กรมโรงงานฯ เผยยอดจดทะเบียนเลิกกิจการช่วง 5 เดือนของปี จำนวน 554 แห่ง ลดลง 10.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเลิกจ้างกว่า 21,000 คน เกิดมูลค่าลงทุน 9,355 ล้านบาท ธุรกิจเครื่องแต่งกายเลิกจ้างมากที่สุดกว่า 5,500 คน ขณะที่กิจการที่ใช้แรงงานมากอัตราปิดตัวสูงเพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรง
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การจดทะเบียนเลิกกิจการช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2556) พบว่ามี 554 แห่ง ถือว่าลดลง 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีการเลิกการจ้างงาน 21,074 คน ถือว่าลดลงเช่นกันคือ 6.4% ทั้งนี้ กิจการที่เลิกมีมูลค่าการลงทุนรวมกัน 9,355 ล้านบาท
อนึ่ง เมื่อพิจารณาอุตสาหกรรมที่เลิกกิจการ และเกิดการเลิกจ้างมากที่สุดคือ การผลิตเครื่องแต่งกายเลิกกิจการ 12 ราย กิจการที่เลิกมีการจ้างงาน 5,277 คน มูลค่าการลงทุน 164 ล้านบาท รองลงมาเป็นการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์เลิกกิจการ 11 แห่ง กิจการที่เลิกมีการจ้างงาน 2,887 คน มูลค่าการลงทุน 914 ล้านบาท
ส่วนการปิดกิจการในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้พบว่าชะลอตัวลงแล้ว โดยกิจการที่ใช้แรงงานมากที่ปิดตัวลงอาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เช่น การผลิตเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อาหาร เป็นต้น
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวต่อว่า ขณะที่การอนุญาตขยายกิจการโรงงานช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มี 245 แห่ง เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 42.44% มีการจ้างงาน 29,304 คน เพิ่มขึ้น 60.9% และมีมูลค่าการลงทุน 65,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224% โดยอุตสาหกรรมผลิตโลหะขั้นมูลฐานมีมูลค่าการขยายโรงงานมากที่สุดมีการขยายโรงงาน 5 แห่ง จ้างงาน 674 คน มูลค่าการลงทุน 5,895 ล้านบาท รองลงมาเป็นการพิมพ์ การเย็บเล่ม ทำปกหรือแม่พิมพ์ขยายโรงงาน 4 แห่ง จ้างงาน 1,253 คน มูลค่าการลงทุน 4,810 ล้านบาท
นายณัฐพลกล่าวอีกว่า ในช่วง 5 เดือนกรมโรงงานอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 1,754 แห่ง เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 9.63% เมื่อประกอบกิจการแล้วจะมีการจ้างงานรวม 38,933 คน เพิ่มขึ้น 11.9% มูลค่าการลงทุนรวม 124,383 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 133% เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมพบว่าอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีมูลค่าลงทุนตั้งโรงงานใหม่มากที่สุด มีการอนุญาตตั้งโรงงานใหม่ 34 แห่ง มีการจ้างงาน 4,133 คน มูลค่าการลงทุน 14,228 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งมีการอนุญาตตั้งโรงงานใหม่ 61 แห่ง มีการจ้างงาน 2,123 คน มูลค่าการลงทุน 13,601 ล้านบาท
ส่วนการตั้งโรงงานใหม่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในหลายอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรกล กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ การพิมพ์ เครื่องดื่ม โดยการลงทุนตั้งโรงงานใหม่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจและบางอุตสาหกรรมลงทุนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งอัตราการขยายตัวของมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูงแสดงให้เห็นว่าธุรกิจขนาดใหญ่ลงทุนตั้งโรงงานใหม่มาก
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *