“สศอ.” คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ปี 2558 จะเติบโตได้ระดับ 3-4% จากทิศทางการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นและจากการใช้อัตรากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะยังมั่นใจยอดผลิตรถยนต์ปีนี้จะอยู่ระดับ 2.15 ล้านคันเป็นตัวหนุน
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2558 จะเติบโตระดับ 3-4% จากปี 2557 ที่ MPI ที่ขยายตัวติดลบ 4.6% เนื่องจากมีสัญญาณการฟื้นตัวจากการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น รวมถึงการผลิตรถยนต์ที่คาดว่าจะฟื้นตัว ดังนั้นภาพรวมจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2558 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2-3% จากปีก่อนที่ติดลบ 1%
“ก็มั่นใจว่าภาพรวมปีนี้จะดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจ ประกอบกับจากการพิจารณากำลังการผลิตของเอกชนก็เริ่มดีขึ้นมากโดยเป็นบวกต่อเนื่องมา 3-4 เดือน ทำให้ภาพรวมการใช้กำลังการผลิตปี 2557 อยู่ที่ 60.48% ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าจะมากขึ้นไปเฉลี่ยระดับ 65-70% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือราคาพลังงานที่ลดต่ำ แต่ก็จะต้องติดตามปัจจัยลบคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น” นายอุดมกล่าว
ทั้งนี้ MPI เดือนธันวาคม 2557 ลดลง 0.35% โดยมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นจากการที่ดัชนีฯ ลดลงในอัตราที่น้อยลงจากเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ลดลง 3.68% ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนธันวาคม 2557 ขยายตัวต่อเนื่อง 4.1% และภาพรวมปี 2557 ขยายตัว 1.4% ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.2% ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มภาคการผลิตที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
สำหรับปี 2558 ภาวะอุตสาหกรรมการผลิตหลัก ได้แก่ รถยนต์ คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.36% หรือคิดเป็นประมาณการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้น 13.43% และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1,150,000 คัน เพิ่มขึ้น 1.94% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-2%
โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5-1% ตามความต้องการของตลาดกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 1-2% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อุตสาหกรรมอาหารคาดว่าการผลิตภาพรวมจะขยายตัวประมาณ 0-5.0% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และการส่งออกจะขยายตัว 2.5-2.5% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลักทยอยฟื้นตัวขึ้น เป็นต้น