xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ เร่งยกเครื่องลอจิสติกส์ไทย หวั่นโดนฮุบกิจการหลังเข้าสู่ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตือน! ผู้ประกอบการลอจิสติกส์ไทยเร่งพัฒนาศักยภาพให้ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล หลังผู้ให้บริการลอจิสติกส์ต่างชาติรุกคืบขยายธุรกิจสู่ประเทศไทยตามข้อตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน ที่ผู้ประกอบการในประเทศอาเซียนสามารถถือหุ้นในประเทศสมาชิกได้ 70% หวั่นลอจิสติกส์ไทยตกขบวน AEC หากไม่พัฒนาศักยภาพตนเองให้พร้อมแข่งขัน คาดหลังเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบธุรกิจลอจิสติกส์จะทวีการแข่งขันรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและได้มาตรฐานจึงจะอยู่รอด

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ DBD ISO-LOGISTICS AWARD ประจำปี 2557 ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า กรมฯ รู้สึกเป็นห่วงผู้ประกอบธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์ของไทย เนื่องจากธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์เป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจบริการที่เร่งรัดเปิดเสรี (Priority sectors) ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (AFAS : ASEAN Framework Agreement on Service) ตั้งแต่ปี 2556 ที่ผู้ประกอบการในประเทศอาเซียนสามารถถือหุ้นในประเทศสมาชิกได้ 70% ทำให้ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ต่างชาติเริ่มรุกคืบเข้ามาประกอบธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์ในประเทศไทยกันมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ของไทยจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 ซึ่งหากผู้ให้บริการลอจิสติกส์ของไทยไม่พัฒนาศักยภาพมาตรฐานการให้บริการให้ทัดเทียมระดับสากลอาจตกขบวน AEC คือไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการลอจิสติกส์ชาวต่างชาติได้ หรือแม้แต่ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ในประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า

กรมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจลอจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเร่งผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์ของไทยดำเนินการพัฒนาธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพมาตรฐานทัดเทียมสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าเสรีอย่างยั่งยืน และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 2 (2556-2560)

กรมฯ จึงได้จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์สู่มาตรฐานสากล ISO โดยกรมฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันมีธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์ของไทยผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO แล้วจำนวนทั้งสิ้น 187 ราย ซึ่งในปี 2557 นี้มีธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO และได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากกรมฯ จำนวน 35 ราย ภายในงาน DBD ISO-LOGISTICS AWARD ประจำปี 2557

การยกระดับธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์สู่มาตรฐานสากล ISO เป็นแนวทางขั้นที่ 2 ของนโยบายการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์อย่างครบวงจรที่กรมฯ ได้จัดทำขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 1) การสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ 2) การยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจและมาตรฐานสากล และ 3) การสร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่สากล

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์ ประกอบด้วย ธุรกิจให้บริการขนส่งและขนถ่ายสินค้า ธุรกิจบริการคลังสินค้า ธุรกิจตัวแทนออกของผ่านพิธีการทางศุลกากร และธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2557) มีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์จำนวน 18,518 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2556 (16,000 ราย) จำนวน 2,518 ราย หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 15.74 และมีทุนจดทะเบียนรวม 297,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 (234,000 ล้านบาท) จำนวน 63,982 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 27.34

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น