xs
xsm
sm
md
lg

‘แม่สอด’ขุมทองใหม่ SMEs ช่องทางเปิดโสร่งบุกค้าขายพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภายหลังพม่าเปิดประเทศ และยิ่งใกล้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)เข้าไปทุกขณะ กำแพงกีดกันการค้าต่างๆ จะถูกทลายออกไป ส่งให้การค้าชายแดนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทุกวันนี้ คึกคักและเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ในฐานะประตูหน้าเชื่อมโยงการค้าของสองประเทศเข้าหากัน นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของธุรกิจไทย ตั้งแต่ระดับบิ๊กและเอสเอ็มอีเข้าไปขุดทองทำการค้ากับพม่า

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความเป็นจริง รวมถึงโอกาส และอุปสรรคต่างๆ ของการค้า การลงทุนในดินแดนแห่งนี้จะสวยหรูอย่างภาพภายนอกหรือไม่ เมื่อเร็วๆ นี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้จัดเสวนา “แม่สอด...ขุมทอง SMEs” โดยระดมผู้เกี่ยวข้องตัวจริงเสียงจริงในพื้นที่มาให้ข้อมูล เพื่อประโยชน์แก่เอสเอ็มอีใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ

ชี้ ‘แม่สอด’ รวยศักยภาพ ประตูทองเชื่อมพม่า

สมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานหอการค้า จ.ตาก ฉายภาพให้เห็นว่า อ.แม่สอด จ.ตาก ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพอย่างยิ่ง ในฐานะหน้าด่านเชื่อมโยงพม่า จากจุดเด่นชายแดนแม่สอด-เมียวดี คือเส้นทางบกเข้าถึงเมืองย่างกุ้งที่ใกล้ที่สุด อีกทั้ง ในอนาคตสามารถต่อเชื่อมไปสู่บังคลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย อิหร่าน ตุรกี และเข้าทวีปยุโรปได้ด้วย จึงเป็นอีกช่องทางของธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง

ในส่วนภาคการค้า สินค้าของประเทศไทยยังคงได้รับความนิยมจากเพื่อนบ้านแห่งนี้มาเป็นอันดับหนึ่ง สินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 80% ที่ชาวพม่าใช้กันอยู่ในปัจจุบันรับมาจากประเทศไทย ซึ่งพม่ามีประชากรมากถึง 60 ล้านคน โดยประธานหอการค้าฯ ระบุว่า “อะไรก็ขายได้” ยิ่งถ้าแบรนด์ไทยชื่อดังก็จะได้รับความเชื่อถือ บางชนิดผลิตไม่ทันขาย นอกจากนั้น พม่ายังต้องการการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอีกมหาศาล ไม่ว่าจะถนน อาคาร บ้านเรือนต่างๆ ฯลฯ
สมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานหอการค้า จ.ตาก
ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจของ อ.แม่สอด เติบโตเฉลี่ย 20% ทุกปี ถือเป็นการค้าชายแดนที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดทางภาคเหนือของไทย โดยมูลค่าส่งออก ปี 2554 มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท ปี 2555 มูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท ปี 2556 มูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท และปีนี้ (2557) เฉพาะแค่เดือน ม.ค.-ก.พ. ยอดถึง 8.6 พันล้านบาท คาดสิ้นปีมูลค่าจะถึง 5 หมื่นล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ

ส่วนการนำเข้าสูงขึ้นเช่นกัน ปี 2554 มูลค่า 8 พันล้านบาท ปี 2555 มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ปี 2556 มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าเกษตร เป็นต้น นอกจากนั้น ในปัจจุบัน ภายใน อ.แม่สอด เกิดการเติบโตอย่างยิ่ง มีห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ผุดขึ้น 2 แห่ง คอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นเกือบ 600 ยูนิต บางแห่งแค่ตอกเสาเข็ม ก็ถูกจองหมดแล้ว อีกทั้งยังมีการเปิดโรงพยาบาล และร้านวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ทำให้ราคาที่ดินของ อ.แม่สอด เพิ่มจากอดีต 5-10 ปีที่แล้ว ไม่ต่ำกว่า 5 เท่าตัว เหล่านี้บ่งบอกได้ดีว่า เศรษฐกิจในพื้นที่แห่งนี้ กำลังบูมสุดๆ

ชี้อุปสรรคแรงงานขาดแคลน-ต้นทุนขนส่งสูง

ด้านชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตาก และเจ้าของโรงงานผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า บริษัท ที เค การ์เม้นท์ จำกัด เผยด้วยว่า ทุกวันนี้แม่สอด เป็นพื้นที่เนื้อหอมในการลงทุน แม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่มีโรงงานถึง 365 แห่ง เงินลงทุนกว่า 5.9 พันล้านบาท โดยเป็นโรงงานของนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เป็นต้น

ทั้งนี้ โรงงานในแม่สอด มักเป็นประเภทใช้แรงงานจำนวนมากๆ เช่น การ์เมนท์ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ด้วยสาเหตุ เจ้าของโรงงานมาใช้แรงงานชาวพม่าซึ่งค่าแรงต่ำกว่าคนไทยมาก โดยเฉลี่ยค่าจ้างแรงงานพม่าอยู่ที่ 3,000-4,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ทำให้ปัจจุบัน แม่สอดเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการ์เมนท์ สิ่งทอแหล่งใหญ่ของประเทศไทย

นอกจากนั้น โรงงานอื่นๆ ที่มาตั้งในพื้นที่แห่งนี้จะใช้ประโยชน์ด้านวัตถุดิบทางธรรมชาติของพม่า เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และอุตสาหกรรมอัญมณี ฯลฯ และยังเป็นโอกาสการลงทุนของอุตสาหกรรมรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น บริการขนส่งโลจิกติกส์ เครื่องจักรการเกษตร เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้แรงงานจำนวนมากทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การเติบโตอันร้อนแรง นำมาสู่ภาวะโรงงานทุกแห่งในแม่สอด ขาดแคลนแรงงานอีกกว่า 30-40% นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมาก เพราะต้องเดินทางไกล วัตถุดิบที่นำมาผลิตและตลาดที่ส่งไปขาย ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์  ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตาก
ฝันดันแม่สอดขึ้นแท่นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ทั้งนี้ ทางหอการค้า จ.ตาก และสภาอุตสาหกรรม จ.ตาก ระบุตรงกันว่า แนวทางผลักดันการค้าการลงทุนแม่สอดให้เติบโตมากขึ้นไปอีก และยังเป็นการเตรียมรับเออีซีด้วย คือ เสนอรัฐบาลผลักดันทำให้ อ.แม่สอด เป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

ชัยวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า ได้เสนอผ่านสำนักนายกแล้ว เพื่อออกเป็นระเบียบตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยครอบคลุมสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีศุลกากร , ภาษีสรรพกร , พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ขยายเวลาเปิดปิดด่านเป็น 24 ชั่วโมง จากปัจจุบัน 12 ชั่วโมง รวมถึง ยังเปิดโอกาสให้แรงงานชาวพม่าเดินทางเข้ามาทำงานได้ถูกกฎหมายแบบเช้าไปเย็นกลับ แต่ไม่สามารถเข้าไปพื้นที่ชั้นในได้ เพื่อความปลอดภัยทางความมั่นคง ซึ่งมาตรการนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นอกจากนั้น เตรียมแผนสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง อ.แม่สอด ข้ามไปพม่าแห่งที่ 2 โดยเป็นถนน 4 เลน ตั้งอยู่ห่างจากสะพานแห่งแรกเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น รถขนสินค้าขนาดใหญ่สามารถวิ่งผ่านได้โดยตรง เพิ่มความสะดวก และแบ่งเบาภาระสะพานแห่งแรกที่ปัจจุบันสภาพทรุดโทรมมากแล้ว ไม่สามารถจะให้รถบรรจุของหนักวิ่งผ่านได้ เลยต้องมีคลังสินค้าอยู่รอบๆ ทางขึ้นสะพาน เพื่อนำสินค้าของไทยพักที่คลังสินค้าก่อน แล้วค่อยย้ายสินค้าถ่ายลงรถกระบะขนาดเล็กอีกทอด เพื่อต่อข้ามไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ้นเปลืองและยุ่งยากโดยใช่เหตุ

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการสำคัญดังกล่าว ยังต้องเป็นหมันอยู่ เนื่องจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง เกิดการยุบสภาก่อนจะอนุมัติ แผนงานที่วางกรอบเวลาไว้เรียบร้อยแล้วต้องหยุดชะงักทั้งหมด อย่างการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ รอเพียงการพิจารณาส่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ หรือการสร้างสะพานแห่งที่ 2 ที่ได้ทำแบบก่อสร้างเรียบร้อย และผ่านประชาพิจารณ์รอบ 2 แล้ว ตามแผนเดิมจะแล้วเสร็จในปี 2561 แต่เนื่องจากโครงการนี้ ถูกผูกเข้าไปกับงบ 2.2 ล้านล้านบาทด้วย ก็ต้องชะลอไปก่อนเช่นกัน

“เรื่องของการค้าชายแดน ถ้าสะพานแห่งที่สองยิ่งช้าเท่าไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยิ่งช้ามากเท่านั้น เนื่องจากมันไปสอดคล้องกับถนนที่สร้างใหม่ ถนนที่สร้างอยู่ ถ้าเสร็จ จะเป็นถนน 4 เลน วิ่งเข้าออกสวนทางกันได้ หลังจากเปิดถนน ผมคาดว่า จะมีมูลค่าการค้าขายชายแดนไทยพม่าเป็นแสนล้านบาทแน่นอน อีกทั้ง ต้นทุนการแข่งขันเราก็ถูกลง จะแข่งกับสินค้าจีนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันการคล่องตัวในการส่งสินค้าก็จะไวขึ้น”

“นอกจากนั้น หลังเปิดเออีซี สินค้าต้องห้ามนำเข้าพม่าหลายตัวจะถูกยกเลิกโดยปริยาย แถมยังได้ประโยชน์ธุรกิจท่องเที่ยวจากแม่สอดไปพม่า และต่อไปยังทวีปยุโรปได้ แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เรามีปัญหาในประเทศกันเอง” ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตาก กล่าว
ประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮงล้ง แอนด์ซันด์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอางส่งไปยังพม่ามากว่า 40 ปี
ฟันธง! ค้าขายกับพม่าโดนโกงทุกราย

ในมุมของนักธุรกิจท้องถิ่นอย่าง “ประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮงล้ง แอนด์ซันด์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอางส่งไปยังพม่ามากว่า 40 ปีตั้งแต่รุ่นพ่อ เล่าประสบการณ์ว่า ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการไทยสนใจไปทำธุรกิจในพม่าอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่จะเจ็บตัว ทุกรายจะต้องโดนโกง ขึ้นอยู่ว่าจะโดนมากโดนน้อยเท่านั้น เนื่องจากพฤติกรรมการค้าของชาวพม่าจะมีรูปแบบเฉพาะตัว นักธุรกิจต่างถิ่นไม่มีทางรู้ หรือตามทันแน่นอน

ประเสริฐ ยกตัวอย่างเช่น การค้าขายกับพม่าจะไม่มีเครดิต อาศัยแค่ความไว้วางไจ หลังจากซื้อสินค้าแล้ว เขาจะทยอยจ่ายไปเรื่อยๆ หมายความว่า หนี้สินไม่มีทางหมด แต่จะผูกพันหนี้ไปเรื่อยๆ อย่างซื้อ 10 จ่ายแค่ 6 แล้วซื้ออีก 8จ่ายอีก 6 หนี้เพิ่มพูนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยความชำนาญ และการเลือกคู่ค้าก็สำคัญมากเช่นกัน

ด้านชัยวัฒน์ ให้ข้อมูลเสริมถึงอุปสรรคอยู่ที่กฎระเบียบต่างๆ ยังต้องขึ้นตรงกับรัฐบาลทหารพม่าที่กรุงเนปิดอว์ ทั้งหมด ส่วนราชการท้องถิ่นไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ เลย รวมถึง ทุกขั้นตอนมีรูรั่ว การติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ของพม่าต้องอาศัยเส้นสาย เปิดโอกาสให้เกิดการจ่ายใต้โต๊ะตลอด จึงเป็นเรื่องยากของนักธุรกิจไทยหน้าใหม่ที่จะทำการค้ากับพม่า

ย้อนกลับมาที่ประเสริฐ เสริมว่า สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ต้องการทำธุรกิจกับพม่า แนะนำว่า ถ้าเป็นมือใหม่ควรใช้ช่องทางผ่านพ่อค้าชายแดน ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อสินค้าบริเวณชายแดนแล้วนำไปขายต่อยังพม่า วิธีนี้ แม้จะได้กำไรน้อย เพราะถูกพ่อค้าคนกลางหักกินเปอร์เซ็นต์ แต่ช่วยลดความเสี่ยง

หรืออีกวิธี คือ การเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในพม่าด้วยตัวเอง ช่องนี้ถือว่าเสี่ยงมาก จากอุปสรรคที่กล่าวข้างต้น แต่ถ้าทำตลาดสำเร็จ ยอดขายและรายได้สูงมาก ซึ่งวิธีนี้ ผู้ประกอบการต้องมีพันธมิตรหรือเครือข่ายชัดเจนที่เป็นนักธุรกิจท้องถิ่น คนท้องถิ่น หรือข้าราชการท้องถิ่นที่ช่วยประสานงานให้ได้ รวมถึง มีคู่ค้าท้องถิ่นที่ดีจริง
วัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.
ด้าน วัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. เสริมว่า การซื้อสินค้าไทยของคู่ค้าพม่า มักจะเลือกจากแคตตาล็อกเลย แต่ปัญหาของผู้ประกอบการไทย คือ ถ้าขายไปแล้ว จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะได้เงิน บางรายซื้อไปแล้วก็ “ชักดาบ” เอาดื้อๆ นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

“สมมติขายไปแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจ่ายเงิน ซึ่งอันนี้ ทางภาคเอกชน คือหอการค้าเอง หรือทางภาคอุตสาหกรรมเอง ก็รับรู้ปัญหาดี ทาง บสย.กับมหาวิทยาลัยนเรศวร ก็พยายามเข้าไปแก้ในจุดนี้ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการถ้าต้องการทำการค้า ต้องการได้ความรู้ ก็ขอให้เข้ามาหา บสย. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะประเด็นนี้ มีความสำคัญมากกว่าการจับคู่ธุรกิจเสียด้วยซ้ำ” หัวเรือ บสย. เผย

อย่าประมาท! สินค้าไทยระวังเสียแชมป์

ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจทำการค้ากับพม่ามายาวนาน ประเสริฐ มองปัจจัยสำคัญส่งให้สินค้าไทยขายดีในเพื่อนบ้านแห่งนี้มายาวนาน คือ ความเชื่อมั่นคุณภาพและนิยมในสินค้าของประเทศไทย อีกทั้ง ในอดีตประเทศจีน และอินเดีย ไม่ได้เข้ามาทำตลาดพม่ามากนัก แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือ เดิมในร้านขายของชำ จะมีสินค้าของประเทศไทย 80-100% แต่ปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วง 2 ปีให้หลัง สินค้าจากจีน อินเดีย เพิ่มสัดส่วนในร้านชำมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 50% ต่อ 50% แถมบางร้าน หันไปขายสินค้าจีนทั้งหมด เหล่านี้ เกิดจากพฤติกรรมที่คนพม่ามีทางเลือกหลากหลาย สินค้าไทยจึงไม่ใช่ตัวเลือกแรกและตัวเลือกเดียวอีกแล้ว

“การทำให้สินค้าชายแดนไปได้ไกล คุณภาพต้องดี ประเทศไทยได้การยอมรับจุดนี้ “นี่คือบุญเก่าที่เราสร้างมา” ส่วนราคาก็ต้องไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับสินค้าที่มาจากประเทศอื่น ซึ่งต้องการมาแย่งชิงตลาดเรา เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่จะเอาสินค้าไปขาย อย่าฉาบฉวย ผู้ผลิตก็ต้องผลิตสินค้าที่ดี ตัวแทนจำหน่ายก็ต้องคัดเลือกสินค้าที่ดีในการนำไปขายเขา” นักธุรกิจหนุ่ม กล่าว

จุดอ่อนอีกประการที่ทำให้สินค้าของไทย ด้อยศักยภาพในตลาดพม่าลดเรื่อยๆ เพราะขาดแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ หรือจะมีก็เน้นเฉพาะผลประโยชน์เชิงการค้าเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ได้เน้นปูทางการค้าอย่างยั่งยืน ในขณะที่ภาครัฐของหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นเข้ามาทำการค้าพร้อมช่วยพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ด้วย หรือเยอรมันได้ยกเลิกหนี้ระหว่างประเทศให้ทั้งหมด ส่วนเวียดนามได้เข้าไปตั้งศูนย์การค้าในพม่า เพื่อให้นักธุรกิจเวียดนามเข้าไปทำการค้าได้สะดวกขึ้น เหล่านี้ ทำให้สินค้าของประเทศคู่แข่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

“ที่ผ่านมาการค้าชายแดนแม่สอดไม่ได้อยู่ในสายตาของภาครัฐไทยเลย แม้แต่คนไทยเองก็ไม่ได้สนใจเรื่องการค้าชายแดน มีเพียงแค่คนที่อยู่ชายแดนเท่านั้นที่สนใจ ในอดีตการค้าลำบากมาก แต่กำไรสูง สินค้าชายแดนนำเข้าไปพม่า ขายได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งถาดวางของที่เราหิ้วไป เขาก็ขอซื้อ เพราะฉะนั้นในห้วงเวลาดังกล่าว ก็เรียกว่าการค้าชายแดนเป็นยุคที่เรียกว่ามาขุดทองกัน แต่พม่าตอนนี้เขาไมได้หันมองแค่ไทยอย่างเดียว แต่เขาหมุนรอบตัว นั่นหมายความว่า เรามีคู่แข่งมากขึ้นรอบทิศทาง” ประเสริฐ ถ่ายทอดประสบการณ์
บริเวณด่านชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก
เชื่อโอกาสเอสเอ็มอีไทยยังเปิดกว้าง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอุปสรรคต่างๆ นานาดังกล่าวข้างต้น แต่จากปัจจัยความพร้อมที่สะสมมา ประกอบกับทำเลที่ตั้งยอดเยี่ยม ทุกเสียงของผู้อยู่ในวงการ ต่างยืนยันตรงกันว่า แม่สอดถือเป็นพื้นที่น่าสนใจมากๆ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้ามาทำธุรกิจในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาคการค้าชายแดน ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สามารถขายได้แทบทั้งหมด รวมถึงภาคก่อสร้าง ขยายสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ รองรับการขยายตัวของเมือง

วัลลภ กล่าวสรุปว่า ตอนนี้ ตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) มูลค่าเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของทั้งสี่ชาติ รวมกันยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจีดีพีประเทศไทย สะท้อนว่า กลุ่มประเทศชายแดนเหล่านี้ ยังต้องการการพัฒนาอีก จุดนี่เอง ผู้ประกอบการไทย น่าจะฉกฉวยโอกาส ทำการค้าชายแดนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน หลังเปิดเออีซีจะมีนักธุรกิจและแรงงานชาวพม่า และนานาชาติย้ายเข้าทำงานใน อ.แม่สอด อีกจำนวนมาก เอสเอ็มอีสามารถขายสินค้าหรือบริการให้แก่กลุ่มคนดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน และหากโครงการผลักดันให้แม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นได้จริง สะพานข้ามแดนแห่งที่ 2 ลุล่วง และถ้าโชคดีกว่านั้น ประเทศไทยกลับมามีรัฐบาลตัวจริงที่ดำเนินนโยบายได้เหมาะสม แน่นอนว่า คำเปรียบเทียบให้ อ.แม่สอด เป็น “ขุมทองของ SMEs” คงไม่ใช่คำพูดเกินจริง

มูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่า ด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก
 ปี 2554ปี 2555ปี 25562 เดือนแรกปี 2557
ส่งออก2.1 หมื่นล้านบาท3.7 หมื่นล้านบาท4.3 หมื่นล้านบาท8.6 พันล้านบาท
นำเข้า8 ร้อยล้านบาท1.4 พันล้านบาท2.7 พันล้านบาท6.1 ร้อยล้านบาท

ที่มา : ด่านศุลกากร อ.แม่สอด รวบรวมโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตาก

@@@@@อ่านเรื่องประกอบคลิกเลย "รวยเงินล้านด้วย 'แมลงดา' หม่องจับ ไทยหม่ำ@@@@@
ชาวพม่า ซื้อหาสินค้าในซูเปอร์มาร์เกต  อ.แม่สอด
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น