xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” พลิกวิกฤตหนี้ท่วม กลับมากำไร 400 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมนูญรัตน์  เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)
“เอสเอ็มอีแบงก์” เผยผลงานปี 56 กำไรทะลุ 4 ร้อยล้านบาท จากเคยขาดทุนถึง 4 พันล้านบาท ชี้ผลจากเพิ่มรายได้ส่วนดอกเบี้ย ควบคู่กับลดต้นทุน ระบุยอดสินเชื่อคงค้างรวม 9.3 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้เน่าเหลือ 31.6% ระบุแผนปี 57 ขยายสินเชื่อคุณภาพ รักษาฐานลูกค้า

นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) แถลงผลการดำเนินงานธนาคารปี พ.ศ. 2556 ที่่ผ่านมาว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 407.44 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลงานที่น่าพอใจ เพราะสามารถพลิกฟื้นฐานะการเงินจากที่ปี พ.ศ. 2555 ขาดทุนสุทธิ 4,039.31 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารสามารถเพิ่มรายได้ดอกเบี้ย และลดรายจ่ายดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนของธนาคารลง รวมถึงการแก้ไขปัญหา NPLs ให้กลับมาเป็นสินเชื่อปกติ ทำให้กลับมาสร้างรายได้ให้ธนาคารอีกจำนวนหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 93,475 ล้านบาท ลดลงจาก 96,797 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 ซึ่งเป็นผลจากธนาคารมุ่งเน้นปล่อยกู้ SMEs รายย่อยวงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท ตามนโยบายกระทรวงการคลัง และมีปริมาณลูกค้า Refinance ออกไปมากกว่าปกติจากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับต้นทุนของธนาคาร โดยมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจากสินเชื่อทุกประเภทเป็นเงิน 26,573 ล้านบาท แต่หากนับเฉพาะสินเชื่อเบิกจ่ายใหม่ในปี พ.ศ. 2556 มีจำนวน 19,524 ล้านบาท

สำหรับการแก้ไขปัญหา NPLs ในปี พ.ศ. 2556 สามารถแก้หนี้ NPLs เป็นจำนวน 9,480 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นปี 2556 ธนาคารมียอด NPLs เท่ากับ 31,539 ล้านบาท หรือคิดเป็น 33.74% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ซึ่งเมื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทมาบริหารหนี้ NPLs ประมาณ 2,000 ล้านบาท จะทำให้ยอด NPLs คงเหลือสุทธิเท่ากับ 29,539 ล้านบาท หรือคิดเป็น 31.60% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์กล่าวถึงแผนงานปีนี้ (2557) ว่า ธนาคารกำหนดยุทธศาสตร์หลักการขยายสินเชื่อคุณภาพรักษาฐานลูกค้าและป้องกันหนี้ตกชั้นเป็น NPLs โดยตั้งเป้ายอดเบิกจ่าย 27,000 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อคงค้างหลังตัดหนี้สูญเท่ากับ 96,475 ล้านบาท หรือขยายตัวประมาณ 5% และเน้นให้การอนุมัติสินเชื่อรวดเร็วขึ้น ปรับโครงสร้างเงินทุนให้มีความสมดุลมากขึ้น รวมถึงมีการบริหารสภาพคล่องที่มีความเหมาะสมกับการดำเนินธุรกรรมของธนาคาร โดยได้มอบนโยบายให้สาขามีส่วนช่วยในการระดมเงินฝากจากหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นมากขึ้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น