติดต่อเพื่อทดลองนำใยสับปะรดมาทำเป็นเส้นใยจึงได้ตกลงทำ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเฉพาะเส้นใยสับปะรดอย่างเดียวจะไม่สามารถทอเป็นผืนได้ จึงต้องนำมาทดสอบผสมกับฝ้ายในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งกว่าจะได้เส้นใยที่สามารถนำมาถักทอเป็นผืนได้ต้องทดสอบสัดส่วนกว่า 10 ครั้ง สุดท้ายก็สามารถทำได้สำเร็จ แต่ขณะนี้ยังคงต้องปรับปรุงคุณสมบัติของผ้าเพิ่มเติม เนื่องจากตัวผ้ายังมีความหยาบ จึงต้องทำให้เนื้อผ้านุ่มขึ้นเพื่อไม่ให้ระคายเคืองผิว และต้องมีการพัฒนาเครื่องจักรให้มีราคาถูกลงด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ผลิตต่อยอดออกมาโชว์นี้ราคาจะค่อนข้างสูงเพราะอยู่ในขั้นการทดลอง และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำยังราคาสูง ผลิตออกมาจำนวนน้อย หากในอนาคตมีการผลิตจำนวนมากราคาก็จะลดลงตามไปด้วย