ปธ.ทีเอ็มบีแนะผู้ประกอบการไทยเร่งปรับกลยุทธ์เพิ่มขีดความสามารถรองรับการเปิดเออีซี แนะ 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ สร้างนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะสินค้าเกษตร 2. คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม 3. เชื่อมโยงแต่ละอุตสาหกรรมเข้าหากัน และ 4. เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยใช้เครื่องจักร
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการไทยควรจะปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับธุรกิจใน 4 ยุทธศาสตร์เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่
1. การสร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า โดยปัจจุบันการใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยอยู่ที่ 1,460 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ นับเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน และอันดับที่ 41 ของโลก รองจากสิงคโปร์ (2.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) และมาเลเซีย (0.63% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) เปรียบเทียบกับประเทศผู้นำในเอเชีย คือ เกาหลีใต้ (3.74%) ญี่ปุ่น (3.67%) และจีน (1.97%)
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ควรได้รับการวิจัยและพัฒนามากขึ้นคือ สินค้าเกษตร โดยไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในรูปของยางขั้นต้น ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
2. คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมของโลก ปัจจุบันมีบริษัทได้รับอนุมัติให้ติดฉลากลดคาร์บอน (Carbon Footprint) บนผลิตภัณฑ์รวม 190 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง พลาสติกและผลิตภัณฑ์
3. การเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเน้นอุตสาหกรรมที่สร้างความเชื่อมโยง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยสามารถยกระดับเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียนได้ โดยปี 2555 ปริมาณการผลิตยานยนต์ของไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ติดอันดับ 9, 17, และ 23 ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก โดยผลิตได้รวมกัน 4.2 ล้านคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและศักยภาพด้านการบิน ทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศอื่นในลักษณะส่งผ่านนักท่องเที่ยว เช่น มาเลเซีย ไทย ลาว พม่า
4. ผู้ประกอบการไทยควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แรงงานในการผลิต ควรปรับตัวโดยการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพแรงงานและการออกแบบสินค้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร แม้ไทยจะส่งออกอาหารสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แต่ยังคงต้องปรับตัวโดยการยกระดับมาตรฐานการผลิตในโรงงงานและเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาคุณภาพตามมาตรฐานสากล พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบุเครื่องหมายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานปลอดภัยบนสินค้าเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่อาหารไทย
นายบุญทักษ์กล่าวเสริมด้วยว่า หากผู้ประกอบการไทยสามารถเร่งพัฒนาใน 4 ยุทธศาสตร์ ดังกล่าวข้างต้น เชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจอาเซียนที่แข็งแกร่งมีศักยภาพสูง และผู้ประกอบการก็จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นในครั้งนี้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *