xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีรายจิ๋วโคม่า! ผู้ซื้อลดจับจ่าย ยอดขายหล่น ชี้สัญญาณอันตราย ซึมยาวทั้งปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในการแถลงข่าวผลการวิจัย เรื่อง “จับชีพจร SME ไตรมาสแรงปี 2558”
ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจเอสเอ็มอีประจำ Q1 ระบุหดตัวทุกกลุ่ม ยอดขายลดลง 18-32% โดยเฉพาะรายย่อยได้รับผลกระทบสูงสุด ปัจจัยกำลังซื้อภายในประเทศซบเซา ผู้บริโภคลดจับจ่าย เพราะรายได้ไม่เพิ่ม ค่าครองชีพดีดตัว ด้านผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนยาก ขาดสภาพคล่อง ระบุส่วนใหญ่ยังคาด Q2 ไม่กระเตื้อง หวั่นเป็นสัญญาณอันตราย ศก.ซึมยาวทั้งปี

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในการแถลงข่าวผลการวิจัย เรื่อง “จับชีพจร SME ไตรมาสแรกปี 2558” ว่า จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 428 รายจาก 8 จังหวัด เกี่ยวกับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 พบว่าธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดรายย่อย คือ ระดับจ้างงาน 5 คนถึงไม่เกิน 50 คน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะมียอดขายลดลง

ทั้งนี้ จากการสำรวจถึงผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (การจ้างงานไม่เกิน 5 คน) 54% ระบุว่ายอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 34% ระบุว่าใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ และอีก 12% ระบุว่ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (การจ้างงาน 6 ถึง 50 คน) 44% ระบุว่ายอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 38% ใกล้เคียงกัน และอีก 18% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง (การจ้างงาน 51 ถึง 200 คน) 36% ระบุว่ายอดขายน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 47% ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ และอีก 17% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้

โดยเฉลี่ยแล้วยอดขายในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ของผู้ประกอบการรายย่อยลดลงประมาณ 32% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ผู้ประกอบการขนาดเล็กยอดขายลดลง 24% และผู้ประกอบการขนาดกลางยอดขายลดลง 18%

ดร.เกียรติอนันต์เผยด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่เอสเอ็มอีมียอดขายลดลงมาจากผู้บริโภคกำลังซื้อน้อย เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องสะสมมากว่า 20 เดือน ทำให้กลุ่มผู้บริโภครายได้ไม่เพิ่ม ในขณะที่รายจ่ายหรือค่าครองชีพเพิ่มขึ้น นำมาสู่การชะลอการจับจ่าย

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงแนวทางการปรับตัวที่ใช้ในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการทั้งสามกลุ่มมีแนวทางการปรับตัวที่คล้ายคลึงกัน โดยแนวทางที่นิยมใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การลดราคาสินค้า การใช้โซเชียลมีเดียมาช่วยโฆษณาและทำตลาด การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ การให้ของแถมและบัตรกำนัล และการพัฒนาความสามารถของพนักงานเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจากการประเมินของผู้ประกอบการพบว่า แนวทางเหล่านี้ให้ผลในการกระตุ้นยอดขายอยู่ในระดับดีถึงดีมาก ส่วนแนวทางที่นำมาใช้แล้วไม่ประสบผลเท่าที่ควร ได้แก่ การออกร้านประชาสัมพันธ์ การนำเสนอบริการ/ผลิตภัณฑ์ใหม่ และการโฆษณาด้วย SMS

ด้านการคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 พบว่า สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 23% คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้น 47% ใกล้เคียงกัน 30% แย่ลง สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง 29% คาดว่าดีขึ้น 49% ใกล้เคียงกัน 22% แย่ลง และสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง 31% คาดว่าดีขึ้น 55% ใกล้เคียงกัน 14% แย่ลง

ดร.เกียรติอนันต์กล่าวด้วยว่า จากสภาพเช่นนี้ทำให้สภาพคล่องของผู้ประกอบการรายย่อยลดเหลือสั้นลงแค่ไม่เกิน 15 วัน ทั้งที่ควรจะไม่ต่ำกว่า 45 วัน จึงเป็นสัญญาณอันตราย ดังนั้น แนวทางในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีภาครัฐควรเจาะจงช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและเชื่อมโยงกับธุรกิจโดยรวมให้มากที่สุด

สำหรับอุปสรรคสำคัญ 5 อันดับแรกที่จะส่งผลต่อการทำธุรกิจ ได้แก่ การลดลงของกำลังซื้อในประเทศ การขาดสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งทุน กำลังซื้อจากต่างประเทศ การเกิดภัยแล้ง และต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่ง

หากประเมินจากผลสำรวจในครั้งนี้จะเห็นว่าแนวทางการปรับตัวในระยะสั้นที่ได้ผลนั้นเป็นแนวทางที่สามารถทำได้เร็ว มีต้นทุนในการดำเนินการไม่สูงนัก ผู้ประกอบการจึงมุ่งไปที่การกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการลดราคา การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ พัฒนาให้บุคลากรทำงานให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการทำตลาดด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจได้เร็วที่สุด

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทางฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เชื่อว่าอยู่ประมาณ 3.2-3.3% ขณะที่การส่งออก ได้อย่างมากประมาณ 2%

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น