เคยถามตัวเองบ้างมั้ยว่า ทำงานไปเพื่ออะไร… บางคนทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพให้มีชีวิตอยู่ บางคนทำงานหนักแทบตาย แต่สุดท้ายก็เป็นได้แค่มนุษย์เงินเดือน ในขณะที่นักธุรกิจใหญ่ๆ ลงทุนทำธุรกิจหลายอย่าง มีเงินเป็นร้อยล้าน พันล้านแต่ก็ยังไม่พอ เพราะสุดท้ายแล้วเงินกลับไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง
ผมได้เคยแนะนำเทคนิคการทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจชุมชนอยู่รอดได้ หากทุกคนสามารถทำตามที่ผมบอกได้ จนวันนึงเราสามารถอยู่รอดได้แล้ว มีเงินมีรายได้หล่อเลี้ยงบริษัทแล้ว เราควรทำอะไรต่อไป เพื่ออะไร ควรหยุดและพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี หรือขยายกิจการเติบโตต่อไป หรือจะเลือกแบ่งปันความรู้เทคนิคที่ทำให้ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จแก่คนที่ด้อยกว่า
ปัจจุบันหลายธุรกิจเริ่มเล็งเห็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยพัฒนาสังคมและชุมชน ในการยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย รวมถึงลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า นวัตกรรมสังคม (Social Innovation)
ตัวผมเองทำเว็บไซต์ ThaiSecondhand.com และ TARAD.com มาตั้งแต่ปี 2542 ในวันแรกๆ ที่เริ่มทำธุรกิจ เรามัวแต่มองดูตัวเราเอง มัวแต่ตั้งใจและโฟกัสกับการทำอย่างไรถึงจะให้เราเติบโตไปข้างหน้า ไม่ให้เราเจ๊ง ผมจำได้เลยว่า ในวันแรกๆ ที่ผมเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ ผมโฟกัสเรื่องการทำบริการของผมให้ดีที่สุด เทคโนโลยีต้องเยี่ยม ต้องเจ๋ง จนกระทั่งเมื่อผมได้พบกับป้าซิ้มที่ขายชุดลิเก ชุดแดนเซอร์ผ่านทางเว็บไซต์
ชุดลิเกออนไลน์กับการเปลี่ยนแนวความคิด
วันนั้น (ปี 2552) ผมไปสอนที่มหาวิทยาลัยสุรนารี ไหนๆ ผมก็ไปสอนซะไกล ก็เลยคิดว่า อยากจะพบกับลูกค้าที่มาเปิดร้านค้ากับผมที่ต่างจังหวัดซะหน่อย ผมเลยเข้าไปค้นดูข้อมูลว่า มีร้านไหนบ้างอยู่ที่โคราช จนได้พบกับร้านของป้าและได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับป้าซิ้มและสามีว่า ทำไมถึงมาขายชุดลิเกและชุดแดนเซอร์ออนไลน์
ป้าซิ้มบอกว่า เมื่อก่อน (ประมาณปี 2550) แกจนมากๆ แกวิ่งรับตัดชุดการแสดงอยู่กับสามีในโคราช พักอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ มีจักรเย็บผ้าอยู่ตัวเดียว บางครั้งกินยังไม่มีจะกิน เพราะจนจริงๆ แต่อยู่มาวันนึงสามีของแกได้มาลองเปิดเว็บไซต์ และนำชุดลิเก ชุดแดนเซอร์ที่แกตัดอยู่ ไปลงขายในเว็บไซต์ (http://nauschadaporn.tarad.com)
หลังจากเปิดเว็บไซต์ไปพบว่า มีคนติดต่อเข้ามามากและมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แกตกใจมากคือคนที่เข้ามาสั่งแกตัดชุดแทบไม่ใช่คนในจังหวัดโคราชเลย กลายเป็นคนจากจังหวัดต่างๆ แทบจะทั่วประเทศไทย และบางครั้งมีคนจากต่างประเทศ อย่างเช่น สวีเดน บาเรน และเยอรมัน ก็มาสั่งชุดจากแก ทำให้เพียงไม่ถึง 2 ปี ธุรกิจของป้าซิ้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนทุกวันนี้ ป้าซิ้มมีบ้าน รถยนต์ เป็นของตัวเอง มีจักรเย็บผ้าเป็นสิบตัว และมีพนักงานเป็นสิบคน บางครั้งงานเข้ามาเยอะๆ แกก็จะกระจายงานไปให้แม่บ้านในละแวกเดียวกัน ทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินเข้าไปสู่ชุมชนแถบนั้นเป็นจำนวนมาก
โดยทั้งหมดนี้เกิดจากเว็บไซต์ที่แกสร้างขึ้นมาและเปิดโอกาสให้กับแกและสามี รวมถึงแม่บ้านในชุมชนละแวกนั้น
จุดประกายและแรงบันดาลใจ
ป้าซิ้ม คือ กรณีศึกษาที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมมากๆ นอกจากป้าซิ้มจะใช้อินเตอร์เน็ตในการสร้างธุรกิจของตัวเองให้เติบโต แล้วสิ่งที่ป้าซิ้มทำยังเป็นการถ่ายทอดความรู้และวิชาชีพให้กับเพื่อนๆ กลุ่มแม่บ้านในชุมชนอีกต่อหนึ่ง แรงบันดาลใจนี้ผมไม่ได้เก็บไว้เองคนเดียว ผมแชร์และบอกต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับน้องๆ ในบริษัทเสมอๆว่า งานที่พวกเราทำในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเว็บไซต์ที่เราออกแบบ โปรแกรมที่เขียน เอกสารที่ฝ่ายบัญชีทำ หรืองานทุกงานที่ทุกคนในบริษัททำนั้น มันสามารถต่อยอดให้ธุรกิจเล็กๆ ทั่วประเทศไทยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เพิ่มช่องทางและเพิ่มโอกาสการขายสินค้าไปยังคนทั่วประเทศและทั่วโลก เค้าสามารถสร้างรายได้จากการขายของออนไลน์ นำเงินที่ได้กลับสู่ชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องส่งลูกหลานมาทำงานในเมืองหลวง
ผมเห็นถึงความเชื่อมโยงของงานที่พวกผมทำกันแต่ละวันกับการสร้างชุมชน สังคม และประเทศ ทันทีที่ได้มีโอกาสพบกับป้าซิ้ม ฟังดูอาจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้ามองมุมกลับลงไปแล้ว สิ่งที่เราทำเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กให้มีโอกาส มีกำลัง และแข็งแกร่งมากขึ้น
เราทำงานไปเพื่ออะไร...?
แนวคิดในการดำเนินธุรกิจนี้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนตัวผมและทีมงานในการทำงานในแต่ละวัน เราเริ่มรู้ว่า ทุกวันเราทำงานหนักไปเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อตัวเอง หรือบริษัทที่เติบโตขึ้น แต่งานที่เราทำมันกำลังทำให้สังคมนี้ ประเทศนี้เติบโตขึ้น เช่นเดียวกัน….
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่เพียงอินเตอร์เน็ตในรูปแบบร้านค้าออนไลน์อย่างป้าซิ้มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำระบบการจัดการบัญชี บริหารสต็อกต่างๆ ที่จะช่วยให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเทศไทยเรายังมีธุรกิจชุมชนอีกเป็นจำนวนมาก จะมีสักกี่ธุรกิจที่จะสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้อย่างป้าซิ้ม
ผมได้เคยเขียนถึงสถิติการอยู่รอดของธุรกิจชุมชนและธุรกิจขนาดเล็กว่า มีเพียง 5% เท่านั้น อีก 95% ที่ต้องปิดตัวลงเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการดำเนินธุรกิจ เช่น บริษัทใหญ่ๆ หากธุรกิจชุมชนแต่ละแห่งเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง และใช้เทคโนโลยีมาช่วยก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
แต่จะดีกว่าไหม หากพวกเราร่วมด้วยช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ทรัพยากรที่เรามีให้กับคนที่ด้อยกว่าเพื่อการเติบโตร่วมกันของระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ธุรกิจเล็กๆ หรือคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสนใจในการแบ่งปันทรัพยากรและความรู้เช่นนี้
@@@ ข้อมูลโดยนิตยสาร SMEs PLUS @@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *