ฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ฟันธงส่งออกของไทยโตระดับต่ำต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2-3 ปี เหตุ ศก.โลกชะลอตัว ในขณะที่ขีดความสามารถต่อการแข่งขันทางธุรกิจของไทยต่ำเพราะแรงงานขาดคุณภาพแต่ค่าจ้างแพง เตือนไม่เร่งพัฒนาอีก 10 ปีเจอเพื่อนบ้านที่เคยตามแซงหน้าแน่ ชี้ต้นตอระบบการศึกษาไม่สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพออกมาได้
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของประเทศไทยปีนี้ อย่างมากทาง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์คาดว่าอย่างสูงเติบโตไม่เกิน 2% และคาดว่าการส่งออกของไทยจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญเป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงงานไทยขาดศักยภาพ ส่งให้ธุรกิจไทยขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอยลงเรื่อยๆ ซึ่งตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วมีผลงานวิจัยหลายแห่งของต่างประเทศระบุว่า การแข่งขันของธุรกิจไทยในอนาคตจะพบปัญหาเชิงโครงสร้างแรงงาน ขาดบุคลากรคุณภาพ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ จนเห็นชัดในช่วง 2-3 ปีให้หลังที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดี ในขณะที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ขาดศักยภาพ ความอดทนต่ำ แถมยังมีค่าแรงสูง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของภาคส่งออกไทยถดถอยลง
จากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งยากจะปรับตัว ทำให้ในระยะ 2-3 ปีจากนี้เชื่อว่าการส่งออกของไทยยังเติบโตอยู่ในระดับต่ำ และที่น่ากังวล ปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านที่เดิมการส่งออกเป็นรองประเทศ เช่น ลาว พม่า และเวียดนาม เป็นต้น แต่ค่าเฉลี่ยความสามารถของแรงงานกลับสูงกว่าของไทยทั้งหมด ถ้าแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง อีก 10 ปีข้างหน้าการส่งออกของไทยจะถูกประเทศเหล่านี้แซงหน้า
“ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทยน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่แรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่การส่งออกน้อยกว่าเรากลับมีความสามารถเพิ่มขึ้น และที่น่ากังวลกว่านั้น ในการส่งออกสินค้าหลายตัวกลุ่มลูกค้าและตลาดทับซ้อนกัน ถ้าเรายังไม่สามารถพัฒนาความสามารถขึ้นไปอยู่กลุ่มบนรวมกับสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย เราจะถูกกลุ่มที่เคยตามหลังแซงขึ้นไป” ดร.เกียรติอนันต์
เขาเสริมต่อว่า สาเหตุที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ขาดคุณภาพนั้น มาจากระบบการศึกษาของไทยไม่สามารถผลิตบุคลากรให้ออกมาตรงความต้องการของตลาด และพร้อมที่จะสามารถทำงานได้ทันที โดยเฉพาะสายอาชีพที่ตลาดต้องการอย่างยิ่ง
“จากที่เราทำการสำรวจเจ้าของกิจการ แทบทั้งหมดจะไม่พอใจคุณภาพเด็กที่จบใหม่เลย โดยเฉพาะกลุ่มจบปริญญาตรีสู้เด็กจบ ปวช. ปวส. ไม่ได้ ดังนั้น เจ้าของกิจการอยากจ้างเด็กจบสายอาชีพมากกว่าเพราะทำงานได้ดีกว่าและทันที แถมค่าจ้างถูกกว่าด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเรามีปัญหาคนจบปริญญาตรีสาขาที่ตลาดไม่ต้องการมากเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายรู้ดีแต่แก้ไขกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาฯ ของไทย มีงบประมาณสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก” เขาเผย
ทั้งนี้ ประเด็นด้านการศึกษาที่ควรได้รับการแก้ไขนั้นต้องพัฒนาให้เด็กคิดเป็น ทำได้ เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยเฉพาะด้านวิชาชีพ ปฏิรูปการสอนของครู พัฒนาระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และสนับสนุนการวิจัย เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *