ข้าวไรซ์เบอร์รีได้มาจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 จากการพัฒนาพันธุ์ข้าวพิเศษ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี และให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค เมล็ดพันธุ์ที่ได้จะถูกแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่สนใจ และเข้าร่วมโครงการ
สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นเขตที่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย เพราะจะได้ข้าวที่มีคุณสมบัติดีตามคุณลักษณะ คือ เมล็ดเรียวยาว สีม่วงเข้ม มีกลิ่นหอมมะลิ ข้าวที่ได้จะเป็นข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี จัดอยู่ในกลุ่มข้าวเพื่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น แต่ชาวนาในภาคกลางต่างให้ความสนใจ และหันมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีกันมากขึ้น เพราะปลุูกง่าย และได้ราคาดี เช่น นครปฐม ปทุมธานี ชัยนาท สิงห์บุรี และจังหวัดใกล้เคียงต่างเข้าร่วมโครงการและปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ซึ่งผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีไม่แพ้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ
นายกิมหงวน ช่างทองคลองสี่ เจ้าของพื้นที่นาข้าวไรซ์เบอร์รีย่านคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า ตนและครอบครัวผันตัวเองหันมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีได้ประมาณ 3 ปี หลังจากได้เข้าร่วมโครงการของทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่เปลี่ยนมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีเพราะเห็นถึงคุณประโยชน์ของข้าวไรซ์เบอร์รี
โดยข้าวไรซ์เบอร์รี มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ โดยมีสารเบตาแคโรทีน แกมมาโอไรซานอล วิตามินอี แทนนิน สังกะสี โฟเลตสูง ป้องกันความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถกินข้าวชนิดนี้ได้ ซึ่งครอบครัวของคุณกิมหงวนเองประสบปัญหาเรื่องของโรคเบาหวาน จึงคิดว่าน่าจะเปลี่ยนมาปลูกข้าวชนิดนี้เพื่อจำหน่าย และยังใช้รับประทานภายในครอบครัวได้อีกด้วย
นายกิมหงวนเล่าว่า ครอบครัวตนเองมีพื้นที่ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีจำนวน 100 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายเองตามตลาดนัด และขายผ่านอินเทอร์เน็ต และบางส่วนมีพ่อค้าคนกลางมารับไปจำหน่าย เพราะการขายข้าวไรซ์เบอร์รีให้ได้ราคาจะต้องสีและจำหน่ายเอง ส่วนของราคาข้าวไรซ์เบอร์รีเดิมในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ราคากิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป แต่ในปีที่ผ่านมาราคาเริ่มลดลง เนื่องจากมีปลูกกันมากทั้งในภาคกลาง และภาคเหนือ ผลผลิตออกมามาก ตัดราคากันเอง ทำให้ปัจจุบันราคาเริ่มลดลงอยู่ที่ 80-90 บาท ในแต่ละปีต้องใช้ระยะเวลาในการขายถึง 5 เดือนถึงจะขายหมด
ในส่วนของผลผลิตที่ได้ต่อไร่ ประมาณ 400-500 กิโลกรัม ซึ่งการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีแตกต่างกับปลูกข้าวขาว เพราะข้าวไรซ์เบอร์รีจะไม่ชอบสารเคมี ถ้าปลูกแบบใช้สารเคมีผลผลิตที่ได้จะเมล็ดไม่เรียว ไม่ได้สีม่วงเข้ม และไม่มีกลิ่นหอมมะลิ ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกข้าวชนิดนี้จึงนิยมที่จะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มลูกค้าเองก็ต้องการข้าวไรซ์เบอร์รีที่เป็นเกษตรอินทรีย์มากกว่า
ขั้นตอนการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี เริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์ที่จะเป็นพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รีแท้ ดังนั้น เกษตรกรจึงนิยมที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ของตัวเอง เพราะถ้าซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ขายทั่วไปมักจะปลอมปนเมล็ดพันธุ์ของข้าวขาวมาด้วย ซึ่งเมื่อนำไปปลูก และมีข้าวขาวปนมาด้วยจะต้องเก็บออกให้หมด เพราะข้าวขาวลำต้นจะไม่แข็งแรง แมลงจะชอบ ถ้ามีข้าวขาวปนมากแมลงจะมาลงในแปลงนามากขึ้น
ทั้งนี้ เป็นข้อดีของข้าวไรซ์เบอร์รี ลำต้นแข็ง ทำให้แมลงไม่ชอบกิน และถ้าเราปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ลำต้นอวบอ้วนและไม่แข็งแรง เป็นที่โปรดปานของแมลง ดังนั้น เป็นเหตุผลที่ข้าวไรซ์เบอร์รีเหมาะกับการปลูกแบบอินทรีย์เป็นอย่างยิ่ง และเกษตรกรนิยมปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ระยะเวลาในการปลูกเหมือนข้าวขาว คือ 3-4 เดือน ปีหนึ่งปลูก 2 ครั้ง
นายกิมหงวนเล่าว่า การปลูกข้าว แบบเกษตรอินทรีย์ช่วยลดต้นทุนในเรื่องของปุ๋ย ยา เคมีได้กว่า 50% (การปลูกแบบเคมี ข้าวขาวต้นทุนต่อไร่กว่า 4,000-5,000 บาท) การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อไร่ แต่จะพบปัญหาเรื่องค่าแรง เพราะต้องใช้แรงงานคนในเก็บถอนหญ้าออก และต้องฉีดยาไล่แมลงบ่อยขึ้นเพราะสารจากธรรมชาติแค่ไล่ไม่ได้ฆ่า ถ้าหมดฤทธิ์ยาต้องฉีดใหม่ ซึ่งในตอนหลังเปลี่ยนมาใช้การเพาะแบบโยนต้นกล้าช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชและแมลงได้
สำหรับข้าวที่ได้จะนำมาบรรจุถุง แบบซีนปิดปากถุง บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม ซึ่งข้าวไรซ์เบอร์รีของนายกิมหงวนใช้แบรนด์ ข้าวรัชดา ทำออกมา 2 แบบ คือ ข้าวไรซ์เบอร์รีล้วน ราคากิโลกรัมละ 90 บาท ส่วนข้าวไรซ์เบอร์รีผสมข้าวขาว ราคาถูกลงมากิโลกรัมละ 60-70 บาท
โทร. 08-7118-8341
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *