xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจแฟรนไชส์แรงผลักดัน ส่งเอสเอ็มอีไทย ก้าวสู่ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในขณะที่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน กำลังเกิดการรวมตัว และก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ในปี 2558 นี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ ถือว่า เป็นหัวใจสำคัญในการช่วยผลักดัน ให้ธุรกิจเอสเอ็มอี มีการขยายตัว และเข้าไปเติบโตในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ถือว่ามีการพัฒนา และเติบโตอยู่ในระดับต้น มีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะเติบโตในประเทศเพื่อนบ้าน โดยแบ่งธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ออกเป็น 11 ประเภท ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม และไอศกรีม เบเกอรี่ บริการ การศึกษา ความงาม ค้าปลีก งานพิมพ์ หนังสือ อสังหาริมทรัพย์ และโอกาสทางธุรกิจ อาทิ ธุรกิจขายตรง ธุรกิจออนไลน์

จากการสำรวจพบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ อาหาร เครื่องดื่ม กับไอศกรีม และบริการ ที่สำคัญคือสร้างรายได้ให้เจ้าของแฟรนไชส์ได้เป็นอย่างมาก จากสถิติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทย พบว่าในประเทศไทยมีธุรกิจแฟรนไชส์รวมถึง 446 กิจการ ประมาณ 83,622 สาขา

ทั้งนี้ แนวโน้มของธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2557 น่าจะยังเติบโตในเกณฑ์ดี โดยด้านยอดขายน่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 260,000 ล้านบาท

และแนวโน้มจากปี 2558 คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น 30% ยังมี นักลงทุนที่มีความสนใจระบบแฟรนไชส์และพร้อมที่จะลงทุนไม่น้อยกว่า 40,000 ราย ตามผลรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่งผลให้จํานวนและประเภทธุรกิจมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ในส่วนของการขยายตัวในประเทศเพื่อนบ้านของธุรกิจแฟรนไชส์ไทย พบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการแฟรนไชส์ของไทยไม่ต่ำกว่า 20 ราย สามารถเข้าไปเจาะตลาดต่างประเทศ อาทิ แฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม ความงาม โดยเฉพาะในประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนาม และลาว ต่างคุ้นเคยสินค้าไทยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ประกอบกับคู่แข่งในตลาดยังมีไม่มาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศที่แฟรนไชส์ ไทยสนใจเข้าไปลงทุน มากที่สุด จะเป็นเวียดนาม เนื่องจากชาวเวียดนามมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้มีอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น ชาวเวียดนามยังมีการศึกษาสูงขึ้น กับมีพฤติกรรมการบริโภคแบบชาวตะวันตกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศเวียดนามได้มีการปรับแก้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ในด้านธุรกิจ แฟรนไชส์ให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเปิดเสรีการค้าปลีกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ทำให้ประเทศเวียดนามมีความน่าสนใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

การเลือกประเภทธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับการลงทุน จึงควรพิจารณาให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ สภาพสังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค ไม่ควรลงทุนกับธุรกิจตามกระแสนิยมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนชนิดหรือประเภทธุรกิจของแฟรนไช ส์ให้ดี

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น