ช่วงค่ำวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2549 น้ำป่าจากเทือกเขาสูง มาพร้อมก้อนหินขนาดยักษ์ ซากต้นไม้นับไม่ถ้วน ไหลถล่มหมู่บ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จนย่อยยับ มีผู้เสียชีวิต 7 คน บ้านพังกว่า 100 หลัง พื้นที่เกษตร และโรงงานโครงการหลวง ซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพหลักของชาวชุมชนถูกทำลายสิ้น นับเป็นภัยธรรมชาติร้ายแรงที่สุดที่ชาวบ้านยางเคยประสบ
จากวิกฤตดังกล่าว นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อชาวบ้านยางร่วมแรงร่วมใจฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น พัฒนาชุมชนสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นำเสนอวัฒนธรรมงดงาม และอาหารท้องถิ่นแบบ “จีนยูนาน” ให้ผู้มาเยือนลิ้มลอง ปลุกการค้าขายกลับมาคึกคักและคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น คืนรอยยิ้มสู่ชาวบ้านยางอีกครั้ง
กิตติพงศ์ ยาวุฒิ ผู้ใหญ่บ้านบ้านยาง เล่าว่า บ้านยางมีประมาณ 200 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 1,200 คน เป็นชุมชนเล็กๆ รู้จักคุ้นหน้าคุ้นตากันแทบทุกคน ใช้ชีวิตแบบเงียบสงบ มีรายได้จากการทำเกษตรกับทำงานในโรงงานของโครงการหลวง แต่หลังภัยน้ำป่าดังกล่าว ชาวบ้านสูญเสียอาชีพหลัก จึงหารือร่วมกัน หาทางสร้างอาชีพใหม่ระหว่างรอฟื้นฟูความเสียหาย เป็นที่มาของแนวคิดพัฒนาหมู่บ้านสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่
“ผมเกิดและเติบโตที่นี่ เห็นศักยภาพชุมชนมีวัฒนธรรมจีนยูนานแท้ๆ สถาปัตยกรรมบ้านเรือนแบบจีนโบราณ และเรามีอาหารท้องถิ่นอร่อย คนภายนอกหากินได้ยาก การเดินทางมาที่บ้านยาง ก็สะดวกอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ แค่ 120 กิโลเมตร ถนนใหญ่เข้าถึงหมู่บ้านได้โดยตรง และยังเป็นที่ตั้งของโรงงานโครงการหลวง เหมาะจะพัฒนาหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเวลานั้น ทางกรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามาช่วยสนับสนุนทุกๆ ด้าน เช่น อบรมพัฒนาสินค้าท้องถิ่นเป็นของฝาก พาชาวบ้านไปดูงานตามหมู่บ้านท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อนำกลับมาประยุกต์ให้เหมาะกับบ้านเรา” กิตติพงศ์ กล่าว และเสริมต่อว่า
จากการระดมสมองของชาวบ้านยาง พวกเขาเลือกจะนำเสนอจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรมจีนยูนาน โดยเฉพาะอาหารแบบดั้งเดิม ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านที่มีความพร้อม และมีฝีมือปลายจวัก ทำอาหารต้นตำรับต่างๆ มาขายนักท่องเที่ยว ส่วนคนที่ไม่ได้ผลิตสินค้าใดๆ ขอความร่วมมือรักษาความสะอาดบ้านเรือนตัวเองให้น่ามอง โดยเริ่มเปิดตัวเป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village Champion : OVC) ในปี พ.ศ.2552 การทำตลาดในช่วงแรก กรมการพัฒนาชุมชนพาสื่อมวลชนเข้ามาเยี่ยมชม เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ จากนั้น เกิดกระแสปากต่อปาก มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ มาเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้นโดยลำดับ
@@@ “เจ๊เหมย สุกี้ยูนาน” โตได้ด้วยบอกต่อ @@@
หนึ่งในผู้ประกอบการชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และกระแสบอกต่อถึงอาหารจีนโบราณรสเลิศ คือ “แสงสุนีย์ บัวฝิน” เจ้าของร้าน “เจ๊เหมย สุกี้ยูนาน” ซึ่งคนต่างถิ่นผ่านไปมา อาจต้องแปลกใจ ว่าในท้องถิ่นไกลๆ เช่นนี้ กลับมีร้านอาหารจีนขนาดใหญ่แบบนี้ตั้งอยู่
เธอ บอกว่า เดิมทำเกษตรสวนลิ้นจี้ ทั้งปลูกเองและรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้าน แต่หลังภัยน้ำท่วม เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทางชุมชนพยายามจะผลักดันให้บ้านยางเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้อาหารเป็นจุดขาย ทว่า ระยะแรกไม่มีใครยอมทำ ในฐานะที่เธอมีความพร้อมเรื่องทุนและสถานที่ และชาวบ้านยกให้เป็นหนึ่งในผู้นำชุมชน จึงต้องลงมือทำเป็นตัวอย่าง เปิดขาย “สุกี้ยูนาน” แท้ๆ ซึ่งเป็นอาหารที่ทำกินเองในครอบครัวอยู่แล้ว
เจ๊เหมย เผยต่อว่า เริ่มต้นจากมีแค่ 5-6 โต๊ะ ปีแรกแทบไม่มีลูกค้าเลย กระทั่งปีต่อมา เมื่อนักท่องเที่ยวมาที่บ้านยางมากขึ้น แล้วได้มาลองชิมสุกี้ยูนานสูตรต้นตำรับ ช่วยกลับไปบอกต่อ รวมถึงได้รับการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐหลายแห่ง และทางร้านเสริมการทำตลาด ด้วยการทำป้ายตามริมถนนมา อ.ฝาง และทำเว็บไซต์ (www.yunnan-restuarant.com) ช่วยให้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน มีโต๊ะบริการกว่า 40 โต๊ะ รับลูกค้าได้สูงสุดกว่า 1,000 คน แต่ละวันจะมีขาประจำแวะเวียนมากินเรื่อยๆ ส่วนฤดูท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคม จะเต็มแน่นทุกที่นั่ง
สำหรับสุกี้ยูนาน ประกอบกับเครื่องที่อัดมาเต็มๆ 9 ชนิด ได้แก่ ผักดอง ไก่ดำ หน่อไม้แห้ง เผือก หมูชุบแป้งท้อง ฟองเต้าหู้ แฮมหมู ไข่ม้วน และลูกชิ้นปั้น ทุกชนิดทำเองหมด ตามด้วยใส่ผักประจำฤดูกาล กินคู่กับน้ำจิ้มที่ให้เลือกแบบหวานกับเผ็ด ส่วนขนาดมีให้เลือกตั้งแต่หม้อเล็ก กลาง และใหญ่ ราคา 1,200 1,500 และ 1,700 บาท เหมาะกินได้ 10-15-20 คน ตามลำดับ นอกจากนั้น เมนูดังอื่นๆ เช่น ไก่ดำตุ๋นยาจีน ขาหมูยูนาน ยำออซุ่น เป็นต้น
นอกจากนั้น จากที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทางร้านได้ขยายทำห้องพัก จำนวน 5 หลัง ราคาก่อสร้างหลังละประมาณ 300,000 บาท ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนระดับโรงแรม ทั้งห้องน้ำในตัว เครื่องปรับอากาศ ไวไฟ ราคาที่พักหลังละ 1,200-1,600 บาทต่อหลัง อีกทั้ง ภายในร้านยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านบ้านยางนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาวางขายได้ด้วย สนใจไปชิมอาหารร้านนี้ ติดต่อได้ที่ 081-366-3010
@@@ “บะหมี่ไข่” สูตร 100 ปี ติดใจต้องซื้อซ้ำ @@@
“บะหมี่ไข่” ฝีมือสามีภรรยา “กวางวู แซ่จาง” และ “อุษา แซ่ม้า” เป็นอีกสินค้าที่นักท่องเที่ยวมักซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเสมอ เพราะเป็นบะหมี่โบราณหากินไม่ได้จากที่อื่น กวางวู บอกว่า ทำอาชีพนี้เพราะมีสูตรบะหมี่อายุกว่า 100 ปี สืบทอดมาจากบรรพบุรุษชาวจีน ส่วนผสมมีเพียงแป้งอเนกประสงค์ ไข่ และเกลือเท่านั้น ไม่ใส่สารเคมี หรือสารกันเสียใดๆ ทั้งสิ้น เคล็ดลับความอร่อยมาจากการผสมและนวดแป้ง โดยเป็นเส้นสด จุดเด่นเส้นนุ่นและเหนียว นำไปทำได้ทั้งก๋วยเตี๋ยวแห้ง-น้ำ หรือเป็นก๋วยเตี๋ยวผัดก็ได้
อุษา บอกว่า ทุกขั้นตอนทำกันเองแค่สองคน ขายเฉพาะที่หน้าบ้านตัวเอง หลังจากนักท่องเที่ยวซื้อกลับไปกินแล้วติดใจ แต่ไม่รู้จะซื้อได้ที่ใด เลยมักจะโทร.มาสั่งให้ส่งทางไปรษณีย์ต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีออเดอร์เกือบทุกวัน ส่งไปทั่วไปประเทศ ขายห่อละ 60 บาท สร้างรายได้ให้ประมาณเดือนละ 2 หมื่นบาท เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของเราสองคน อยากลองชิมบะหมี่ไข่สูตร 100 ปี ติดต่อ 081-881-7629
@@@ ชวนลองชิม “ข้าวซอยตัด”ต้นตำรับแท้ๆ@@@
ในแถบภาคเหนือของไทย อาจจะหาขนม “ข้าวซอยตัด” กินได้ไม่ยาก แต่ทั้งหมดจะเป็นรสชาติที่ประยุกต์ให้ถูกปากคนไทยมากยิ่งขึ้น แต่หากอยากจะกินข้าวซอยตัดแบบโบราณแท้ๆ ที่บ้านยางมีบริการ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยี่ศิริไพศาล เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านยาง 7 คน
วณิชยา ทวีสุขภัทรกุล ประธานกลุ่ม เล่าว่า ขนมข้าวซอยตัดเป็นขนมที่ชาวจีนยูนานนิยมทำและกินในเทศกาลสำคัญต่างๆ หลังจากที่ชุมชนมีแนวคิดอยากให้ชาวบ้านทำอาชีพผลิตอาหารท้องถิ่นโบราณ เลยเกิดการร่วมกลุ่มขึ้น โดยจุดเด่นเน้นทำเป็นข้าวซอยตัดแบบโบราณแท้ๆ ไม่แต่งกลิ่น ยอดผลิตประมาณวันละ 250-300 แพคต่อวัน
ลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเยือนบ้านยาง นอกจากนั้น ยังส่งไปขายตามร้านของฝากในตัวเมือง จ.เชียงใหม่ และสนามบินเชียงใหม่ด้วย ราคาถูกแพคละ 25 บาท ยอดขายประมาณหลักหมื่นบาทต่อเดือน รายได้ที่เข้ามาจะใช้เป็นทุนหมุนเวียน ผลิตสินค้าเพื่อขายอย่างต่อเนื่อง อยากชิมข้าวซอยตัดแบบต้นตำรับ โทร.083-152-5938
@@@ “ขนมก้ามปู” ตำนานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น @@@
ขนมก้ามปู ที่มีแป้งเป็นส่วนผสมหลัก นำลงทอดให้เหลืองสุกเสมอ โดยรูปลักษณะคล้ายก้ามของปู คือขนมอีกรายการหนึ่งที่เป็นสูตรโบราณของคนจีนยูนาน โดย “ศิริวรรณ แซ่ม้า” ชาวไทยเชื้อสายจีนมุสลิม เล่าว่า ขนมชนิดนี้เป็นขนมที่คุณทวดทำไปงานบุญมาเนิ่นนาน และการสืบทอดขนมชนิดนี้ก็ตกมาสู่ลูกหลาน
ในวันนี้ เธอได้ลงมือสานต่อโดยผลิตสินค้าออกจำหน่ายในราคา ห่อเล็ก 10 บาท และห่อใหญ่ 20 บาท โดยนอกจากขายปลีกหน้าบ้านของตนเองแล้ว ยังมีผู้สนใจรับไปขายต่อ ทั้งหมดทำเองขายเอง มากว่า 10 ปี ตั้งแต่ก่อนจะเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเสียอีก มีรายได้วันละประมาณ 700 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย เหลือกำไรไม่มากนัก แต่เนื่องจากทำเพียงคนคนเดียว และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ด้วยราคาเท่านี้ จึงเพียงพอ โทร.081-252-4543
@@@ ท่องเที่ยวหนุนยอดขายขนมเปี้ยะเจ้าแรกบ้านยาง @@@
ครอบครัวของ “เกียรติศักดิ์ วิลาศชัยเจริญ” ทำขนมเปี้ยะมากว่า 50 ปีแล้ว โดยเขามาสืบทอดกิจการครอบครัวเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ยึดสูตรแบบขนมเปี้ยะจีนยูนานแท้ๆ ถือเป็นผู้ผลิตขนมเปี้ยะเจ้าแรกในบ้านยาง มีเอกลักษณ์สำคัญ คือ ลักษณะแป้งบางและละเอียด ส่วนไส้ผสมกับระหว่างถั่วแดงกับถั่วดำ
ก่อนที่หมู่บ้านยางจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้น จะมีช่องทางตลาดเฉพาะขายส่งไปตามร้านขายของฝากใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย และตามตลาดค้าชายแดน แต่หลังจากที่การท่องเที่ยวในท้องถิ่นคึกคักขึ้น ทำให้ได้รับอานิสงส์มีลูกค้าเข้ามาซื้อถึงแหล่งผลิต ทำให้มีรายได้เพิ่มจากขายหน้าร้านด้วย ยอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 20% โดยเฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยว ลูกค้ามาซื้อมาก จนถึงขั้นทำไม่ทันขายเลยทีเดียว
สำหรับยอดทำโดยเฉพาะประมาณ 3,000 ชิ้นต่อวัน ราคาขายส่งและขายหน้าร้านที่บ้านยาง อยู่ที่ชิ้นละ 5 บาทเท่านั้น ส่วนราคาขายปลีก ที่ผู้รับไปขายต่อ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ชิ้นละ 10 บาท ต้องการกินขนมเปี้ยะอร่อยราคาถูกเช่นนี้ ติดต่อได้ที่ 087-174-9640 และ 053-051-047
@@@ ต่อยอดกระแสท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน @@@
ย้อนกลับมาที่ผู้ใหญ่บ้านบ้านยาง กล่าวว่า ทุกวันนี้ ชาวบ้านตื่นตัวลุกขึ้นมาประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น อาหารโบราณ สินค้าหัตถกรรม และห้องพัก โฮมสเตย์ ที่รวมแล้วสามารถรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 100 คน ขณะที่มีนักท่องเที่ยว เดินทางมาบ้านยางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยกว่า 500-600 คนต่อสัปดาห์ ช่วยให้ความเป็นอยู่ชาวบ้านดีขึ้นไปด้วย มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มเป็นประมาณ 50,000 บาทต่อคนต่อปี ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานในเมือง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาเกิดความยั่งยืน ในด้านภัยธรรมชาติได้ก่อสร้างแนวเส้นคอนกรีตป้องกันก้อนหินและซากไม้จะเข้าถล่มหมู่บ้านอีก รวมถึง ระดมชาวบ้านช่วยกันทำฝายธรรมชาติชะลอน้ำป่า ส่วนด้านสังคม เพื่อรักษาวิถีชีวิตแบบอดีตไว้ เช่น รณรงค์การพูดคุยระหว่างคนในชุมชนและในครอบครัวใช้ภาษาจีนท้องถิ่นเหมือนเดิม มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาจีนที่บ้านยาง รวมถึง ให้เด็กๆเยาวชนในหมู่บ้านมาทำหน้าที่เป็นไกด์อาสาแนะนำการท่องเที่ยวให้แก่แขกที่มาเยือน เป็นการปลูกฝังสำนึกรักบ้านเกิดของคนรุ่นใหม่
และที่สำคัญ ชาวชุมชนมีกติการ่วมกัน จะไม่ขายบ้านหรือที่ดินให้แก่นายทุนภายนอกที่หวังเข้ามาทำธุรกิจ และหากมีคนอยากเข้ามาทำอาชีพในชุมชนแหล่งนี้ ต้องเป็นคนหมู่บ้านใกล้เคียงเท่านั้น และสินค้าที่จะขายต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมจีนโบราณของชาวบ้านยางด้วย เหล่านี้เพื่อให้หมู่บ้านยังรักษาความดีงามแบบดั้งเดิมที่มีมาให้คงอยู่ตลอดไป
รู้จัก 'บ้านยาง' เสน่ห์แห่งความต่าง |
หมู่บ้านยาง ตั้งอยู่ที่ ต.แม่งอน อ.ฝาก จ.เชียงใหม่ เดิมเป็นถิ่นอาศัยของชาวยาง หรือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จนเมื่อประมาณ พ.ศ.2459 ชาวจีนยูนานได้อพยพหนีภัยสงครามจากประเทศจีนมาปักหลักตั้งถิ่นฐาน โดยอยู่ภายใต้สายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทุกคนในหมู่บ้านล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์เข้ามาพลิกผืนดินที่เดิมเต็มไปด้วยการปลูกไร่ฝิ่น ให้กลายมาเป็นแหล่งเกษตรนานาชนิด เช่น สตรอเบอรี่ ลิ้นจี่ ลูกท้อ ฯลฯ นอกจากนั้น ในปี พ.ศ.2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงริเริ่มให้เกิดโครงการพระราชดำริหลายโครงการ โดยเฉพาะการสร้างโรงงานหลวง เพื่อเป็นแหล่งแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรนานาชนิดของโครงการหลวง เพื่อจะสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น ในหมู่บ้านแห่งนี้ มีเอกลักษณ์เด่นด้านวัฒนธรรม เพราะมีความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนาสูงมาก แต่อยู่กันได้อย่างสงบสุข ชาวชุมชนรักสามัคคีกลมเกลียวอย่างสูง โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 98 เป็นคนไทยเชื้อสายจีน นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม มากตามลำดับ บรรยากาศภายในชุมชน อายุเย็นเกือบตลอดทั้งปี เงียบสงบยังคงลักษณะเอกลักษณ์แบบจีนยูนานโบราณ ทั้งสถาปัตยกรรมบ้านเรือนแบบจีน อาหารท้องถิ่น และวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิม ปัจจุบันมี ประมาณ 200 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 1,200 คน อาชีพสำคัญทำการเกษตร ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเด่นในท้องถิ่น คือ พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง และน้ำตก กับบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ ที่ใช้เวลาเดินทางจากหมู่บ้านแค่เพียง 20 นาที |
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *