“เต้น” รมช.พาณิชย์เผย การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่เดือนพฤศจิกายน 2556 ลดลง 865 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2556 มูลค่าการจดทะเบียน 25,449 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,357 ล้านบาท คิดเป็น 33% ส่วนการจดทะเบียนเลิกทั่วประเทศจำนวน 1,783 ราย
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2556 ผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศจำนวน 4,397 ราย ลดลง 865 ราย คิดเป็น 16% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งมีจำนวน 5,262 ราย และลดลง 2,061 ราย คิดเป็น 32% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีจำนวน 6,458 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวน 1,783 ราย
มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 25,449 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 6,357 ล้านบาท คิดเป็น 33% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งมีจำนวน 19,092 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจำนวน 5,239 ล้านบาท คิดเป็น 17% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีจำนวน 30,688 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 435 ราย อสังหาริมทรัพย์จำนวน 278 ราย ขายส่งเครื่องจักรจำนวน 133 ราย ภัตตาคารร้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 126 ราย และให้คำปรึกษาด้านการจัดการจำนวน 110 ราย ตามลำดับ
ปัจจุบัน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 562,485 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 10.74 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 382,759 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,036 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 178,690ราย
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนรวมการจดทะเบียนจัดตั้งตลอดปี 2556 พบว่ามีสถิติดีกว่าปี 2555 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยในปี 2556 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวน 64,396 ราย เพิ่มขึ้น 5,091 ราย คิดเป็น 8% ซึ่งการจดทะเบียนธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแสดงถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนเริ่มต้นธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการทางภาษีที่ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับธุรกิจ SMEs การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และนโยบายการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 มูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ดัชนีการผลิต ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มคงที่เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และการจดทะเบียนธุรกิจโดยรวม
*****************************************
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *