xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แผล SMEs ไทยโตยาก บริษัทใหญ่กดทับ แถมไร้เทคโนโลยีเด่นเฉพาะตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บนเวทีเสวนา ปฏิรูปอุตสาหกรรม : ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เวทีเสวนา “ปฏิรูปอุตสาหกรรม : ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย” ไฟแลบ ปลัด ก.อุตฯ ชี้ต้องเร่งเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ โดยเฉพาะเกษตรแปรรูป ด้าน ปธ.ส.อ.ท.จี้ภาครัฐปรับบทบาทจากตรวจสอบเป็นฝ่ายพี่เลี้ยงสนับสนุน ขณะที่สื่อมวลชนอิสระชี้เอสเอ็มอีไทยเกิดยากเพราะบริษัทใหญ่กดทับ ที่สำคัญไร้เทคโนโลยีเฉพาะตัว แนะจำกัดความเอสเอ็มอีให้ชัดเจน

จากงานเสวนา ปฏิรูปอุตสาหกรรม : ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) โดยวิทยากร ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายวีระ ธีรภัทรานนท์ สื่อมวลชนอิสระและนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง

ดร.อรรชกากล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ทว่า โดยรวมต้องอยู่บนพื้นฐานให้อุตสาหกรรมของไทยเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบ โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งประเทศไทยยังไม่ค่อยพัฒนาด้านการแปรรูปเท่าที่ควร เช่น ยางทุกวันนี้ยังเน้นทำยางแผ่น ส่วนการแปรรูปไปอยู่มาเลเซีย

ขณะที่การส่งเสริมเอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีอยู่จำนวนมาก เฉพาะเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมจำนวนถึง 6 แสนกว่าราย ดังนั้น การช่วยเหลือของภาครัฐจำเป็นที่จะต้องเจาะจงช่วยเหลือในกลุ่มที่จำเป็น และเร่งด่วนเสียก่อน เพื่อจะให้ทรัพยากรที่มีอยู่จำนวนจำกัดได้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ด้านนายสุพันธุ์กล่าวว่า การจะพัฒนาอุตสาหกรรม เราต้องมาดูพื้นฐานความพร้อมของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง ควบคู่กับดูกระแสของโลกว่ากำลังไปอยู่ในทิศทางใด โดยส่วนของพื้นฐานประเทศไทยมีวัตถุดิบการเกษตรจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถไปสู่การทำเกษตรแปรรูปได้มากนัก เนื่องจากปัจจุบันให้ความสำคัญเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) สร้างนวัตกรรมน้อยมาก ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นจึงพร้อมจะลงทุน ส่วนเอสเอ็มอียากที่จะทำได้ ดังนั้น บริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ๆ ควรจะต้องพยายามช่วยเหลือและดึงเอสเอ็มอีให้เติบโตคู่ไปด้วย

ส่วนในเรื่องของกระแสตลาด เอสเอ็มอีต้องมองไปยังความต้องการของโลก เช่น ประเทศต่างๆ จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง กระแสการเติบโตการค้าขายกลุ่ม CLMV ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนั้น สินค้าหรือบริการที่จะออกมาควรจะรับรองความต้องการเหล่านี้ด้วย

นอกจากนั้น ในส่วนภาครัฐ จากเดิมจะมีหน้าที่ในการตรวจสอบและอนุมัติ ต้องปรับบทบาทสู่ให้การสนับสนุน และเป็นที่ปรึกษา นอกจากนั้น ต้องทำงานในลักษณะเข้าไปช่วยเหลือให้ข้อมูล มากกว่าจะรอผู้ประกอบการเดินเข้ามาขอรับบริการ
นายวีระ ธีรภัทรานนท์  สื่อมวลชนอิสระและนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง
ขณะที่นายวีระกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงติดกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ไม่สามารถจะขยับไปสู่ประเทศกลุ่มรายได้สูง ในขณะเดียวกันก็ถูกประเทศกลุ่มรายได้ต่ำขยับดันขึ้นมา

สำหรับโอกาสของเอสเอ็มอีที่จะเติบโตก็เป็นเรื่องยาก ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทขนาดใหญ่ไม่ต้องการให้เอสเอ็มอีโตขึ้นมาเป็นคู่แข่ง รวมถึงบริษัทใหญ่บางรายไม่ต้องการไปแข่งในต่างประเทศ ก็จะเน้นขยายกิจการในประเทศ ทำให้โอกาสของเอสเอ็มอีเกิดยาก หรือการส่งสินค้าขายในโมเดิร์นเทรดต่างๆ สินค้าเอสเอ็มอีแทบไม่มีโอกาส เพราะต้นทุนสูงมาก นอกจากนั้นยังมีปัญหาซ้อนลงไปอีกที่เอสเอ็มอีมักจะทะเลาะกันเอง

นายวีระกล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ภาครัฐและเอกชนเห็นภาพเดียวกันที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่เอสเอ็มอีไทยยากจะเติบโต เพราะไม่มีเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเองจริงๆ ต่างจากเอสเอ็มอีของประเทศเยอรมนีที่มีความแข็งแรงมาก เพราะแต่ละรายมักจะมีเทคโนโลยีพิเศษเฉพาะตัว และจะพัฒนาเทคโนโลยีตัวนั้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ไม่สามารถทำได้ ต้องยอมซื้อใช้ ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ในการผลิตต้องใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์หลายพันชิ้น เอสเอ็มอีเยอรมนีแต่ละรายก็จะมีเทคโนโลยีส่วนตัว เช่น นอตขนาดพิเศษ ที่บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ไม่สามารถทำได้เอง ต้องยอมสั่งจากเอสเอ็มอีเหล่านี้ แต่สำหรับเอสเอ็มอีไทยแล้ว เราไม่มีเทคโนโลยีของตัวเองเลย การผลิตรถยนต์แค่ทำหน้าที่ผลิตตามคำสั่ง และต่อประกอบ โดยมีต่างชาติควบคุมอีกชั้น

ต่อคำถามว่า เอสเอ็มอีจะยกระดับจากรับจ้างผลิต (OEM) ไปสู่การผลิตตามรูปแบบตัวเอง (ODM) ได้อย่างไร นายวีระตอบว่า อันดับแรกต้องดูแต่ละอุตสาหกรรมว่ามีความจำเป็นต้องไปสู่ ODM หรือไม่ ถ้าบางธุรกิจทำ OEM ดีอยู่แล้วหรือเป็น OEM โดยธรรมชาติ ไม่เห็นความจำเป็นต้องไปเปลี่ยนสู่ ODM อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวสู่ ODM เช่น สิ่งทอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้นทุนสูงมาก ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ใครจะเป็นคนชี้แนะว่าธุรกิจใดบ้างควรจะไปสู่ ODM

ส่วนการมองตลาดที่คิดจะทำตลาดผู้สูงอายุ มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันหลายประเทศต้องการส่งออกคนชราไปไว้ในต่างประเทศเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และให้ไปใช้ทรัพยากรในต่างประเทศแทน ดังนั้น หากเราจะคิดเปิดประเทศเพื่อรับคนชราต่างชาติต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าให้ดี นอกจากนั้น การกำหนดว่าเป็น “เอสเอ็มอี” ควรจะจำกัดความให้ชัดเจน อย่าพูดรวมๆ ไม่ควรนำกลุ่มทำมาหากิน เช่น ขายข้าวมันไก่ ขายข้าวแกง ฯลฯ มารวมกับเอสเอ็มอี ไม่เช่นนั้นการช่วยเหลือจะไม่ตรงเป้า

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น