xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ต่ออายุสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ 3 จว.ชายแดนใต้อีก 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.ขยายระยะเวลาให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 1 ปี หวั่นธุรกิจชะงักขาดเงินทุนหมุนเวียน ประชาชนขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

แหล่งข่าวรายงานว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนำเรื่องเสนอคณะกรรมการร่วม ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขอให้ ธปท.ขยายเวลาการให้วงเงินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บางภาคเศรษฐกิจ โดยขอให้สามารถใช้วงเงินคงค้างจนครบ ซึ่งยังมีวงเงินคงค้างอยู่ทั้งสิ้น 28,038.75 ล้านบาท และ กกร.ได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2552 มติที่ประชุม กรอ.ดังกล่าวจึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาดำเนินการ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 มอบหมายให้ธนาคารออมสินดำเนินการมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ในวงเงิน 25,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556

โดยสืบเนื่องจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศยกเลิกวงเงินความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการ เนื่องจากการปรับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ตามหนังสือเวียนที่ ธปท.ฝกช.(22) ว.1000/2551 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2551 นั้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้วงเงินของโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ต่อไป

ทั้งนี้ หากไม่มีการขยายระยะเวลาโครงการฯ ผู้ประกอบกิจการจะต้องกลับไปใช้สินเชื่อในอัตราปกติ (ร้อยละ 10 หรือมากกว่า) ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันในด้านการค้าและการลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นใจ ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาจึงมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คือ ขยายระยะเวลาโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SOFT LOAN) ออกไปอีก 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 วงเงิน 25,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินโครงการต่อไป โดยใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดิมตามที่ ครม.ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 อนุมัติงบประมาณในการชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสินตามหลักเกณฑ์เดิม คือ คำนวณจากต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 12 เดือนของธนาคารออมสิน บวกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ร้อยละ 0.98) หักผลตอบแทนที่ได้รับจากการให้สถาบันการเงินกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ย 12 เดือนของธนาคารออมสินอยู่ที่ร้อยละ 3 รวมเป็นวงเงินที่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาลประมาณ 992.50 ล้านบาท ทั้งนี้ให้เบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น