xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ธ.ค. 57 ปรับตัวดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 57 ชี้ลดลง 0.35% แต่ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 3.68% ในเดือน พ.ย. 57 ขณะที่ไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากต้นปี จากการลดล 7.0% ในไตรมาส 1/57 ลดลงเหลือเพียง 2.4% ในไตรมาส 4/57

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2557 ลดลงร้อยละ 0.35 โดยมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นจากการที่ดัชนีฯ ลดลงในอัตราที่น้อยลงจากเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ลดลงร้อยละ 3.68 ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนธันวาคม 2557 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.1 และภาพรวมปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.4 ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.2 ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มภาคการผลิตที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2558 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 โดยมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นจากการที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ขณะที่จีดีพี ภาคอุตสาหกรรมปี 2558 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3 ซึ่งปกติแล้วจะไปทิศทางเดียวกับจีดีพีประเทศ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 60.48 ส่วนปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น สำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวมากขึ้น การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลต่อต้นทุนสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวลง ประชาชนมีเงินเหลือทำให้มีกำลังใช้จ่ายบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนภาครัฐมีการเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ

ขณะที่ปี 2558 ภาวะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.36 หรือคิดเป็นปริมาณการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.43 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.94 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5-1 ตามความต้องการของตลาดกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าปี 2558 คาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กในส่วนการผลิตจะทรงตัว 6.82-6.89 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 0-3 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ด้านการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ทั้งภาคการผลิตและการส่งออก โดยในกลุ่มสิ่งทอจะเป็นการผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาดอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภาครัฐได้สนับสนุนให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศในกลุ่ม CLMV เพื่อใช้ประโยชน์ด้านแรงงาน ค่าจ้างที่ต่ำกว่า และสิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) จากตลาดส่งออกหลัก เช่น สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น