“หอการค้า” เผยเอสเอ็มอีไทยมากกว่า 63% ไม่พร้อมเข้าสู่เออีซีในปี 58 ระบุขอเวลาปรับตัวอีก 2.5 ปี เสนอตั้งกองทุนอาเซียน วงเงิน 1,000 ล้านบาท หนุนรายรวยศักยภาพไปลงทุนในประเทศอาเซียน พร้อมเชียร์ตั้งหน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจเรื่อง “ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกไทย ปรับตัวไปแค่ไหนภายใต้เออีซี” ว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตและส่งออกสินค้าที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีมากกว่า 63.1% หรือ 321,000 รายจากเอสเอ็มอีในภาคผลิตทั้งหมด 512,000 ราย ระบุว่าตนเองปรับตัวไม่ทันต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ส่วนใหญ่ต้องการเวลาอีก 2.5ปี หรือในปี 2559 เพื่อพร้อมในการปรับตัว ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนมากต้องการเวลาอีก 1 ปีครึ่งในการปรับตัว หรือพร้อมปรับตัวในปี 2558 พอดี
ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมีข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะตั้งกองทุนอาเซียนสำหรับเอสเอ็มอีวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ พร้อมที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศแต่ยังขาดเงินทุน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเสื้อผ้า อาหารทะเล รองเท้า และโรงสี เป็นต้น พร้อมทั้งตั้งหน่วยงานที่มีลักษณะคล้ายๆ กับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ ควรจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยในประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างสมาคมผู้ผลิตในไทย กับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน และที่สำคัญ ต้องส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยรวมกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งฐานการผลิต หรือตั้งศูนย์กระจายสินค้า
“สาเหตุที่เอสเอ็มอีปรับตัวไม่ทันมาจากหลายปัจจัย เช่น ไม่รู้จะปรับตัวอย่างไรเพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซี รอนโยบายช่วยเหลือที่ชัดเจนจากภาครัฐ กำลังศึกษาข้อมูลเพื่อหาแนวทางในการปรับตัว ไม่มีเวลาในการศึกษาแนวทางการปรับตัว ธุรกิจที่เน้นขายในประเทศเป็นหลักมองว่าเออีซีเป็นเรื่องไกลตัว มีลูกค้าประจำและมีตลาดรองรับที่แน่นอนอยู่แล้ว ธุรกิจไม่มีความพร้อมที่จะสามารถปรับตัวได้เอง และขาดเงินทุนที่จะนำใช้ในการปรับตัว เป็นต้น” ดร.อัทธ์กล่าว
ทั้งนี้ จากความไม่พร้อมของเอสเอ็มอีดังกล่าวจะทำให้สูญเสียในแง่ของมูลค่าการค้า และเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังเสียโอกาสในการเข้าไปลงทุนตั้งบริษัทใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากปล่อยไว้ในอนาคตเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ที่ปรับตัวไม่ทันก็จะต้องทยอยปิดกิจการไปเพราะแข่งขันไม่ได้ แต่คงจะยังไม่เห็นทันทีในปี 2558
ทั้งนี้ ผู้ผลิตและส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ประมง ไก่ และยางพารา ส่วนเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมที่พบว่าปรับตัวไม่ทันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ผลิตและส่งออกเอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการปรับตัวเข้าสู่เออีซี คือการสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือสำหรับการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจ 23.4% ส่งเสริมเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพแรงงานฝีมือและทักษะด้านภาษาให้มากขึ้น 13.6% จัดอบรมความรู้เกี่ยวกับเออีซีให้มากขึ้นโดยเฉพาะด้านกฎหมายการค้าการลงทุน 12.6% และลดภาษีเงินได้นิติบุคคล/ภาษีนำเข้าวัตถุดิบ 7.5% เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *