สสว.เผยถึงการติดตามสถานการณ์ผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก และในประเทศไทย ในช่วงปลายปี 2556 และต้นปี 2557 ที่ผ่านมา พบว่าจากเหตุการณ์ภัยพิบัติของโลกส่งผลกระทบด้านบวกกับสินค้าอุปโภค บริโภคส่งออกได้มากขึ้น ชดเชยประเทศที่ผลผลิตเสียหายจากภัยพิบัติ ส่วนผลกระทบด้านลบเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟื่อยอย่างอัญมณี และเครื่องประดับ รวมถึงเหตุบ้านการเมืองไทยกระทบด้านการท่องเที่ยว
นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยถึงการติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ไทยนั้น พบว่า ในช่วงปลายปี 2556 และช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2557 เกิดภัยธรรมชาติสำคัญๆ ขึ้นหลายภูมิภาคของโลก เช่น พายุหิมะในนิวยอร์กและบางเมืองของสหรัฐอเมริกา น้ำท่วมในอังกฤษและอิตาลี หิมะตกหนักในญี่ปุ่น การประท้วงในยูเครน น้ำท่วมในโบลิเวีย (ละตินอเมริกา) หิมะตกในรอบ 112 ปี และเกิดโรคระบาดในอียิปต์ น้ำท่วมและไฟป่าในอินโดนีเซีย น้ำท่วมในฟิลิปปินส์ เป็นต้น
สาเหตุหลักคาดว่าเกิดจากภาวะโลกร้อน (global warming) โดยในปี 2556 นับเป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงที่สุดในรอบ 12 ปี ส่งผลให้แต่ละส่วนของโลกมีสภาพอากาศแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศท้องถิ่น หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เป็นสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนจัดในประเทศจีนจนต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นครั้งแรก การเกิดซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความเร็วลมติด 1 ใน 4 ของพายุทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นบนโลก และสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างหนัก นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาวซีกโลกเหนือก็เผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนจากกระแสลมกรด (jet stream) ที่มีความรุนแรง
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบกับเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ทั้งในเรื่องการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงภาคการท่องเที่ยวของไทย”
สำหรับผลกระทบด้านการส่งออก พบว่า การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าที่มีความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ไปยังประเทศที่เกิดสถานการณ์ภัยพิบัติน่าจะดีขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา EU และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2556 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.8, 10.4 และ 13.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการส่งออกอาหารโดยรวมของประเทศ และ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3, 23.7 และ 13.5 ตามลำดับ
ในส่วนการส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันมากนัก เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องหนัง สินค้าไลฟ์สไตล์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ น่าจะได้รับผลกระทบในทางลบ เนื่องจากรายได้ของประชาชนในประเทศที่ประสบภัยอาจลดต่ำลง หรือต้องมีการค่าใช้จ่ายในการปรับตัวและต่อสู้กับภัยธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งมีผลทางจิตวิทยาต่อการจับจ่ายใช้สอย
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองและการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร (UK) และสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2556 จำนวนนักท่องที่ยวจากประเทศต่างๆ ดังกล่าว เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 1,736,990 คน 1,537,979 คน 906,312 คน และ 826,350 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.5 5.8 3.4 และ 3.1 ตามลำดับ ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้สนใจข้อมูลรวมทั้งเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ สามารถติดตามได้ที่ www.sme.go.th หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ และต้องการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สสว. Call Center 1301 ทุกวันในเวลาราชการ
--------------------------------------------------
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *