xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยชี้ SMEs ปรับตัวรับมือย้ายฐานลงทุนของต่างชาติในอีก 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย
รองประธานหอการค้าไทย ชี้ถึงเวลาที่เอสเอ็มอีไทยต้องปรับตัว เชื่อหลังเปิด AEC ในอีก 5 ปี ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า และอินโดนีเซีย จะดึงนักลงทุนไปหมด เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าลงทุนกว่า ซึ่งสถานการณ์การเมืองได้รัฐบาลใหม่กลางปี ช่วงนี้เอสเอ็มอียังคงสามารถขอความช่วยเหลือหน่วยงานส่งเสริมที่ยังมีงบประมาณปกติได้

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เปิดเผยในงานสัมมนา “เปิดผนึกเอสเอ็มอีไทยสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมในยุคเออีซี” ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยต้องปรับตัว เพราะหากประเมินจากศักยภาพการแข่งขันแม้เวลานี้ไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุนเป็นอันดับต้นของ AEC แต่หากภายใน 5 ปีข้างหน้าไทยไม่มีการพัฒนาประเทศเพิ่มเติม ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า และเวียดนามจะพัฒนาขึ้นมาเท่ากับไทย โดยเฉพาะพม่ากำลังเป็นที่จับตาอย่างมาก นอกจากนี้ จากการหารือกับนักลงทุนญี่ปุ่นพบว่าต่างสนใจเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย เพราะเป็นตลาดใหญ่ ทรัพยากรมาก จึงเป็นประเทศคู่แข่งของไทยในเวลานี้

ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนาจากภาครัฐในส่วนของเอกชนเองควรปรับตัวด้วยการทำตลาด ปรับปรุงลอจิสติกส์ และออกไปลงทุนต่างประเทศที่มีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบ ทรัพยากร และแรงงาน เพราะไทยมีต้นทุนด้านนี้เพิ่มขึ้นมาก อุตสาหกรรมที่ควรออกไปลงทุน คือ เสื้อผ้า อาหาร ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านมีความพร้อม นอกจากนี้ ควรร่วมกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ออกไปลงทุนเน้นผลิตสินค้าป้อนเป็นลักษณะเชื่อมโยง เช่น ใช้เงินทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ออกไปลงทุนและผลิตสินค้ากลับมาให้รายใหญ่ผลิต เพราะศักยภาพของเอสเอ็มอีค่อนข้างจำกัด

สำหรับสถานการณ์การเมืองของไทย เชื่อว่าจะมีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศหลังช่วงกลางปีไปแล้ว ดังนั้น เอสเอ็มอีต้องพึ่งตัวเองให้มาก แต่อาจหาวิธีของบประมาณปกติจากภาครัฐเพราะสามารถเบิกจ่ายได้ เช่น กองทุนส่งเสริมผู้ประกอบการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นต้น

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพสูงมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบมีความแข็งแกร่งทั้งระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงด้านการท่องเที่ยวและบริการ ทำให้เอสเอ็มอีญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุน แต่หากมองในภาพรวมทั้งภูมิภาคการร่วมกลุ่มเออีซี ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นที่หมายปองของจีน ยุโรป และญี่ปุ่น เพื่อแสวงหาโอกาสลงทุน เพราะภูมิภาคนี้มีจำนวนประเทศมาก จำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน รวมถึงเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ และเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจเติบโต ขณะที่ภูมิภาคอื่นย่ำแย่

น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ปัญหาของเอสเอ็มอี คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และอุตสาหกรรมมีการจัดตั้งในต่างประเทศแบบกระจัดกระจาย ต่างจากญี่ปุ่นที่มีแนวทางออกไปลงทุนผ่านการสนับสนุนของรัฐบาล ใช้วิธีตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้นักลงทุนอยู่ร่วมกันและผลิตสินค้าป้อนระหว่างกัน ดังนั้น การที่เอสเอ็มอีไทยจะออกไปลงทุนได้ต้องพึ่งพาการสนับสนุนของภาครัฐ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น