xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด BOI กำหนด 13 กิจการเป้าหมายผลักดันลงทุนในเขต ศก.พิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.ฮ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมีมติเห็นชอบเรื่องการกำหนดกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเห็นชอบกำหนดกิจการเป้าหมาย 13 กลุ่ม ครอบคลุม 61 กิจการย่อย ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการเกษตร ประมงและกิจการที่เกี่ยวข้อง (2) การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ (3) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง (4) การผลิตเครื่องเรือน (5) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (6) การผลิตเครื่องมือแพทย์ (7) อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน (8) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (9) การผลิตพลาสติก (10) การผลิตยา (11) กิจการ โลจิสติกส์ (12) นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม (13) กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว

สำหรับกิจการเป้าหมายที่จะให้ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 เขต (ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา) จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับศักยภาพ ข้อจำกัดและความต้องการของแต่ละพื้นที่ ส่วนสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการที่ลงทุนในกิจการเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี

ทั้งนี้ กิจการประเภทอื่นๆ ที่มิได้อยู่ในกลุ่มกิจการเป้าหมาย ก็สามารถยื่นขอรับส่งเสริมเพื่อเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ตามปกติ ซึ่งแม้จะได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่ากิจการเป้าหมาย 13 กลุ่ม แต่ก็จะได้สิทธิประโยชน์สูงกว่าการลงทุนในพื้นที่ทั่วไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ และมีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนปรนเรื่องการกำหนดอายุของเครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศที่จะนำมาใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่กำหนดไว้ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี เป็นอนุญาตให้โครงการที่ขอรับส่งเสริมสามารถใช้เครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศที่อายุไม่เกิน 10 ปี ยกเว้นกรณีการย้ายฐานการผลิตจากบริษัทในเครือเข้ามาลงทุนในไทย จะอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรที่อายุเกิน 10 ปีได้ แต่ทั้งสองกรณีจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรใดๆ และจะต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรจากสถาบัน ที่เชื่อถือได้ และมีรายงานการปรับปรุงซ่อมแซมพร้อมการรับรอง รวมทั้งมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัยและการใช้พลังงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
กำลังโหลดความคิดเห็น