xs
xsm
sm
md
lg

ศศินทร์มั่นใจอนาคตธุรกิจบันเทิงไทยเนื้อหอมรับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin)
ศศินทร์มั่นใจธุรกิจด้านความบันเทิงอนาคตสดใสรับตลาด AEC แนะผู้ประกอบการให้ความสำคัญ ชี้ประเทศเพื่อนบ้านตอบรับละครไทยดี ส่งผลสินค้าแฟชั่นได้อานิสงส์ รับหวั่นการแข่งขันสูง โดยเฉพาะพม่าเนื้อหอมต่างชาติแห่ลงทุน

ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวรอบด้านเพื่อค้นหากลยุทธ์ที่แข่งขันกับตลาดที่ใหญ่ขึ้นหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวข้องกับความบันเทิง คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาคนี้ค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านดูละครไทยและให้ความสนใจสินค้าประเภทบันเทิงและแฟชั่นจากไทย ดังนั้น เพื่อให้การเปิดตลาดใหม่ในอาเซียนได้ผลมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าในประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าดังกล่าว เช่น จะส่งออกสินค้าประเภทบันเทิงไปเวียดนามผู้ผลิตควรให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของพระเอกและนางเอกที่จะต้องออกมาดูดีมากที่สุด ถ้ามีบทส่อไปทางลบประชาชนจะรับไม่ได้ นอกจากนี้แล้วต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าที่มีพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่หลากหลาย เนื่องจากมีช่องทางใหม่ๆ ให้เลือกมากขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์คุณภาพสูงสุด

“แม้ว่าชาติต่างๆ ในอาเซียนยอมรับเรื่องความคิดสร้างสรรค์จากไทย แต่ไม่ควรประมาทเพราะธุรกิจนี้จะต้องแข่งขันกับธุรกิจจากทั่วโลก โดยเฉพาะพม่าที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน ซึ่งตลาดบันเทิงยังมีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูง แต่การบุกตลาดต้องนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อให้คนในท้องถิ่นประทับใจ เพราะเมืองใหญ่ทั้งย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เนย์ปิดอว์ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีกำลังซื้อสูง” ดร.กฤษติกากล่าว

ด้านธุรกิจด้านแฟชั่นและเครื่องแต่งกายของไทยก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีสำหรับการขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน เชื่อว่าในอนาคตธุรกิจแฟชั่นจะนำวัฒนธรรมไทยเผยแพร่สู่อาเซียนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประชาชนในภูมิภาคนี้ให้การยอมรับฝีมือคนไทย แม้ในอดีตการแต่งกายของคนในชาติต่างๆ จะแตกต่างกันตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้แต่งกายคล้ายกันมากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลด้านแฟชั่นและความบันเทิง รวมทั้งความพยายามในการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เห็นได้จากปัจจุบันเยาวชนในอาเซียนทั้งพม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เดินทางมาเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ ของประเทศไทย ในขณะที่คนไทยให้ความสำคัญต่อการศึกษาประเทศเพื่อนบ้านน้อย อาจทำให้เกิดความเสียเปรียบเรื่องการสื่อสารภาษาท้องถิ่น หรือแม้แต่เรื่องความไม่เข้าใจวัฒนธรรม ทั้งที่ในอนาคตประชาชนจากอาเซียนจะเป็นลูกค้าของเรา

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น