ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนกุมภาพันธ์กลับมาเป็นบวกในรอบ 23 เดือน หลังรถยนต์ อัญมณีเติบโตดี ในขณะที่เสื้อสีม่วงเฉลิมพระเกียรติและเสื้อราชการช่วยกระตุ้นยอดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขณะที่การส่งออกและบริโภคในประเทศยังนิ่ง หลายอุตฯ ยังไม่ฟื้น
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 23 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 3.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัว ได้แก่ การกลั่นน้ำมัน เบียร์ น้ำตาล เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หดตัวร้อยละ 1.6 จากมูลค่าส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ปรับตัวลดลง รวมทั้งการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสิ่งทอที่หดตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าสำคัญรายการอื่นๆ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ แผงวงจรไฟฟ้า ยังมีการส่งออกขยายตัว ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.9 จากการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบที่ขยายตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 5
ทั้งนี้ ดัชนีมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ประเมินทั้งปีไว้ที่ร้อยละ 3-4 แต่ยอมรับว่ายังมีความกังวลสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ประกอบกับมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลักยังลดลงทุกตลาด มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีการขยายตัว โดยตลาดญี่ปุ่นหดตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 9
ส่วนอุตสาหกรรมรายสาขาหลักๆ ในส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 178,351 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.79, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวมภาวะการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 1.05, อุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 5.06 เนื่องจากกลุ่มเครื่องปรับอากาศได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นพัดลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65, อุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.2
ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น การผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตสินค้ากลุ่มสิ่งทอปรับตัวลดลง โดยผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.11 ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนลดลงร้อยละ 12.41 จากคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียนลดลง โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก ส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 ตามความต้องการใช้ในประเทศ ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่างๆ ใส่เสื้อสีม่วงในเดือนเมษายนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *