เผย ก.คลัง เสนอมาตรการเร่งด่วน คสช.ไฟเขียว มาตรการสินเชื่อปล่อยกู้ SMEs ผ่าน 8 ธนาคารในสังกัด ก.คลัง วงเงินรวม 3.43 แสนล้านบาท คาดช่วย SMEs ได้กว่า 1.4 แสนราย กระตุ้น GDPเพิ่ม0.8-1%
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า การหารือระหว่างผู้บริหารกระทรวงการคลัง ร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะดูแลด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเร่งด่วนให้ คสช. พิจารณาในส่วนมาตรการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง มิ.ย.2557-ธ.ค.2558 ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 11 มาตรการ จาก 8 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คิดเป็นวงเงินรวม 3.43 แสนล้านบาท สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 1.4 แสนราย
สำหรับมาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบด้วย
1.ธนาคารออมสิน ในโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีสุขใจ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้สินเชื่อระยะสั้น-ยาว วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1 หมื่นราย
2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โครงการเพิ่มสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 7.5 พันล้านบาท สินเชื่อผู้ประกอบการ วงเงิน 3.4 พันล้านบาท และสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก (บัตรสินเชื่อเกษตรกร) วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
3.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) โครงการขยายสินเชื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต 2 วงเงิน 3 พันล้านบาท โครงการสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม วงเงิน 5 พันล้านบาท และมาตรการป้องกันหนี้ตกชั้นเป็นหนี้เสีย โดยพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือนและเพิ่มวงเงินสินเชื่อฉุกเฉิน
4.ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โครงการขยายสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ธสน. 1 หมื่นล้านบาท ให้กับผู้ส่งออก
5.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาตรการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนเอสเอ็มอีปีแรก (PGS5) วงเงิน 1.19 แสนล้านบาท มาตรการให้ความช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอี วงเงิน 5 พันล้านบาท มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโอท็อป 1 หมื่นล้านบาท และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 6 เดือน
6.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โครงการเอสเอ็มอีฮาลาลเทรด วงเงิน 2 พันล้านบาท โครงการสินเชื่อมาตรฐานเฟร็คซี่แอนด์ชัวร์ วงเงิน 4.8 พันล้านบาท
7.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โครงการสินเชื่อเพิ่มสุขสำหรับลูกหนี้ประวัติดี ปล่อยกู้เพิ่มรายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน/ราย และโครงการอื่นๆ อีก 14 โครงการ
และ 8.บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้า บตท.โดยใช้นโยบายและมาตรการที่สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
สำหรับ มาตรการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในวงเงินรวม 3.43 แสนล้านบาทนั้น ที่ประชุมเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2557 และทั้งปี 2558 รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีสภาพคล่องดำเนินธุรกิจและสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบ เศรษฐกิจผ่านการใช้จ่าย ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8-1% เมื่อเทียบกับการเบิกจ่ายงบโครงการจำนำข้าวในปี 2557 ที่จำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท ที่กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 0.2%
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *