xs
xsm
sm
md
lg

“กัลลิเวอร์” ยักษ์แดนญี่ปุ่นบุกไทย สยายปีกแฟรนไชส์ขายรถมือสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธุรกิจภายใต้ชื่อ “กัลลิเวอร์” (Gulliver) ถือเป็นเจ้าตลาดในวงการค้าขายรถมือสองของแดนอาทิตย์อุทัย ด้วยอายุการก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี มีสาขาแฟรนไชส์กว่า 430 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณการซื้อรถมือสองเข้ามาค้าต่อปีเฉลี่ยกว่า 200,000 คัน และขายผ่านแฟรนไชส์ 60,000 คัน ที่เหลือ 14,000 คันขายผ่านโชว์รูมเครือข่ายของกัลลิเวอร์ทั่วดินแดนซามูไร

ขณะเดียวกัน สำหรับตลาดรถในเมืองไทยแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมองลึกไปถึงรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย (เจโทร) รายงานเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2556) ว่า ประเทศไทยเมื่อปี 2553 มีสัดส่วนการเป็นเจ้าของรถในภาคครัวเรือนคิดเป็น 13.8% ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนการมีรถในครัวเรือนสูงถึง 86.5% ข้อมูลดังกล่าวบ่งบอกว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจค้ารถในเมืองไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก

ปัจจัยข้างต้นดึงดูดให้บริษัทค้ารถรายใหญ่ของญี่ปุ่นแห่งนี้เห็นโอกาสเข้ามาขยายธุรกิจแฟรนไชส์ค้ารถมือสองในประเทศไทย ด้วยการร่วมทุนกับธุรกิจไทย อย่าง “วี-กรุ๊ป” ผู้ดำเนินธุรกิจขายสินค้าเกี่ยวกับรถยนต์ ซ่อมสี ขนส่ง และเป็นตัวแทนขายรถอีกหลายยี่ห้อ ภายใต้ “บริษัท วี-กัลลิเวอร์ จำกัด” ตั้งเมื่อปีที่แล้ว (2556) โดยทางวี-กรุ๊ป ถือหุ้น 51% และ 49% ถือโดยกลุ่มกัลลิเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
คัทซิชิ โนมูระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี-กัลลิเวอร์ จำกัด
คัทซิชิ โนมูระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี-กัลลิเวอร์ จำกัด กล่าวว่า จากที่ทางกลุ่ม “กัลลิเวอร์” ประสบความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์ค้ารถมือสองในประเทศบ้านเกิดมาแล้ว ทางกลุ่มฯ มีแนวคิดขยายกิจการแฟรนไชส์ไปสู่ต่างประเทศ โดยเลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรก ด้วยเหตุผลเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจค้ารถในเมืองไทย ตามข้อมูลของเจโทรที่ได้กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนั้นยังเห็นช่องว่างของตลาดรถมือสองในประเทศไทย ปัจจุบันผู้ทำธุรกิจนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน คือ 1. เป็นของค่ายรถเอง มีจุดเด่นที่ความน่าเชื่อถือ ทว่า มีข้อจำกัดเรื่องความหลากหลายของรถ เพราะส่วนใหญ่จะมีเฉพาะยี่ห้อของค่ายตัวเอง และ 2. เต็นท์ขายรถมือสองทั่วไป จุดเด่นมีรถให้เลือกความหลากหลาย ทว่า จุดอ่อนยังขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ทางกลุ่ม“กัลลิเวอร์” พยายามเข้ามาเจาะตลาดตรงกลางระหว่างสองกลุ่มดังกล่าว อาศัยจุดเด่นที่เป็นแบรนด์ดังของญี่ปุ่น มีความน่าเชื่อถือ เสนอราคาที่เป็นธรรม ในขณะเดียวกัน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องค่าย มีรถมือสองให้เลือกหลากหลายทุกยี่ห้อ

“แม้ในช่วงปีที่ผ่านมาตลาดรถในเมืองไทยจะซบเซาลง แต่เรามองการทำธุรกิจในระยะยาว และเชื่อว่าตลาดรถมือสองในไทยจะเติบโตอีกมาก เพราะอัตราการมีรถของครัวเรือนไทยนับวันจะมีแต่ขยายตัว ซึ่งจะทำให้ธุรกิจรถมือสองเติบโตตามไปด้วย” กรรมการผู้จัดการชาวญี่ปุ่นกล่าว

ทั้งนี้ รูปแบบแฟรนไชส์ “กัลลิเวอร์” นั้นจะยึดตามโมเดลบริษัทแม่ โดยมีหัวใจอยู่ที่ระบบ “PSA” (Purchase and Sales Assessment System) ซึ่งเป็นระบบเก็บข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ที่รวบรวมราคาซื้อขายของรถเก่าจากทุกกลุ่มไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ค้า ผู้ประมูลรายใหญ่ ฯลฯ แล้วนำมาทำเป็นระบบฐานข้อมูลออนไลน์ ช่วยให้สามารถเข้าไปสืบค้นหา “ราคากลาง” ของรถแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อได้ ทำให้ราคาที่จะซื้อขายกันเป็นราคาที่เป็นธรรม สร้างความเชื่อมั่นแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

โดยในประเทศญี่ปุ่นได้รวบรวมข้อมูลลูกค้าไว้กว่า 4 ล้านรายตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนการนำระบบ PSA มาใช้ในประเทศไทยได้พัฒนาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยการทำเป็นเวอร์ชันภาษาไทย รวบรวมข้อมูลรถเก่าจากผู้ค้า ผู้ประมูลรายใหญ่ เช่น ทริปเปิล เอ, แมนไฮม์, แอปเปิล อ็อคชั่น และสหการประมูล เป็นต้น สามารถใช้งานหาข้อมูลผ่านอุปกรณ์สื่อสารทั้งแท็บเล็ต สมาร์ทโฟนได้แบบเรียลไทม์ เช่น เมื่อจะขายรถ พนักงานจะประเมินราคาด้วยการเข้าไปป้อนข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของรถ ทั้งยี่ห้อ รุ่น เครื่องยนต์ อุปกรณ์เสริมต่างๆ ระยะการใช้งาน เป็นต้น พร้อมทั้งส่งรูปและวิดีโอที่บันทึกภาพรถไปยังผู้จัดการประเมินราคา จากนั้น ราคาประเมินของรถจะถูกส่งกลับมายังพนักงานเพื่อแจ้งบอกลูกค้าต่อไป ซึ่งตัวลูกค้าก็สามารถเปรียบเทียบราคาที่ได้รับการนำเสนอกับราคากลางได้ทันที จากวิธีนี้ทำให้ได้ราคาที่เป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย

“การประเมินราคารถที่ใช้กันอยู่ บางครั้งอาจจะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องอย่างแท้จริง เช่น ในกรณีผู้จะขายรถไม่มีความรู้เรื่องรถมากนัก ก็อาจจะถูกกดราคาให้ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ระบบ PSA จะทำให้ราคาที่ขายเป็นราคามาตรฐานของตลาด” ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นกล่าว

นอกจากนั้น รูปแบบบริหารตามโมเดลของบริษัทแม่ที่จะมาใช้กับแฟรนไชส์ของไทย คือ สาขาแฟรนไชส์กัลลิเวอร์ทุกแห่งจะสามารถแลกเปลี่ยนรถในสต๊อกระหว่างกันได้ ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายมีสินค้าที่หลากหลายเพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้น

อีกทั้งมีระบบสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าที่มาซื้อรถจากแฟรนไชส์กัลลิเวอร์ ในกรณีซื้อรถไปแล้วเกิดมีปัญหาจากทางผู้ขายจะรับซื้อสินค้าคืนภายใน 30 วัน หรือ 5,000 กิโลเมตร พร้อมทั้งรับประกันมาตรฐาน 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร
พุฒิพันธุ์ ธรรมวิชัย กรรมการบริหาร บริษัท วี-กัลลิเวอร์
ในส่วนรูปแบบการลงทุนแฟรนไชส์ธุรกิจขายรถมือสอง แบรนด์ “กัลลิเวอร์” นั้น พุฒิพันธุ์ ธรรมวิชัย กรรมการบริหาร บริษัท วี-กัลลิเวอร์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า ใช้เงินลงทุนแฟรนไชส์รวม 25 ล้านบาท แบ่งเป็น 10 ล้านบาทสำหรับเป็นค่าก่อสร้างและค่าสถานที่ตั้งร้านบนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ นอกจากนั้น เก็บค่าแฟรนไชส์ฟี (Franchise Fee) 2.8 ล้านบาท รอยัลตีฟี (Royalty Fee) 3 แสนบาทต่อเดือน ค่าระบบคอมพิวเตอร์ 3 หมื่นบาท ส่วนที่เหลือไว้เป็นทุนหมุนเวียนในการซื้อหารถและสต๊อกรถ โดยแหล่งที่มาของรถมือสองนั้น นอกจากรับซื้อจากลูกค้าที่มาขายหน้าร้านแล้ว ทางบริษัทแม่จะแนะนำแหล่งประมูลรถราคาพิเศษให้แก่แฟรนไชซี

ด้านรายได้ของแฟรนไชซีจะมาจากส่วนต่างของราคาจากการรับซื้อและขายออกไป เฉลี่ยคันละหลักหมื่นบาท ตั้งเป้าแฟรนไชซีควรจะมียอดขาย 30-50 คันต่อเดือน ซึ่งจะทำให้มีอัตราคืนเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 3 ปี นอกจากนั้น ทางส่วนกลางจะมีระบบสนับสนุนสาขาแฟรนไชส์ เช่น การฝึกอบรมก่อนการเริ่มธุรกิจ และการทำตลาดส่งเสริมแบรนด์จากส่วนกลาง

ย้อนกลับมาที่ คัทซิชิ โนมูระ กล่าวเสริมว่า กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาร่วมธุรกิจเป็นแฟรนไชส์ วางไว้ที่กลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สนใจอยากจะทำธุรกิจนี้ กับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรถมือสองอยู่แล้ว ทั้งผู้ค้ารถมือสองอิสระ เต็นท์รถมือสอง บริษัทเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้มีพื้นฐานความพร้อมอยู่แล้ว เมื่อมาใช้แบรนด์และระบบของ “กัลลิเวอร์” จะช่วยเติมความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นจากลูกค้า

ทั้งนี้ แผนขยายธุรกิจแฟรนไชส์ ปัจจุบันมีแฟรนไชส์สาขาแรกแล้วที่ถนนศรีนครินทร์ และตั้งเป้าว่าภายในปีนี้ (2557) จะมีสาขาแฟรนไชส์ทั่วประเทศไทยประมาณ 10 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นย่างบางนา รามอินทรา และจังหวัดสำคัญๆ เช่น นครสวรรค์ เชียงใหม่ เป็นต้น และในปีหน้า (2558) ตั้งเป้าจะมีถึง 100 สาขา

ตารางลงทุนแฟรนไชส์ "กัลลิเวอร์"
1. ใช้เงินลงทุนแฟรนไชส์รวม 25 ล้านบาท
1.1 แบ่งเป็น 10 ล้านบาทสำหรับเป็นค่าก่อสร้างและค่าสถานที่ตั้งร้านบนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่
1.2 ค่าแฟรนไชส์ฟี (Franchise Fee) 2.8 ล้านบาท
1.3 รอยัลตีฟี (Royalty Fee) 3 แสนบาทต่อเดือน
1.4 ค่าระบบคอมพิวเตอร์ 3 หมื่นบาท
1.5 ส่วนที่เหลือไว้เป็นทุนหมุนเวียนในการซื้อหารถและสต๊อกรถ

2. สิ่งที่แฟรนไชซีจะได้รับ
2.1 การอบรมก่อนทำธุรกิจ
2.2 การวางระบบตามโมเดลบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่น
2.3 การทำตลาดส่งเสริมแบรนด์จากส่วนกลาง

3. รายได้ของแฟรนไชซีจะมาจากส่วนต่างของราคาจากการรับซื้อและขายออกไป เฉลี่ยคันละหลักหมื่นบาท

4. ตั้งเป้าแฟรนไชซีควรจะมียอดขาย 30-50 คันต่อเดือน

5. อัตราคืนเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 3 ปี


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น