xs
xsm
sm
md
lg

พณ.เผยยอดตั้งกิจการใหม่หด ลุ้นทั้งปีถึง 7 หมื่นราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
“พาณิชย์” เผยยอดจัดตั้งกิจการใหม่ ในเดือน ก.ย.56 จำนวน 5,622 ราย ลดลง 708 ราย เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. แต่เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนอัตรายกเลิกกิจกรรมกว่า 1,450 ราย หรือเพิ่มกว่า 5% ระบุธุรกิจตั้งใหม่สูงสุด คือ ก่อสร้างอาคาร ส่วนคาดทั้งปี 56 จะมียอดตั้งกิจการใหม่ถึง 70,000 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ “เต้น” คุยเป็นผลจากนโยบายหนุนเศรษฐกิจของรัฐบาล

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายน 2556 ผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ จำนวน 5,622 ราย ลดลง 708 ราย คิดเป็น 11% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีจำนวน 6,330 ราย และเพิ่มขึ้น 150 ราย คิดเป็น 3% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2555) ซึ่งมีจำนวน 5,472 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2556 มีจำนวน 1,450 ราย คิดเป็น 5%

สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนกันยายน 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 18,330 ล้านบาท ลดลง จำนวน 12,640 ล้านบาท คิดเป็น 41% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีจำนวน 30,970 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น จำนวน 1,355 ล้านบาท คิดเป็น 8% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2555 ซึ่งมีจำนวน 16,975 ล้านบาท

ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 596 ราย อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 294 ราย ขายส่งเครื่องจักร จำนวน 160 ราย ตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยว จำนวน 150 ราย และขายส่งสินค้าทางเภสัชกรรมและเวชภัณฑ์ จำนวน 149 ราย ตามลำดับ

ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 561,927 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 10.80 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 381,796 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,034 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,097 ราย

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท ในไตรมาส 3/2556 มีจำนวน 18,355 ราย เพิ่มขึ้น 1,646 ราย คิดเป็น 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2556 และเพิ่มขึ้น 1,678 ราย คิดเป็น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ของปี 2556 จะมีจำนวน สูงถึง 70,000 ราย ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับแต่มีการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทเป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น มาตรการทางภาษีที่ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับธุรกิจ SMEs การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มาตรการภาษีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มาตรการสนับสนุนการจัดทำวีซ่าประเภทเข้าออกหลายครั้ง (Multiple - Entry Visa) มาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอย (Shopping Paradise) และนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และการจดทะเบียนธุรกิจโดยรวม

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ได้ติดตามการจดทะเบียนของธุรกิจค้าสลาก โดยพบว่าในเดือนก.ย.มีการจดทะเบียนทั้งหมด 124 ราย ซึ่ง 113 ราย มีการจดทะเบียนอยู่ในช่วงวันที่ 1-15 ก.ย. หรือเกิดขึ้นก่อนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะใช้มาตรการเข้มงวด ทั้งการขอเอกสารตัวจริง ทั้งบัตรประชาชน ที่ตั้งกิจการ และหลังจาก 16 ก.ย. ถึง 30 .ย. มีการขอจดทะเบียนเพียง 11 รายเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจค้าสลากมีความชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น

"การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเมื่อเทียบกับจดทะเบียนเลิกกิจการมีอัตรา 4 ต่อ 1 ถือว่าอยู่ในระดับที่ปกติ แต่ที่จดทะเบียนจัดตั้งเดือนนี้มีไม่มาก จากการตรวจสอบพบว่าเป็นปกติของทุกปีที่เดือนนี้จะมีธุรกิจมาจดทะเบียนค่อนข้างน้อย แต่เชื่อว่ายอดจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ปีนี้จะมีถึง 7 หมื่นราย หรือสูงสุดเป็นประวัติการณ์แน่นอน เพราะรัฐบาลมีโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง" รมช.พาณิชย์ กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนธุรกิจที่ประกอบกิจการส่งออกในเดือนก.ย. มีจดทะเบียนตั้งใหม่ 295 ราย เลิกกิจการ 41 ราย หรือมีสัดส่วน 7 ต่อ 1 โดยที่ตั้งใหม่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งตัวเลขเลิกกิจการที่ลดลง แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อช่วงต้นปีได้คลี่คลายแล้ว เพราะที่จดทะเบียนเลิกส่วนใหญ่มาจากปัญหาไม่ได้ประกอบกิจการ และประสบภาวะขาดทุน

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดในประเทศ 38 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่าจนถึงขณะนี้มีจังหวัดที่น้ำยังท่วมอยู่ 28 จังหวัด ที่เหลือสถานการณ์คลี่คลายแล้ว แต่เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตรียมมาตรการช่วยเหลือ โดยให้ยึดมาตรการที่เคยใช้ในปี 2554 เช่น ผ่อนผันการส่งงบการเงิน หรือให้พิจารณามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ หากจำเป็น แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ มีนโยบายที่จะพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปของไทยให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจขั้นสูง ทั้งการจัดทำบัญชี การบริหารจัดการ การผลิต การหาช่องทางตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น