xs
xsm
sm
md
lg

ศก.เข็นไม่ขึ้น “บสย.” ยืดอกรับ ยอดค้ำสินเชื่อ SMEs ไม่ถึงเป้าแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
บสย.ยืดอกรับยอดค้ำประกันสินเชื่อปีนี้ไม่ถึงแสนล้านบาทตามเป้า ยอด 9 เดือนแรกรวม 4.2 หมื่นล้านบาท ชี้เหตุ ศก.โตต่ำกว่าคาด ขณะที่ 5 มาตรการหนุนไม่แรงอย่างหวัง ฮึด 3 เดือนสุดท้ายถึง 7 หมื่นล้านบาท ลุยขยายสาขาใหม่เข้าถึงลูกค้าใกล้ชิดและถี่ยิ่งขึ้น ล่าสุดเปิดสาขาอุบลฯ รับการเติบโตตลาดค้าชายแดน

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ยอดค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีรวมของ บสย. นับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท โดยช่วงเวลาที่เหลืออีกประมาณ 3 เดือนของปีนี้ (2557) ยอมรับว่ายอดค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีของ บสย. คงไม่ถึง 1 แสนล้านบาทตามเป้าที่วางไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

สาเหตุสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน ซึ่งคาดการณ์ GDP รวมจะเติบโตเพียง 1.5% อีกทั้งการส่งออกชะลอตัว หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูง ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน เหล่านี้ประกอบกันทำให้ยอดอนุมัติสินเชื่อเอสเอ็มอีของสถาบันการเงินไม่เติบโตนัก แม้ว่า บสย.จะออก 5 มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว แต่ยอดค้ำประกันเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท ไม่ได้เพิ่มสูงมากตามที่คาดหวังไว้

“ยอดค้ำ 1 แสนล้านบาทที่เราวางไว้เมื่อต้นปี ประเมินจากยอดค้ำปี 2556 ที่สูงถึง 8.7 หมื่นล้านบาท และอัตราเติบโต GDP ที่คาดจะโต 4-5% แต่หลังจากผ่านมา 2 เดือนแรกของปีเราก็เห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว ยิ่งมีปัญหาการเมืองทำให้ปัญหาหนักขึ้นไปอีก เราจำเป็นลดยอดมาเหลือ 5.7 หมื่นล้านบาท แต่หลังปัญหาการเมืองคลี่คลาย และ คสช. (คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ) จะได้อนุมัติให้ บสย. ออก 5 มาตรการช่วยเอสเอ็มอี เลยมีความหวัง ยอดจะถึงแสนล้านอีกครั้ง แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่ำกว่าที่คาด ผมยอมรับว่าคงไม่ถึงเป้าแสนล้านที่วางไว้แล้ว” นายวิเชษฐกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ทาง บสย. จะพยายามกระตุ้นยอดค้ำสินเชื่อให้สูงที่สุด ตั้งเป้าว่าจะให้ถึง 6-7 หมื่นล้านบาท ด้วยวิธีการขยายสาขาใหม่ๆ ไปตามจังหวัดหลักที่มีศักยภาพ อย่างล่าสุด บสย.ได้เปิดสำนักงานใหม่ที่สาขาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลลูกค้าเอสเอ็มอีในภาคอีสานให้ใกล้ชิดขึ้น จากเดิมที่ในภาคอีสาน บสย.จะมีสาขาเพียง 2 แห่ง ได้แก่ จ.นครราชสีมา กับ จ.อุดรธานี

สำหรับเหตุที่เลือกเปิด ณ จ.อุบลราชธานี เพราะเห็นโอกาสเติบโตจากการค้าชายแดน ด่านช่องเม็ก มูลค่าการค้าปีละกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท อัตราเติบโตจากปีที่แล้ว 17% โดยสาขาอุบลราชธานี จะครอบคลุมพื้นที่การให้บริการในเขตภาคอีสานตอนล่าง 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และร้อยเอ็ด

โดยผลการดำเนินงานของ บสย.ในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าว ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีลูกค้าเอสเอ็มอีใช้บริการรวม 667 ราย วงเงินค้ำประกันกว่า 1.4 พันล้านบาท กลุ่มธุรกิจที่ใช้บริการ 5 อันดับแรก ประกอบการด้วย 1. ภาคการผลิต-ภาคการค้า 2. อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 3. กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค 4. ธุรกิจบริการ และ 5. กลุ่มเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ และคาดว่าหลังจากเปิดสาขาใหม่แล้ว คาดว่าเป้าค้ำประกันจะถึง 2 พันล้านบาท

นอกจากนั้น พยายามนำเสนอบทบาทของ บสย.ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น เช่น มีการจัดปฐมนิเทศลูกค้าเก่าของ บสย.ให้ช่วยบอกต่อในกลุ่มธุรกิจ หรือเครือข่ายของตัวเอง เพื่อให้เห็นประโยชน์ของการใช้บริการ บสย. และสิทธิพิเศษจาก “5 มาตรการ บสย.เพื่อSMEs” ประกอบด้วย 1. รัฐจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 2. รัฐช่วยเหลือกลุ่มรายย่อย Micro 3. ช่วยเหลือกลุ่ม OTOP 4. มาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และ 5. มาตรการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น