สสว.ประเมินผลกระทบการเมืองป่วน เดือน มี.ค.กระทบด้านลบต่อ SMEs ร้อยละ 76 เผยยอดขายหดลูกค้าหาย ขณะที่ผู้ค้าในตลาดนัดสวนจตุจักรสูญเสียโอกาสการค้าเพราะนักท่องเที่ยวลดจำนวนกว่าครึ่ง
นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs โดย สสว.ได้ทำการสำรวจถึงผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองต่อการดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 เป็นต้นมา ล่าสุดได้ทำการสำรวจเดือนมีนาคม 2557 ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการในย่านการค้าตลาดนัดจตุจักร รวมประมาณ 500 ราย ซึ่งภาพรวมพบว่าผู้ประกอบการ SMEs ยังคงได้รับผลกระทบในทางลบจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง แต่มีระดับความรุนแรงที่ลดลง
“ผลการสำรวจในเดือน มี.ค. ผู้ประกอบการร้อยละ 76 ได้รับผลกระทบในทางลบ เมื่อพิจารณาระดับความรุนแรงพบว่าได้รับผลกระทบมากร้อยละ 42 ปานกลางร้อยละ 22 และน้อยร้อยละ 12 ซึ่งลดลงจากเดือน ก.พ.ที่ได้รับผลกระทบมากร้อยละ 56 ปานกลางร้อยละ 25 และน้อยร้อยละ 4 โดยผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับคือด้านยอดขายและจำนวนลูกค้าที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจภาคบริการเริ่มมีความกังวลเรื่องภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศ แต่สถานการณ์ SMEs ในทุกประเภทมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และมี SMEs ที่ไม่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น โดยมีสัดส่วนร้อยละ 24” ผอ.สสว.กล่าว
เมื่อพิจารณาผลกระทบต่อรายได้ต่อเดือนเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติ พบว่าในภาพรวมมีรายได้เฉลี่ยลดลงร้อยละ 42 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.ที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 50 โดยเฉพาะธุรกิจภาคการผลิต ในกลุ่ม SMEs ที่มีการลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาท หรือธุรกิจรายย่อย นับเป็นกลุ่มที่สถานการณ์ดีขึ้นมาก เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสำหรับเดือน มี.ค.ที่ลดลงร้อยละ 44 นั้นนับว่าดีขึ้นกว่าช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลงร้อยละ 51 ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่กว่ายังคงทรงตัว
ในส่วนภาวะการค้าขายประจำเดือน มี.ค. จากการสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการค้าตลาดนัดจตุจักร พบว่าการชุมนุมทางการเมืองส่งผลให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวสูญเสียโอกาสทางธุรกิจเฉลี่ยประมาณร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ โดยเมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่าผลกระทบมากที่สุดคือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ลดลงถึงร้อยละ 70 รองลงมาได้แก่ ประชาชนเที่ยวตลาดนัดสวนจตุจักรในวันเสาร์-อาทิตย์ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ การค้าส่งภายในประเทศ รวมทั้งการค้าปลีก ที่ลดลงร้อยละ 50 และกำลังซื้อลดลงร้อยละ 40 ตามลำดับ
ทั้งนี้ โดยภาพรวมพบว่าผู้ประกอบการ SMEs มีการปรับตัวต่อสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมากที่สุดเพื่อกระตุ้นยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยการขายสินค้าที่ได้กำไรสูง เพิ่มชนิดของสินค้า ลงทุนด้านโฆษณาและส่งเสริมการขายเพิ่มมากขึ้น รองลงมาคือ การลดค่าใช้จ่ายและการปรับกระบวนการทำงาน ตามลำดับ
นายปฏิมาระบุด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา สสว.ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกมาตรการเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ทั้งมาตรการด้านการเงิน การตลาด และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ ซึ่งผลการสำรวจครั้งนี้พบว่าผู้ประกอบการ SMEs ยังคงต้องการความช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยต่ำมากที่สุด รองลงมาคือ การจัดหาตลาดและการประชาสัมพันธ์ มาตรการด้านภาษี การอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และการอบรมความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ ตามลำดับ
“ภาพรวมของผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ในเดือน มี.ค.นับว่าดีขึ้นจากเดือน ม.ค. และ ก.พ.ที่ผ่านมา คาดว่าจะเป็นผลมาจากการยุบเวทีชุมนุมในหลายๆ จุด และการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ประกอบการร้อยละ 54 ได้มีการเตรียมแผนฉุกเฉินไว้รองรับสถานการณ์ที่อาจจะยืดเยื้อ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือผ่านมาตรการของ สสว. และสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการ สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ สสว. Call Center 1301 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.sme.go.th” ผอ.สสว.กล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *