xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกเอสเอ็มอีติดอาวุธดิจิตอล รุกโลกธุรกิจไร้ขีดจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมงาน “SMEsผู้จัดการ” จัดสัมมนาใหญ่ “ส่องเทรนด์ทำธุรกิจออนไลน์ให้รุ่งในยุคดิจิทัล อีโคโนมี” สสว.ชี้ถึงเวลาเอสเอ็มอีไทยปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิตอลอย่างจริงจัง ระบุกระแสโลกมุ่งตรงใช้ไอทีทุกรูปแบบ เตือนหลังเปิด AEC ตลาดอาเซียนแข่งเดือด ด้านต้นแบบเอสเอ็มอีแนะใช้เครื่องมือออนไลน์ให้เหมาะสมและรู้เท่าทัน
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวในงานสัมมนา “ส่องเทรนด์ทำธุรกิจออนไลน์ให้รุ่งในยุคดิจิทัล อีโคโนมี”
กระตุ้นเอสเอ็มอีใช้ดิจิตอลเสริมแกร่งธุรกิจ

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวในงานสัมมนา “ส่องเทรนด์ทำธุรกิจออนไลน์ให้รุ่งในยุคดิจิทัล อีโคโนมี” จัดโดยทีมงาน “SMEsผู้จัดการ” ว่า เทรนด์ธุรกิจในปัจจุบันเป็นเรื่องของดิจิตอลอีโคโนมี เพราะไม่ว่าข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ล้วนมาจากโลกดิจิตอล ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นที่จะต้องปรับตัว และเรียนรู้เรื่องของวัฒนธรรมดิจิตอล

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าการทำธุรกิจดิจิตอลอีโคโนมีในปัจจุบัน กลุ่มตลาดประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกาเข้าถึงโลกดิจิตอลสูงสุด ในขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนเองยังอยู่ในกลุ่มที่มีการใช้ดิจิตอลอีโคโนมีในระดับที่ไม่มากนัก แต่เริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะที่หลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เอสเอ็มอีต้องหันมามองการทำตลาดในอาเซียนผ่านดิจิตอลอีโคโนมีให้มากขึ้น ที่ผ่านมาจะเห็นการปรับตัวของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศลาวหันมาใช้ดิจิตอลอีโคโนมี โดยเปิดเว็บไซต์ภาษาไทย ขณะที่เอสเอ็มอีไทยกลับมองข้ามจุดนี้ทำให้เสียโอกาสทางการค้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เอสเอ็มอีจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ดิจิตอล และต้องเรียนรู้ที่จะต้องใช้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเข้าสู่ตลาด AEC

นอกจากนี้ ดิจิตอลอีโคโนมียังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจของเอสเอ็มอีง่ายขึ้น รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ เพราะหลังจากการเปิด AEC แล้ว เอสเอ็มอีอาจจะต้องปรับตัวมากขึ้นเพื่อรักษาพื้นที่ทางการค้าของตัวเอง เนื่องจากจะมีเอสเอ็มอีในกลุ่มสมาชิก AEC กว่า 10 ประเทศเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย นอกจากไทยจะต้องรักษาพื้นที่ในบ้านเราแล้ว เรายังต้องขยายตลาดของเราไปยังประเทศเหล่านั้นด้วย และดิจิตอลเป็นช่องทางเดียวที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้รวดเร็ว และต้นทุนต่ำสุด

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่ากลุ่มเอสเอ็มอีที่ใช้สื่อดิจิตอลมากที่สุด อันดับ 1 เป็นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ช่วงหลายปีที่ผ่านมาคนนิยมเลือกซื้อบริการท่องเที่ยว และจองโรงแรมผ่านออนไลน์ เนื่องจากสะดวก และบางครั้งได้ราคาที่ถูกกว่า ส่วนอันดับ 2 ที่ตามมาติดๆ คือ ธุรกิจแฟชั่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เพราะลูกค้ารู้สึกว่าสะดวก และรวดเร็ว มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย สามารถที่จะชอปปิ้งได้ทุกวัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการทำธุรกิจบนโลกดิจิตอล เพราะปัจจุบันคนทั่วโลกกว่า 80% หันมาใช้สื่อดิจิตอลเป็นข้อมูลในการทำธุรกิจ และถ้าเราไม่ทำก็เหมือนปิดบ้าน เสียลูกค้าให้คนอื่นๆ รวมไปถึงนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ด้วย

ดร.วิมลกานต์กล่าวถึงการทำธุรกิจบนโลกดิจิตอลว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะธุรกิจภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่ภาคเอกชนจะเข้าไปทำธุรกิจกับภาครัฐด้วย ไม่ใช่ภาครัฐในประเทศไทยเท่านั้น ปัจจุบันภาครัฐจากประเทศต่างๆ ในยุโรป อเมริกา หรือ ในเอเชียต่างก็หาข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากดิจิตอล และที่ผ่านมายังพบว่ามีภาคเอกชนในหลายประเทศไปรับงานจากประเทศเหล่านั้นมาแล้ว ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ในส่วนตัวเอสเอ็มอีเองต้องปรับตัวและปรับธุรกิจให้ทันต่อโลกยุคดิจิตอล หาโอกาสทางธุรกิจได้จากโลกออนไลน์ ไม่จำกัดเฉพาะแค่เรื่องการทำตลาด ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว หากแต่สามารถนำดิจิตอลมาใช้ประโยชน์ เช่น เข้าไปแสวงหาความรู้ หาพันธมิตรหรือสร้างเครือข่ายธุรกิจ เชื่อมธุรกิจกับคู่ค้าซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงนำเสนอสินค้าของตัวเองไปสู่ตลาดระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วดิจิตอลอีโคโนมีเป็นเสมือนเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่เหนือกว่าคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องรู้จักเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองเพื่อใช้ดิจิตอลอีโคโนมีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมการเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ของต่างชาติจะให้คำตอบเบ็ดเสร็จภายในเวลาไม่กี่นาที แต่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยหลายราย แม้จะมีช่องทางค้าออนไลน์ก็ตามแต่ยังใช้ไม่เต็มที่ โดยบางรายใช้เวลานานนับสัปดาห์กว่าจะตอบอีเมลลูกค้าต่างชาติ จึงทำให้เสียโอกาสธุรกิจ และยังแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพต่อการค้าระดับสากล นอกจากนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยยังมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาต่างประเทศ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีไทยต้องเร่งเรียนรู้และปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากดิจิตอลอีโคโนมีได้อย่างแท้จริง

“ดิจิตอลเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปทั่วโลกได้ ไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนใดของโลกก็ตาม สินค้าของคุณมีโอกาสจะไปปรากฏต่อสายตาของทุกคนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เหนือกว่าเครื่องมือคือ การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากดิจิตอลอีโคโนมี ” รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว.กล่าว

ในส่วนภาครัฐต่อการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้ใช้ประโยชน์จากดิจิตอลอีโคโนมีนั้น ด้านแรกเน้นวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อการใช้ไอทีให้สะดวกและทั่วถึงที่สุด โดยเฉพาะการขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็วๆ นี้ ขณะที่อีกด้าน ส่งเสริมความรู้ พัฒนาขีดความสามารถ และสร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าทางออนไลน์ผ่านมาตรฐานการสนับสนุนต่างๆ
เสวนาหัวข้อ “ตัวจริงเอสเอ็มอี สำเร็จได้ด้วยออนไลน์” โดย รวิศ หาญอุตสาหะ  เจ้าของธุรกิจผงหอมศรีจันทร์  ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้ก่อตั้งก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้ง  และสุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ เจ้าของธุรกิจเจคิว ปูม้านึ่ง Delivery (จากซ้ายมาขวา)
ต้นแบบเอสเอ็มอีแนะใช้สื่อออนไลน์อย่างรู้ทัน

ในงานดังกล่าวยังมีการเสวนาหัวข้อ “ตัวจริงเอสเอ็มอี สำเร็จได้ด้วยออนไลน์” พบ 3 ผู้ประกอบการชื่อดังประสบความสำเร็จได้ด้วยการใช้สื่อออนไลน์ โดย สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ เจ้าของธุรกิจ “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery” กล่าวว่า การเลือกใช้สื่อออนไลน์เป็นหน้าร้านเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการยุคปัจจุบันเพราะมีต้นทุนที่ถูกมาก แต่ต้องใช้ให้เป็น โดยเฉพาะการเลือกใช้รูปภาพประกอบการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของตนเองต้องมีความสวยงามและดึงดูดใจลูกค้า ซึ่งธุรกิจประเภทอาหารเรื่องภาพที่สวยงามเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งบางครั้งการใช้สื่อออนไลน์ก็มีข้อจำกัดในเรื่องอารมณ์ของลูกค้าด้วย วัดได้จากรูปภาพที่มีคนกดไลก์มากๆ ก็สามารถใช้เป็นแนวทางเลือกใช้รูปภาพในลักษณะนั้นๆ ได้

สำหรับแนวทางแห่งความสำเร็จการเลือกใช้สื่อออนไลน์เพื่อสร้างยอดขายของเจคิว ปูม้านึ่ง อยู่ที่การแสดงความจริงใจกับลูกค้า เลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดก่อนส่งมอบ และหากลูกค้าพบปัญหาในผลิตภัณฑ์ต้องรีบเข้าไปแก้ไข ซึ่งเจ้าของต้องเป็นตัวหลักสำคัญเข้าไกล่เกลี่ยกับลูกค้า นอกจากนี้ การตอบคำถามลูกค้าผ่านทางออนไลน์ก็ต้องรวดเร็ว มีทีมงานให้ข้อมูลตลอดเวลา เพราะปัจจุบันคนในโลกโซเชียลรอไม่ได้ ความรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ด้าน ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้ก่อตั้งก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้ง และ Soda PrintinG.com ระบุว่า ขณะนี้โลกเปลี่ยนไป ผู้คนต่างเลือกใช้สื่อออนไลน์ในการทำการตลาด ดังนั้นผู้ที่เลือกใช้เครื่องมือดังกล่าวควรเลือกให้เหมาะสมและปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เช่น ที่ผ่านมาคนเลือกสร้างเว็บไซต์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นเฟซบุ๊ก แต่ขณะนี้การวัดความนิยมของลูกค้าผ่านการกดไลก์ก็ไม่ใช่ตัววัดผลที่ดีแล้ว ดังนั้นก็ต้องเลือกใช้เครื่องมืออื่นให้เหมาะสม

ขณะที่การออกแบบหน้าเพจทางออนไลน์ที่จะโปรโมตต้องทำให้ลูกค้าใช้งานได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน เพราะต้องคำนึงถึงการใช้งานของผู้คนในปัจจุบันที่เลือกใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางเข้าสู่โลกออนไลน์ นอกจากนี้ การเลือกเวลาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กก็ควรให้ความสำคัญเช่นกัน เช่น ธุรกิจอาหาร ควรโพสต์ภาพเวลาประมาณ 10.30 น. และช่วงที่ผู้คนดูละครเวลา 20.30 น.เป็นต้นไป จากพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนมักดูละครและเสพสื่อออนไลน์ควบคู่กันไป ขณะที่เวลาเที่ยงไม่ควรโพสต์ภาพอาหาร เพราะคนมีการตัดสินใจเลือกซื้อหรือรับประทานอาหารไปแล้ว

รวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทรุ่นที่ 3 ผงหอมศรีจันทร์ ผู้พลิกแบรนด์เถ้าแก่สู่ตลาดคนรุ่นใหม่ด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก เผยเคล็ดลับการเลือกใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือสร้างแบรนด์ผงหอมศรีจันทร์ในรูปลักษณ์ใหม่ว่า ศึกษาข้อมูลพื้นฐานความชอบของคนไทย หรือเลือกใช้ช่องทางให้ถูกจริตคนไทย เน้นสื่อภาพลักษณ์แนวละครย้อนยุคเพื่อให้คนจดจำง่าย โดยใช้ภาพนิ่งเล่าเรื่อง ถือเป็นการลดต้นทุนการโฆษณาไปได้มากและได้ผลตรงกลุ่มลูกค้า

เขายังบอกด้วยว่า การสร้างความเชื่อมั่นก็เป็นสิ่งสำคัญ ดูได้จากข้อความการโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ ซึ่งบางครั้งการโพสต์ก็ไม่จำเป็นต้องขายของเสมอไป แต่ควรเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หรือการสร้างคอนเทนต์เองให้เป็นมากกว่าการขายของ รวมถึงเจ้าของธุรกิจในปัจจุบันต้องเป็นผู้สร้างแบรนด์เองด้วย เพราะลูกค้าจะเกิดความเชื่อถือกว่าการโพสต์แต่สินค้า และต้องทำอย่างต่อเนื่องกับทุกสื่อออนไลน์ที่มีในมือ
เสวนาหัวข้อ “กลยุทธ์เพิ่มยอดขายด้วยโซเชียลมีเดีย”  โดย พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท กูเกิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด  ทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด  และลินดา หวังวานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Prepaid-Special Segment บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค  (จากซ้ายมาขวา)
กูรูชี้จับตาสมาร์ทโฟนโอกาสทองการค้ายุคออนไลน์

นอกจากนั้นยังมีการให้ความรู้ทำตลาดออนไลน์ หัวข้อ “กลยุทธ์เพิ่มยอดขายด้วยโซเชียลมีเดีย” โดยวิทยากร ลินดา หวังวานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Prepaid-Special Segment บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ความสำคัญของอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำตลาด และโลกการค้า สำหรับคนในเมืองถือเป็นเรื่องที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ขณะที่ผู้คนตามหมู่บ้านและพื้นที่ห่างไกลยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งๆ ที่หากใช้งานเป็นจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ดังนั้น ดีแทคจึงมีโครงการ “เน็ตอาสา” ภายใต้คอนเซ็ปต์ เรียนเน็ตถึงที่ดีแทคอาสาสอนฟรีถึงบ้าน โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอนให้ชาวบ้านใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็น พร้อมแนะนำการขายและสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์

ด้านทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด กล่าวว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ถือว่าทำได้ง่ายขึ้น อย่างสมาร์ทโฟนเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารวดเร็ว กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

ส่วนการเลือกสินค้ามาจำหน่ายในโลกออนไลน์ควรคำนึงว่าเป็นสินค้าที่หาซื้อยาก หรือสินค้าที่ซื้อง่ายในต่างประเทศแต่ในไทยยังไม่มี และควรคำนึงในเรื่องราคาต้องถูกกว่าในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขณะที่สินค้าที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำโดยตรงกับลูกค้าก็เหมาะสมกับการเปิดช่องทางการขายออนไลน์เช่นกัน

พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า การลงทุนใช้สื่อออนไลน์ในการทำตลาดผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และจุดคุ้มทุนในการเลือกใช้คำโฆษณาให้เหมาะสมกับธุรกิจ หรือใช้วิธีลดต้นทุนด้วยการหลีกเลี่ยงให้คำอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจะทำให้งบประมาณการโฆษณาลดน้อยลงได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถเลือกใช้แบนเนอร์โฆษณากับทางกูเกิลได้เช่นกัน เพราะทางกูเกิลมีช่องทางกระจายสื่อโฆษณาได้หลายช่องทาง ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งให้ผู้ประกอบการเลือกใช้สร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น