xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์เตือนรับมือสภาพคล่องวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารทีเอ็มบี ชี้เงินไหลออกช่วงนี้ ยังไม่กระทบสภาพคล่องในระบบ แต่ในระยะต่อไปต้องเตรียมพร้อม เหตุสินเชื่อโตต่อเนื่อง-โครงการใหญ่ทยอยลงทุน แนะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรม-เพิ่มเงินกู้ระยะยาว พร้อมจัดสัมมนาพิเศษแนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรับมือเออีซี

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) กล่าวว่า จากสภาวการณ์ที่เงินทุนต่างชาติไหลออกในช่วงนี้ จะยังไม่ส่งผลต่อสภาพคล่องของระบบ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเงินทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น หรือตลาดพันธบัตร เป็นการเก็งกำไรในระยะสั้น แต่ในระยะต่อไปการลดลงของสภาพคล่องเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ เพราะจะทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีความผันผวน เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้เกิดความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการได้

“ในระยะต่อไปเราต้องระมัดระวังใน 2 เรื่องด้วยกัน ก็คือ สภาพคล่องในระบบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อสัก 4-5 ปีก่อน ส่วนต่างของเงินออมกับเงินลงทุนประมาณ 5% แต่ 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนต่างนี้เริ่มลดลง จะเห็นได้จากสินเชื่อที่โตขึ้น และในอีกไม่นานนี้ก็จะมีโปรเจกต์ขนาดใหญ่ออกมาอีก เมื่อถึงตรงนั้นสภาพอาจกลับกัน คือ มีเงินออมน้อยกว่าเงินลงทุน ซึ่งจะทำให้ทั้งสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการเองต้องปรับตัวรองรับ”

นายบุญทักษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการควรปรับตัวก็คือ การเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน (Transaction Banking) เป็นไปอย่างคล่องตัว เช่น การขึ้นเงินจากเช็ค ก็ควรจะทำได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่ใช่ 2-3 วัน ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารทหารไทยก็มีผลิตภัณฑ์ TMB One Bank One Day ที่ขึ้นเช็กได้ภายในวันเดียว เป็นต้น หรือการปรับรูปแบบระดมเงินทุนเป็นระยะมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน จึงควรเริ่้มที่จะทำความเข้าใจในเรื่องของการประกันความเสี่ยงในด้านนี้ เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจลง

ติวเข้มผู้ประกอบการรับมือ AEC

พร้อมกันนี้ ทีเอ็มบีได้จัดสัมมนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ Borderless on Stage ตอน “ธุรกิจไทยจัดทัพ...สร้างฮับ AEC” เพื่อเปิดมุมมองให้ผู้ประกอบการไทยที่มีต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยนายบุญทักษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านของภูมิศาสตร์ที่มีพื้นฐานติดกับเพื่อนบ้านมากที่สุด 4 ประเทศ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงมีโอกาสมากที่จะเป็นศูนย์กลางของ AEC

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเองก็จะต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรบธุรกิจใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ต้องอาศัยงานด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่ม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า 2.การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประเทศต่างๆ ในโลก

3.การเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเน้นอุตสาหกรรมที่สร้างความเชื่อมโยง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยสามารถระดับเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยนยนต์ของอาเซียนได้ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และศักยภาพการบิน ทำให้เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศอื่นๆได้ดี และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวก็จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐในการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น โครงการขนาดใหญ่ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการอย่างมีระบบก็ช่วยได้มาก รวมถึงเรื่้องกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้คล่องตัวมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น