ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกว่า 1.3 ล้านรายยังไม่เข้าใจกฎระเบียบ AEC อย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะการลดภาษีศุลภากร ขณะที่บางส่วนเผยยังไม่พร้อมเข้าสู่ AEC
ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2556 ถึงช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการถึง 1.3 ล้านรายยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน (เออีซี) ไม่ชัดเจน และยังไม่เข้าใจว่าธุรกิจของตนมีโอกาสหรือต้องเริ่มต้นลงทุนอย่างไรในเออีซี
โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 38.04% ให้เหตุผลว่าการประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจนว่าภาคธุรกิจแต่ละประเภทมีโอกาส อุปสรรคอย่างไรและต้องปรับตัวอย่างไร ผู้ประกอบการ 29.71% ตอบว่าเพราะการประชาสัมพันธ์ยังน้อย ผู้ประกอบการ 16.67% ตอบว่าไม่สนใจติดตามข้อมูลเออีซีเพราะไม่มีเวลาศึกษา โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีการอบรมให้ความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเออีซีในธุรกิจแต่ละประเภทในเชิงปฏิบัติมากขึ้น
“ตั้งแต่ปี 53 เป็นต้นมาที่เริ่มมีการสำรวจผู้ประกอบการเกี่ยวกับความเข้าใจภาพรวมของเออีซีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถึงปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ประกอบการมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมเออีซีเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งโจทย์ในปัจจุบันนี้ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ใช่เพียงการให้ความรู้แค่เรื่องเออีซีอย่างเดียว แต่ควรเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าใจในธุรกิจของตัวเองมากขึ้นว่าจะมีโอกาสอย่างไรในเออีซี ต้องมีการลงทุนอย่างไรมากขึ้น”
สำหรับเรื่องที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่เข้าใจมากที่สุดคือ กรอบการลดภาษีศุลกากร การลดอัตราภาษี 13.80%, การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร 13.76%, การขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษี 13.03%, มาตรฐานสินค้าร่วมของอาเซียน 12.41% ส่วนความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยในเออีซี ผู้ประกอบการ 50.40% ตอบว่ายังไม่พร้อมที่จะแข่งขัน เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซี เช่น กฎระเบียบของประเทศในเออีซี, การปรับตัวเข้าสู่เออีซี, การใช้ประโยชน์จากเออีซี เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *