การสร้างความแตกต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย “ดีไซน์ไม่ซ้ำใคร” ช่วยให้สินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถจะแทรกตัวอยู่ได้ เพราะเข้าถึงลูกค้าเฉพาะเจาะจง (niche market) และหลีกหนีการแข่งขันโดยตรงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ตัวอย่างมีให้เห็นหลายราย และหนึ่งในนั้น คือ ผลงานเครื่องประดับ แบรนด์ “defy”
โดยจุดเด่นของเครื่องประดับของเอสเอ็มอีรายดังกล่าว ดีไซน์จะเน้นนำรูปแบบหรือรูปทรงกระดูกชนิดต่างๆ มาประยุกต์ทำเป็นเครื่องประดับ หลายคนอาจเห็นแล้วดูน่ากลัว หลุดโลก แต่สำหรับเจ้าของไอเดีย อย่าง “กิตติศักดิ์ เตียทะสินธุ์” บอกว่า ดีไซน์เช่นนี้ สามารถตอบความต้องการของลูกค้ากลุ่มหนึ่งได้อย่างดี ที่ชอบความแตกต่างไม่ซ้ำใคร
“ผมเรียนจบมาด้านการออกแบบงานศิลปะ เลยยึดอาชีพออกแบบและทำเครื่องประดับขายมา 6-7 ปีแล้ว เริ่มจากดีไซน์สไตล์แผ่นเหล็กกับลายไม้ ขณะที่ส่วนตัว ผมชอบลักษณะรูปทรงโครงสร้างของกระดูกต่างๆ เลยลองนำรูปทรงหรือโครงสร้างของกระดูกมาประยุกต์ทำเครื่องประดับ เริ่มจากทำเล่นๆ ใส่เอง และลองทำขายควบคู่กันไป ปรากฏว่า ได้ผลรับตอบดีกว่างานเครื่องประดับแบบเดิมๆ ที่ผมเคยทำขาย หลังจากนั้น ผมเลยยึดสไตล์นี้มาตลอด จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ที่ลูกค้าจดจำได้อย่างดี” กิตติศักดิ์ เล่าให้ “ผู้สื่อข่าว SMEs ผู้จัดการออนไลน์” ฟังถึงจุดตั้งต้นของเครื่องประดับดีไซน์กระดูก
เจ้าของไอเดีย เล่าด้วยว่า เนื่องจากเรียนจบมาด้านศิลปะ มีวิชาหนึ่งต้องเรียนเกี่ยวกับสรีระและอวัยวะมนุษย์ ทำให้มีพื้นฐานความรู้เรื่องโครงสร้างมนุษย์และชิ้นส่วนของกระดูกต่างๆ อยู่บ้าง ทว่า ในการออกแบบไม่ได้ยึดว่าต้องเหมือนกระดูกจริงๆ 100% แค่พยายามให้ใกล้เคียงและเหมาะสมต่อการออกแบบเป็นเครื่องประดับ โดยอาจตัดรายละเอียดยิบย่อยออกไป คงเหลือเฉพาะลักษณะโครงสร้างที่จำเป็น
สำหรับการออกแบบมีทั้งรูปทรงกระดูกมนุษย์ และกระดูกสัตว์ต่างๆ นำมาสร้างสรรค์ทำเป็นเครื่องประดับนานาชนิด เช่น แหวน สร้อยคอ สร้างข้อมือ กำไร ต่างหู ฯลฯ เน้นแปลกและสวยงาม สามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้เหมาะสมด้วย ส่วนวัตถุดิบเน้นเป็นงานทองเหลือง มากกว่า 80% นอกจากนั้น เสริมวัตถุดิบ “เงิน” กับ “โลหะผสม”
“กลุ่มลูกค้าหลักของงานลักษณะนี้ จะเป็นคนที่ชอบความแตกต่างไม่ซ้ำใคร ชอบแฟชั่นสไตล์แรงๆหน่อย และรักเครื่องประดับที่เน้นการดีไซน์ ถือเป็นตลาดกลุ่มเฉพาะเจาะจงที่แม้จะเป็นกลุ่มไม่ใหญ่ แต่ก็เป็นขาประจำที่ซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง โดยลูกค้าของผมมีทั้งสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรี ตั้งแต่รุ่นเด็กวัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงวัยผู้ใหญ่” เจ้าของแบรนด์ “defy” เผย
ด้านขั้นตอนการผลิต กิตติศักดิ์ เล่าว่า รับผิดชอบด้านการออกแบบเองทั้งหมด จากนั้น จะแกะสลักขึ้นตัวต้นแบบเพื่อทำแม่พิมพ์ จากนั้นเทหล่อด้วยวัตถุดิบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทองเหลือง เงิน หรือโลหะผสม หลังจากได้ตัวสินค้ามาแล้ว จะมีทีมงานเก็บรายละเอียด เช่น เพนท์สี ลบเหลี่ยม และขัดเงา เป็นต้น โดยเฉลี่ยมียอดผลิตประมาณ 700-800 ชิ้นต่อเดือน
ในส่วนการทำตลาดนั้น เริ่มต้นจากขายผ่านทางเว็บไซต์ และหลังจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น ได้ขยายมาเปิดหน้าร้านอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ที่โครงการ 4 ซอย 1 ห้อง 011 รายได้จะมาจากทั้งขายปลีกหน้าร้าน และขายส่งให้แก่ผู้สนใจสั่งซื้อไปขายต่อ โดยสามารถจะบวกกำไรจากราคาขายส่งได้ตามความเหมาะสม อย่างผู้ซื้อชาวไทยที่นำไปขายต่อจะบวกกำไรประมาณ 25-30% ส่วนใหญ่นำไปขายตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น ส่วนผู้ซื้อต่างชาติจะนำไปขายต่อในประเทศทางยุโรป หรือสหรัฐฯ ราคาสูงกว่าขายในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 3 เท่า
นับแต่เริ่มสร้างสรรค์เครื่องประดับดีไซน์กระดูกมากว่า 5 ปีแล้ว เขาบอกว่า ทำสินค้าออกมาแล้วไม่ต่ำกว่าพันรายการ โดยจะออกสินค้าใหม่จะเน้นตามฤดูกาลแฟชั่น รวมถึง มีดีไซน์ตามเทศกาลวันสำคัญต่างๆ ราคาขายเริ่มต้นที่ชิ้นละ 200 บาท ถึงสูงสุดหลักพันบาท
เมื่อถามถึงปัญหาธุรกิจที่ผ่านมา กิตติศักดิ์ บอกว่า สินค้ามักโดนเลียนเสมอ ด้วยการใช้วิธีซื้อสินค้าจากร้านของเขานำไปทำเป็นแม่พิมพ์แล้วหล่อมาขายแข่งในราคาที่ถูกกว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ลูกค้าขาประจำและผู้ที่นิยมเครื่องประดับอย่างแท้จริง จะแยกแยะคุณภาพงานออก เลือกซื้อสินค้าของเขาเสมอ และบางรายที่หันไปซื้อสินค้าเลียนแบบ สุดท้ายก็กลับมาสั่งออเดอร์ของเขาอีกครั้ง เพราะคุณภาพที่ดีกว่าชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่หนักหน่วงอย่างยิ่ง มาจากช่วงต้นปีนี้ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งเวทีชุมนุมใกล้ตลาดนัดสวนจตุจักร ทำให้ผู้ซื้อต่างชาติหายไปกว่า 70% ขณะเดียวกัน ลูกค้าชาวไทยก็ลดการใช้เงิน เพราะขาดความเชื่อมั่นในการจับจ่าย
แนวทางปรับตัวนั้น นักออกแบบหนุ่มบอกว่า พยายามเน้นช่องทางตลาดผ่านออนไลน์ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมถึง ส่งแคตตาล็อกสินค้าใหม่ให้แก่ลูกค้าขาประจำ เพื่ออำนวยความสะดวกสามารถสั่งออเดอร์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาถึงหน้าร้าน รวมถึง เข้าโครงการภาครัฐที่ส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยไปเปิดตลาดส่งออก เช่น โครงการส่งเสริมการสร้างนักออกแบบระดับสากล (Designers’ Room) ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
“ผมค่อนข้างโชคดี ที่มีฐานลูกค้าเก่า พอเกิดปัญหาลูกค้าไม่สามารถเข้ามาถึงเราได้ ก็ยังมีช่องทางที่จะติดต่อไปถึงลูกค้าขาประจำได้ ซึ่งผมพยายามอำนวยความสะดวกให้เขามากที่สุด เช่น บริการแนะนำสินค้าผ่านเว็บไซต์ ส่งแคตตาล็อกไปถึงเขาเลยให้เลือกได้ง่ายๆ ควบคู่กับหาตลาดใหม่ไปด้วย ไม่รอแค่ลูกค้าเดินมาหาเท่านั้น แต่เราต้องเป็นฝ่ายเดินเข้าหาลูกค้า ซึ่งสินค้าของผมมันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแน่นอน หาซื้อตามท้องตลาดทั่วไปไม่ได้ ถ้าเราสามารถพาสินค้าไปเจอลูกค้ากลุ่มที่เหมาะสมได้ ก็จะช่วยเปิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้น” เจ้าของแบรนด์ defy กล่าว
โทร.08-1565-3971 , www.thedefy.com , FB:defy jewelry , IG:mydefystudio
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *