xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกลยุทธ์สร้างแบรนด์ลูกกวาด “Made in Candy”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ลูกกวาด” ขนมจากน้ำตาลสุดคลาสสิก ด้วยรสชาติที่หวานลิ้น บวกเข้ากับสีสันที่จัดจ้าน ดึงดูดความสนใจจากเด็กๆได้เป็นอย่างดีในทุกยุคทุกสมัย แต่วันนี้ “รวน ลิม” (Ruan Lim) ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Made In Candy ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศสิงคโปร์ กำลังบอกกับเราว่า ลูกกวาดของเขาไม่ได้ถูกทำมาเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะอีกต่อไป แต่เป็นลูกกวาดที่ถูกออกแบบมาสำหรับทุกคน

ภายใต้กลิ่นผลไม้ที่หอมหวาน ที่เคลือบบนตัวน้ำตาลสีสันสดใส ได้ถูกซ่อนไว้ด้วยงานศิลปะขนาดจิ๋วอยู่ภายใน ทั้งในส่วนของรูปภาพ และตัวอักษรต่างๆ สามารถแทนทั้งคำพูด และความรู้สึก สื่อไปยังผู้รับได้อย่างชัดเจน

Made In Candy เกิดจากไอเดียของ 2 พี่น้องชาวสิงคโปร์ “รวน ลิม” และ “วิน ลิม” (Wayne Lim) ในปี 2553 ที่ประเทศสิงคโปร์ ต้องบอกว่าในช่วงนั้นประเทศสิงคโปร์มีแบรนด์ลูกกวาดชื่อดังสัญชาติยุโรปเข้ามาขยายสาขา และก็ได้รับผลตอบรับที่ดีเสียด้วย

วิน ผู้เป็นน้องชาย จึงเริ่มมองเห็นโอกาสในการสร้างแบรนด์ลูกกวาดของตัวเองขึ้นบ้าง อาศัยความเชี่ยวชาญในการปรุงอาหาร จากประสบการณ์ในการเป็นเชฟที่ฝรั่งเศส ประกอบกับความรักในเรื่องของลูกกวาดอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ริเริ่มรังสรรค์งานศิลปะบนลูกกวาดรายแรกในเอเชียขึ้นมา ทำให้เขาคิดค้นวิธีการทำลูกกวาดที่ไม่เหมือนใครออกมา

ลูกกวาดที่เขาคิดค้นสูตร และวิธีการทำขึ้นมานั้น ถึงจะทำมาจากน้ำตาล สีผสมอาหารและกลิ่นผลไม้เช่นเดียวกับลูกอมที่วางขายในท้องตลาด แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ลูกกวาดแต่ละเม็ดจะซ่อนไว้ด้วยงานศิลปะขนาดจิ๋วภายในไส้ของลูกกวาด และแทบไม่น่าเชื่อว่าน้ำตาลที่เคี่ยวจนเหนียว ใส่สีและใส่กลิ่นลงไปแล้ว เมื่อนำมาหั่นเป็นเม็ดเล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ก็จะพบรูปภาพ และตัวอักษรซ่อนอยู่

ในขณะที่รวน ผู้เป็นพี่ชาย ก็มีความถนัดในการทำตลาด ครอบคลุมทั้งในส่วนของการประชาสัมพันธ์ การสร้างแบรนดิ้ง รวมไปถึงเรื่องการพัฒนาโปรดักต์ กลายเป็นส่วนผสมทางธุรกิจที่ลงตัว

Made in Candy กลายเป็นแบรนด์ลูกกวาดโฮมเมดที่ประสบความสำเร็จมากในสิงคโปร์ ปัจจุบันนี้มีอยู่ 2 สาขา แต่ด้วยความที่สิงคโปร์นั้นเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนประชากรน้อย

เป้าหมายที่รวนมองไว้ คือ การขยายสาขาออกไปยังประเทศต่างๆ เริ่มต้นจากในโซนเอเชียก่อน โดยตัดสินใจเริ่มต้นจากประเทศไทยเป็นแห่งแรกในช่วงเดือนสิงหาคม 2554

เพราะอะไรจึงเริ่มต้นขยายสาขาเข้ามาในไทยเป็นแห่งแรก รวนได้วิเคราะห์ให้ฟังถึงแนวคิดในการทำธุรกิจว่า

“ที่ประเทศสิงคโปร์แบรนด์ Made in Candy ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ทำให้ได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ ชักชวนให้เราเข้าไปเปิดสาขา แต่ผมมองว่าการที่จะทำงานกับประเทศอื่นได้นั้นเราจะต้องมีพาร์ตเนอร์ที่ดี ธุรกิจถึงจะประสบความสำเร็จได้

ตัวผมเองมีเพื่อนเป็นคนไทยหลายคน ทำให้รู้สึกผูกพันกับประเทศไทย และเข้าใจถึงพฤติกรรมและสภาพสังคมของคนไทยอยู่บ้าง พอดีกับทางผู้บริหารของ Tops Supermarket เขามาเห็นแบรนด์ของเราที่สิงคโปร์แล้วรู้สึกชอบ จึงเข้ามาชักชวนให้ลองมาเปิดสาขาในไทย ที่เซ็นทรัลเวิลด์

ที่จริงในตอนนั้นมีคนติดต่อเข้ามาหลายประเทศ อยากให้เราไปเปิดสาขา ทั้งประเทศในแถบเอเชียและยุโรป แต่ที่เลือกประเทศไทยเพราะคนไทยนิสัยดี มีความเป็นมิตร และเป็นประเทศอยู่ใกล้กับสิงคโปร์ เดินทางสะดวกใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

และสิ่งที่สำคัญสุด คือ ประเทศไทยมีการใช้สื่อที่เยอะมาก ทั้งสื่อแบบดั้งเดิมอย่างทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อ Social Media ทุกคนในประเทศไทยใช้อินเทอร์เน็ต เล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก พอพูดถึงคำว่าสื่อ Social Media ทุกคนจะเข้าใจ เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว ทุกคนสามารถรับสื่อแล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เลยทันที

Social Media กลายเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลมากในการทำตลาดยุคนี้ เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างแรกที่ต้องนำมาใช้ในการทำธุรกิจ เพราะไม่มีต้นทุนทางค่าใช้จ่าย เข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็วเมื่อเทียบกับสื่อแบบดั้งเดิม ทั้งยังสามารถใส่เนื้อหา ใส่เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ เพื่อส่งสารไปยังผู้บริโภคได้ เพราะถ้าขาด Story ลูกกวาดก็คือน้ำตาลธรรมดาเท่านั้นเอง

อีกทั้งด้วยวัฒนธรรมของคนไทย ที่ชอบเรื่องสนุกสนาน ชอบดูหนัง ฟังเพลง เดินห้าง และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย สอดคล้องกับตัวโปรดักต์ของเรา ที่ไม่ได้ขายแค่ความเป็นขนม แต่ขายความเป็นไลฟ์สไตล์ให้คนรุ่นใหม่ น่าจะเข้ากันได้ดีกับอุปนิสัย และไลฟ์สไตล์ของคนไทย จึงเลือกที่จะขยายสาขามายังประเทศไทยก่อนเป็นแห่งแรก”

Made in Candy Thailand เปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บรรยากาศร้านค้าในโทนสีดำช่างดูโดดเด่นเมื่อสินค้าที่วางขายอยู่ภายในร้าน เป็นลูกกวาดหลากสี ตรงนี้เป็นคอนเซ็ปต์แรกของแบรนด์ในเรื่องการตกแต่งร้าน ที่ต้องการให้ตัวสินค้าโดดเด่นขึ้นมาจากสีดำที่อยู่รอบๆ

คอนเซ็ปต์หลักตัวต่อมาที่มีความโดดเด่น คือ การสาธิตทำลูกกวาดโชว์สดๆ วันละ 6-7 รอบ ใช้เวลารอบละประมาณ 40 นาที หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Live Show โดย Candy Man ที่อยู่ประจำร้าน

“Candy Man จะทำหน้าที่โชว์สาธิตการทำลูกกวาดตั้งแต่ขั้นตอนแรก เริ่มจากการต้มน้ำ เคี่ยวน้ำตาล ผสมสีผสมอาหาร และกลิ่นผลไม้ต่างๆ ผ่านการปั้น คลึง ดึง ยืด จนได้ลูกกวาดแท่งยาว จากนั้นจะใช้มีดตัดแบ่งให้เป็นก้อนเล็กๆ ขนาดพอเหมาะในการกิน

การทำ Live Show เป็นกลยุทธ์หลักที่ทำให้แบรนด์ Made in Candy ประสบความสำเร็จในเวลาที่รวดเร็ว เพราะลูกค้าจะรู้สึกสนุก และตื่นเต้น ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5

เริ่มจากการเปิดเพลงในจังหวะที่สนุกสนานเข้ากับการทำโชว์ ตาของลูกค้าก็จะเห็นการทำลูกกวาด จมูกได้กลิ่นหอมหวานในระหว่างขั้นตอนการทำ และเมื่อสาธิตทำลูกกวาดเสร็จแล้ว Candy Man จะเชิญชวนให้คนที่ยืนดูด้านหน้ามาหยิบจับลูกกวาดที่ทำเสร็จอุ่นๆ และทดลองชิม”

การทำ Live Show จึงกลายเป็นกลยุทธ์หลักที่ช่วยกระตุ้นทั้งเรื่องยอดขาย และสร้างการรับรู้ถึงตัวแบรนด์ไปยังกลุ่มผู้บริโภค

แน่นอนว่า ในกลยุทธ์นี้คีย์ซักเซสหลักอยู่ที่ Candy Man ที่ต้องผ่านการฝึกฝน และคัดเลือกมาเป็นอย่างดี

“ที่จริงแล้วทุกอาชีพมีความยากหมด กว่าจะมาเป็น Candy Man ก็ต้องมีการเทรนนิ่งเป็นเวลาหลายเดือน และยังต้องมีความอดทน เพราะต้องอยู่กับของที่ร้อนมากตลอดเวลา เนื่องจากลูกกวาดที่ต้มสุกใหม่ๆ จะมีอุณหภูมิสูงถึง 150 องศา และหม้อต้มก็มีขนาดใหญ่และหนัก แต่เมื่อทำงานไปได้สักพักเขาจะเริ่มมองว่ามันเป็นงานที่สนุก และท้าทาย

Candy Man ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ผู้หญิงก็สามารถเป็น Candy Man ได้ แต่สิ่งที่เน้นมากคือ เรื่องของรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ ที่ต้องดูดี มีเอกลักษณ์ มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถที่จะทำสีผม หรือผมทรงไหนก็ได้ เพราะ Candy Man จะเป็นตัวหลักในการดึงดูดลูกค้าให้หันมาสนใจร้าน และทำให้ Live Show ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายจะมีแบบฟอร์มเป็นชุดสีดำให้ใส่ ข้างหลังจะสกรีนคำว่า Candy Man ติดอยู่ เป็นเหมือนโลโก้เคลื่อนที่ของแบรนด์ ยิ่ง Candy Man แต่ละคนมีความโดดเด่น มีคาแรกเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์มากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยให้เกิด Story สร้างความจดจำให้แก่ผู้บริโภคได้มากขึ้นเท่านั้น”

การทำลูกกวาดของ Maid in Candy นั้นจะใช้หลักการของรูปแบบเรขาคณิต คือ การนำเอาสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม สีสัน และรสชาติต่างๆ ที่แตกต่างกัน มาประกบเข้าด้วยกันตามเทคนิคเฉพาะ จนเกิดเป็นภาพที่ต้องการ อย่าง ลิง หมู หัวใจ ต้นไม้ แตงโม มะนาว เชอร์รี

หรือถ้าเป็นในหมวดตัวอักษร ก็ล้วนแต่เป็นถ้อยคำที่สื่อความหมายดีๆ เช่น รัก, I Love You, I Miss You, Thank You, Happy Birth Day มีให้เลือกทั้งหมด 33 ลาย และ 33 รสชาติ โดยมากจะเป็นรสชาติยอดนิยมตามสากล อย่างเช่น เปปเปอร์มินต์ เชอร์รี ส้ม องุ่น กาแฟ ช็อกโกแลต รสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ แตงโม

ความพิเศษอีกอย่างของลูกกวาดแบรนด์นี้ นอกจากจะสื่อความหมายไปยังผู้รับได้แล้ว ในเรื่องของรสชาติยังมีการนำเทคนิคการผสมสีและกลิ่นมาใช้ ในลูกกวาดหนึ่งเม็ดจึงมีหลากสีสัน และหลายรสชาติ สร้างความสนุกให้แก่ผู้บริโภค โดยมีสนนราคาเริ่มต้นที่ 70-200 บาท มีทั้งแบบที่บรรจุในซองซิปล็อก และแบบขวดแก้วอีก 3 ขนาด

ในปัจจุบัน Made in Candy Thailand ขยายไปแล้วกว่า 7 สาขา ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี ได้แก่สาขา เซ็นทรัลเวิล์ด เมกะ บางนา แฟชั่นไอร์แลนส์ ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต สยามพารากอน สยามสแควร์ และเอเชียทีค โดยมีโรงงานผลิตอยู่ที่ย่านเจริญนคร

ส่วนกลุ่มเป้าหมายของ Made in Candy นั้นต้องบอกว่ามีหลากหลาย เพราะถูกวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นลูกกวาดสำหรับทุกคน ทำให้ลูกค้าของแบรนด์มีทั้งกลุ่มเด็ก กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มนักท่องเที่ยว และกลุ่มลูกค้าองค์กร สัดส่วนของรายได้อยู่ที่ลูกค้ารีเทล 70% และลูกค้าองค์กรอีก 30%

จุดที่น่าสังเกตคือ ลูกค้ารีเทลหรือซื้อปลีกนั้น โดยมากมักเป็นการซื้อเป็นของขวัญ ของฝาก หรือให้คนสำคัญในโอกาสพิเศษ ตรงนี้จะมีสัดส่วนที่มากกว่าการซื้อลูกกวาดเพื่อกินเองอย่างเห็นได้ชัด นั่นหมายความว่า แนวคิดเรื่องการใส่ Story เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ตัวสินค้านั้นมาถูกทางแล้ว

ในขณะที่ชาวต่างชาติ หรือนักท่องเที่ยวกลายเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีรูปแบบการซื้อเป็นของฝาก จึงมีการซื้อต่อครั้งในปริมาณที่เยอะ

ส่วนกลุ่มลูกค้าองค์กรนั้น จะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในการส่งผ่านความรู้สึกจากแบรนด์ผ่านลูกกวาดที่สั่งทำพิเศษไปสู่ลูกค้า ทั้งเรื่องสีสัน รสชาติ รูปภาพ หรือตัวอักษร จะต้องมีความสอดคล้องกับภาพลักษณ์หลักของแบรนด์นั้นๆ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่ผู้รับ

“จากนี้ไปเป้าหมายที่วางไว้ในเรื่องพัฒนาโปรดักต์ คือ การนำวัตถุดิบจริงมาเป็นส่วนผสมในตัวลูกกวาด เช่น ขิง มะนาว เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้ากูร์เมต์มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มไลน์สินค้า ด้วยการนำขนมในตำนานต่างๆ ที่ในปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้วกลับมาวางขายใหม่ เช่น เวเฟอร์ ช็อกโกแลต บิสกิต เป็นการส่งต่อความรู้สึกจากรุ่นต่อรุ่น และขยายลงไปยังกลุ่มคนที่มีอายุเยอะ แต่เขายังถวิลหาขนมในอดีตในแบบที่เคยกินอยู่

ส่วนในเรื่องของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งลูกค้ารีเทล และลูกค้าองค์กรนั้น จะเพิ่มสัดส่วนการสั่งทำเฉพาะรายบุคคลเพื่อจับกลุ่มของขวัญโดยเฉพาะ เพราะเดิมทีเรารับผลิตขั้นต่ำเริ่มต้นที่ลูกกวาด 4 กิโลกรัม ราคาก็จะอยู่ที่หลักหมื่น แต่ตอนนี้จะลงมาจับลูกค้าบุคคล ที่ต้องการสั่งทำลูกกวาดสำหรับคนพิเศษเพียงแค่กระปุกเดียว ราคาเริ่มต้นอาจจะอยู่ที่กระปุกละ 1,200 บาท ก็จะช่วยให้กลุ่มลูกค้าของเราขยายตัวกว้างขึ้นอีก”

แน่นอนว่า เมื่อโมเดลธุรกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดีในประเทศไทย แบรนด์ Made in Candy ก็ยิ่งทวีความเนื้อหอมในสายตาของคู่ค้าต่างชาติมากยิ่งขึ้น

ภายในปีนี้ (2558) คาดว่าน่าจะได้เห็นลูกกวาดแบรนด์เอเชียไปเปิดร้านอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่เฉิงตู ประเทศจีน ดูไบ ประเทศยูเออี และลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการก้าวสู่ตลาดโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

ความสำเร็จในวันนี้ เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีว่า สองพี่น้องร่วมกันคิดขึ้นมานั้น ช่วยให้ธุรกิจแจ้งเกิด และไปได้ไกลอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก

@@@ ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs PLUS @@@

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


“รวน ลิม” (Ruan Lim) ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Made In Candy



ร้านที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์






กำลังโหลดความคิดเห็น