xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาอ่างทองใช้เวลาว่างชลประทานปิดน้ำ เรียนรู้การทำนาแบบประหยัดต้นทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ่างทอง - ชาวนาอ่างทองอาศัยช่วงเวลาว่างหลังจากชลประทานหยุดจ่ายน้ำทำนาช่วงประสบภัยแล้ง รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือไร่ละพัน เข้าเรียนรู้วิธีการทำนาแบบประหยัดต้นทุนในโรงเรียนเกษตรกรทำนา เพื่อเตรียมความพร้อมลงมือทำนาในช่วงชลประทานปล่อยน้ำ พ.ค.นี้

วันนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรชาวนาในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ที่หยุดการทำนาหลังจากชลประทานหยุดจ่ายน้ำ และรัฐบาลได้ให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่นั้น ปรากฏว่าไ ด้มีเกษตรกรชาวนาบางส่วนได้อาศัยช่วงเวลาว่างระหว่างนี้มาเรียนรู้วิธีทำนาเพิ่มเติมจากโรงเรียนเกษตรกรทำนาจังหวัดอ่างทอง ณ โรงสีข้าวชุมชน หมู่ 1 ต.รำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง โดยทางโรงเรียนจะมีการเรียนการสอนสัปดาห์ละ 1 ครั้งจนครบหลักสูตร โดยมีทั้งทฤษฎี และปฏิบัติเพื่อให้เกษตรกรได้นำวิธีการทำนาไปใช้ในการลดต้นทุน และการเพิ่มผลผลิตการปลูกข้าวในช่วงชลประทานปล่อยน้ำทำนาพร้อมกันในช่วง พ.ค.2558 ที่จะถึงนี้

นายสมพิศ พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดอ่างทองได้เปิดโรงเรียนเกษตรกรทำนาจังหวัดอ่างทอง ทั้งหมด 25 แห่ง ในพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดอ่างทอง โดยมีการเรียนการสอนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ปัจจุบันมีเกษตรกรผ่านการเรียนมาแล้วทั้งสิ้น 864 ราย ซึ่งเกษตรกรได้ใช้เวลาว่างในช่วงฤดูแล้งนี้มาเรียนรู้เพื่อนำกลับไปปรับใช้กับแปลงนาของตนเอง อีกทั้งที่ผ่านมา เกษตรกรชาวนามีต้นทุนการผลิตที่สูง ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เกษตรกรชาวนาต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องการลดต้นทุนการผลิต โดยเริ่มต้นจากการใช้พันธุ์ข้าวให้น้อยลงเหลือ 5 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งจะส่งผลให้การลดต้นทุนในเรื่องของปุ๋ยเคมี สารเคมีลดลงตามลำดับ เนื่องจากข้าวมีการแตกกอ และมีพื้นที่ในการหาอาหารมากขึ้น พร้อมทั้งจะทำให้ปัญหาต่างๆ น้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากอากาศถ่ายเทได้ดี และไม่เป็นที่สะสมของโรคและแมลง แล้วก็จะทำให้ภาพรวมของจังหวัดอ่างทอง เกษตรกรมีการลดต้นทุนลดลงอย่างมาก

ด้าน นายขวัญเรือน ศรีสวัสดิ์ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ผมได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวจากแต่ก่อนเคยหว่านข้าวหนา โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวมากถึง 25 กิโลกรัมต่อไร่ แต่หลังจากที่ผ่านการอบรมจากโรงเรียนเกษตรกรทำนาจังหวัดอ่างทอง ได้ปรับแนวคิดและหันมาหว่านข้าวเพียง 5 กิโลต่อไร่ตามหลักสูตรที่ได้เรียนมา ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงเหลือไม่เกิน 2,000 บาทต่อไร่ และได้ผลผลิตมากกว่า 900 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเป็นผลดีต่อชาวนาทุกคนที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น